ข้อเสนอยุทธศาสตร์ความมั่นคง 20 ปี (ตอนที่ 3)

คอลัมน์กระบวนทรรศน์ตอนที่แล้ว หัวข้อคือ ข้อเสนอยุทธศาสตร์ความมั่นคง 20 ปี ซึ่งจะวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ของไทยในอีก 2 ทศวรรษข้างหน้า
ผมได้วิเคราะห์สภาวะแวดล้อมด้านความมั่นคง ทั้งระดับโลก ระดับภูมิภาค และระดับทวิภาคี ไปแล้ว และวิเคราะห์จุดอ่อน – จุดแข็งของไทย โดยเป็นทำ SWOT ไปแล้ว สรุปแล้ว จากการทำ SWOT โอกาสของไทยก็มี ภัยก็มี จุดแข็งจุดอ่อนก็มี บวกลบคูณหารแล้ว ผมเชื่อว่าโอกาสมีมากกว่าภัยและจุดอ่อนมีมากกว่าจุดแข็ง
ในตอนนี้ จะมาวิเคราะห์ต่อ โดยจะนำเสนอยุทธศาสตร์ความมั่นคง 20 ปีของไทย ดังนี้
ยุทธศาสตร์ความมั่นคง 20 ปี
ก่อนอื่น ไทยต้องมียุทธศาสตร์ใหญ่ (grand strategy) ที่ผ่านมา เราคิดอะไรออกก็ทำ คิดอะไรไม่ออกก็ไม่ทำ คือทำๆไปโดยไม่มีแผนใหญ่ เราจึงเดินสะเปะสะปะ เราจึงต้องมียุทธศาสตร์ใหญ่ทางด้านความมั่นคงของไทยในอีก 20 ปีข้างหน้า
นโยบายไทยปัจจุบัน มีลักษณะคิดในใจ เราใช้ไหวพริบ ความรู้สึก และสัญชาตญานในการกำหนดนโยบาย แต่เราไม่มีข้อมูลในเชิงลึก ไม่มีการทำวิจัยอย่างลึกซึ้ง เราไม่มี think tank ที่จะมาช่วยรัฐบาลคิด รัฐบาลเป็นหน่วยงานปฏิบัติ จึงต้องมีหน่วยงานที่คิดอย่างจริงจัง
ยุทธศาสตร์ความมั่นคงในอีก 20 ปีข้างหน้า เรามี roadmap ไปสู่การเป็นประเทศร่ำรวย แต่ถามว่า ในอีก20 ปีข้างหน้า เราต้องการเป็นอะไรทางด้านความมั่นคง ก็ยังไม่มีคำตอบ ยังไม่มีข้อสรุป
ผมขอเสนอว่า เราต้องกล้าคิด กล้าฝัน ผมคิดว่า ไทยควรตั้งเป้าเป็นประเทศที่มีอำนาจในระดับกลาง (middle power) คือเป็นมหาอำนาจในระดับกลาง นี่คือเป้าหมายระยะยาว ซึ่งจะสอดรับกับการที่ไทยอยากจะเป็นประเทศร่ำรวยในอนาคต ถ้าไทยยังเป็นประเทศยากจนอยู่ ก็จะขัดกัน ยุทธศาสตร์ทางด้านการทูตและความมั่นคง จะต้องสอดรับกับยุทธศาสตร์ทางด้านเศรษฐกิจ และสอดรับกับการที่ไทยจะกลายเป็นประเทศร่ำรวย
ประเทศที่เป็นตัวอย่างให้ไทย คือ ฝรั่งเศส จำนวนประชากรและขนาดของประเทศฝรั่งเศส เท่ากับประเทศไทย แต่ฝรั่งเศสมีที่นั่งถาวรในคณะมนตรีความมั่นคง มีบทบาทความมั่นคงในด้านต่างๆ เราจะเป็นแบบฝรั่งเศสได้หรือไม่ หรือเยอรมนี อิตาลี ประเทศเหล่านี้เป็นประเทศระดับกลางๆ แต่มีบทบาททางด้านความมั่นคงสูง ซึ่งเป็นประเทศที่เจริญแล้ว เป็นประเทศที่มี GDP ต่อหัวสูง ต่อไปไทยก็จะมี GDP ต่อหัวสูงเช่นเดียวกัน
ผมขอเสนอว่า ถ้าเรามีเป้าหมายแบบนี้ เราจะสามารถนำพาประเทศไปสู่การเป็น middle power ได้ในอนาคต
เราต้องใช้ช่องทางต่างๆ เช่น ช่องทางทวิภาคี ไตรภาคี และพหุภาคี ระดับภูมิภาค อนุภูมิภาคและระดับโลก
เราต้องรื้อฟื้นการทูตในสมัยเมื่อ 30 ปีที่แล้ว คือ การทูตรอบทิศทาง (omni-directional diplomacy) โดยจะต้องพยายามฟื้นฟู สร้างความสัมพันธ์และรักษาความสัมพันธ์กับขั้วอำนาจต่างๆ ที่กำลังจะผงาดขึ้นมา โดยเฉพาะจีน อินเดีย บราซิล
และที่ชัดเจน คือ ไทยต้องเป็น hub ของอาเซียน เนื่องจากเรามีศักยภาพอยู่แล้ว ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ก็เป็นศูนย์กลางของอาเซียน ไทยเป็นศูนย์กลางโครงสร้างพื้นฐาน และการคมนาคม เป็น medical hub, auto hub, tourism hub ของอาเซียน
นอกจากนั้น ไทยอาจจะมีบทบาทในการเป็น Asian coordinator ซึ่งก็มีการปูทางมาแล้วใน Asia Cooperation Dialogue (ACD) ซึ่งเป็นเวทีการหารือของทวีปเอเชียทั้งทวีปที่ไทยเป็นคนตั้ง ซึ่งไทยจะมีบทบาทในการประสานงานทั้งทวีปได้ เพราะจุดแข็งคือ การที่เราไม่มีศัตรู เราเข้าได้กับทุกฝ่าย
ส่วนยุทธศาสตร์อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ คือ ไทยกับประเทศมหาอำนาจ key word คือ balance และ engagement คือเราจะต้องปฎิสัมพันธ์กับมหาอำนาจให้ได้อย่างสมดุล
ไทยจะเป็นศูนย์กลางในความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน มีความร่วมมือกันเป็น hub ของอาเซียน และขยายมาเป็น hub ของเอเชีย
ในระดับทวิภาคี คือ มีความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนบ้าน ปกป้องผลประโยชน์ด้านพลังงานและทรัพยากร และร่วมมือจัดการภัยคุกคามในรูปแบบใหม่
กับมหาอำนาจ ยุทธศาสตร์ที่สำคัญ 2 อย่างที่ควบคู่กันไปคือ bandwagoning และ balancing ประเทศมหาอำนาจก็เอาผลประโยชน์ของตนเป็นหลัก ต่างฝ่ายต่างไม่ไว้ใจกัน ไทยต้องพยายามมียุทธศาสตร์ที่มั่นคง อย่าไปเป็นพวกใคร แต่เราอาจจะสนิทได้ แต่ในขณะเดียวกัน เราจะต้องเล่นเกมถ่วงดุล เอาสหรัฐมาถ่วงดุลจีน เอาจีนมาถ่วงดุลสหรัฐ เอาญี่ปุ่นมาถ่วงดุลจีน เป็นต้น คือต้องเป็นไปในลักษณะที่คู่ขนานกัน
ส่วนในระดับภูมิภาค เป้าหมายในระยะยาว คือ เสถียรภาพความมั่นคงในภูมิภาค ไทยมีบทบาทในการแก้ปัญหาการก่อการร้ายในภูมิภาค ที่น่าจะเป็นหัวใจหลัก คือ ไทยเป็น hub ของประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน หรือ APSC โดยไทยจะต้องมีบทบาทนำในการเสริมสร้าง APSC และไทยจะต้องมีความคิดริเริ่มเสนอแนะ และวางแผนในกรอบ APSC ไทยต้องมีบทบาทตรงนี้ ถ้าเราคิดว่า ในอนาคต เราต้องการเป็น hub ของอาเซียน เราก็จะต้องเพิ่มบทบาทตรงนี้
นอกจากนั้น ก็เป็นการปกป้องผลประโยชน์ด้านทรัพยากรและพลังงานของไทยในภูมิภาค ร่วมมือกันจัดการต่อภัยคุกคามด้านความมั่นคงในรูปแบบใหม่ในอาเซียน
สำหรับบทบาทด้านความมั่นคงของไทยในระดับโลก เป้าหมายของไทย คือ เราต้องการเห็นระบบความมั่นคงโลกมีเสถียรภาพที่เอื้อต่อไทย
ไทยจะต้องมีบทบาทในเวทีและองค์กรความมั่นคงโลก ซึ่งเรายังไม่มีบทบาทตรงนี้ เรายังคงทำตัวเป็นประเทศเล็กๆ ที่ยากจน ไม่สามารถมี impact อะไรได้ในเวทีคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ
ดูตัวอย่างเยอรมนี ฝรั่งเศส อังกฤษ ประเทศเหล่านี้มีบทบาทอย่างมากในคณะมนตรีความมั่นคง โดยเฉพาะอังกฤษและฝรั่งเศส เยอรมนีกับอิตาลีก็อยากมีบทบาท แต่ไปพลาดท่า เป็นฝ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 เลยไม่มีที่นั่งถาวรในคณะมนตรีความมั่นคง ปัจจุบัน เยอรมนีและอิตาลีก็พยายามอย่างมากที่จะมีที่นั่งถาวรในคณะมนตรีความมั่นคง แม้ว่าเยอรมนีจะไม่มีที่นั่งถาวร แต่ก็มีบทบาทสำคัญในเวทีโลก
นี่คือตัวอย่างให้เรามองในระยะยาว 20 ปีข้างหน้าสถานะไทยน่าจะดีกว่านี้ คือเป็นประเทศที่ร่ำรวยแล้ว ไทยน่าจะมีบทบาทในเวทีโลก รวมไปถึงการปกป้องผลประโยชน์ความมั่นคงด้านทรัพยากรและพลังงาน และความร่วมมือในการจัดการปัญหาความมั่นคงในรูปแบบใหม่ในเวทีโลกด้วย
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 4 พฤษภาคม 2560