ความขัดแย้งทะเลจีนใต้ 2016 (ตอนที่ 2)

ผมได้เขียนบทวิเคราะห์เกี่ยวกับความขัดแย้งทะเลจีนใต้ หลังคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการ โดยได้วิเคราะห์ถึงผลกระทบและแนวโน้มของปัญหานี้ไปบ้างแล้ว ในวันนี้ จะวิเคราะห์สถานการณ์ความคืบหน้าล่าสุดของปัญหานี้ ดังนี้
เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ศาลอนุญาโตตุลาการภายใต้กฎหมายทะเลได้ตัดสินว่า แผนที่เส้นประ 9 เส้นของจีน ไม่สอดคล้องกับกฎหมายทะเล จีนไม่สามารถอ้างสิทธิตามประวัติศาสตร์ได้ และจีนได้ละเมิดอำนาจอธิปไตยของฟิลิปปินส์ ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของฟิลิปปินส์
คำพิพากษาของศาลถือเป็นชัยชนะของฟิลิปปินส์ และเป็นการทำลายความชอบธรรมในการอ้างกรรมสิทธิ์ของจีน ทำให้ชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของจีนเสียหาย และการที่จีนปฏิเสธไม่ยอมรับคำตัดสิน ทำให้จีนสูญเสียภาพลักษณ์ของมหาอำนาจที่มีความรับผิดชอบ และยึดกติกาสากลของโลก
แนวโน้มในเชิงลบ
หลังการตัดสินของศาล แนวโน้มของปัญหาก็มีพัฒนาการไปทั้งในเชิงลบและในเชิงบวก
สำหรับแนวโน้มในเชิงลบ คำตัดสินอาจนำไปสู่ความขัดแย้งและการเผชิญหน้า โดยเฉพาะปฏิกิริยาของจีนหลังคำตัดสิน ก็ออกมาในเชิงไม่พอใจเป็นอย่างมาก โดยปฏิกิริยาที่สำคัญของจีนมีดังนี้
– รัฐบาลจีนได้โจมตีคำตัดสินของศาลอย่างหนัก กระทรวงต่างประเทศจีนบอกว่าจะไม่ยอมรับคำตัดสินของศาล และทูตจีนประจำสหรัฐ ได้กล่าวหาศาลว่า คำตัดสินจะทำให้ความขัดแย้งรุนแรงขึ้นและจะนำไปสู่การเผชิญหน้า และว่าศาลเข้าข้างฟิลิปปินส์
– ได้เกิดกระแสชาตินิยมและความไม่พอใจเป็นอย่างมากในหมู่ชาวจีน
– จีนประกาศซ้อมรบทางทหาร ซึ่งทำลายสโลแกนของจีนที่จะผงาดขึ้นมาอย่างสันติ
– ศาลสูงของจีนได้มีคำตัดสินออกมา ที่ตรงข้ามกับคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการ
– การเดินทางไปเยือนจีนของ Susan Rice ซึ่งมีตำแหน่งเป็น National Security Advisor ของสหรัฐ ก็ได้รับการต้อนรับจากจีนอย่างเย็นชา
สำหรับแนวโน้มในเชิงลบในอนาคต ก็มีความเป็นไปได้ว่า จีนจะดำเนินนโยบายแข็งกร้าวมากขึ้น โดยอาจจะรีบเสริมสร้างแสนยานุภาพทางทหารในทะเลจีนใต้ สร้างเกาะเทียมเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นการยั่วยุให้สหรัฐเข้าแทรกแซง ด้วยการส่งกองทัพเรือเข้าไปในทะเลจีนใต้ ซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดสงครามในทะเลจีนใต้ได้
แม้ว่าขณะนี้ จีนยังดูเงียบๆอยู่ แต่ก็มีการวิเคราะห์กันว่า อาจเพราะจีนต้องเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสุดยอด G20 ในเดือนกันยายน
สี่ จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน อาจถูกกดดันอย่างหนักจากกระแสชาตินิยม ซึ่งจะกระทบต่อความชอบธรรมของรัฐบาลพรรคคอมมิวนิวส์ สี่ จิ้นผิงจึงอาจไม่มีทางเลือก ที่จะต้องเล่นบทตามกระแสชาตินิยมของจีน ดังนั้น การเสียหน้าครั้งใหญ่ของจีน จากการตัดสินในครั้งนี้ อาจทำให้จีนเร่งสร้างเสริมแสนยานุภาพในทะเลจีนใต้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
นอกจากนี้ พฤติกรรมของประเทศอื่นๆที่เกี่ยวข้อง อาจทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง โดยเฉพาะฟิลิปปินส์ หากดำเนินนโยบายผิดพลาด รวมทั้งหากประเทศอาเซียนอื่นๆจะฟ้องร้องต่อศาลตามอย่างฟิลิปปินส์
จากคำตัดสินของศาล Mischief Reef และ Scarborough Shoal อยู่ในเศรษฐกิจจำเพาะของฟิลิปปินส์ การยึดครองของจีนจึงถือว่าผิดกฏหมาย ดังนั้น ฟิลิปปินส์จะเดินเกมอย่างไร จากการยึดครองที่ผิดกฏหมายของจีน
สำหรับสหรัฐก็ถือเป็นผู้ชนะจากคำตัดสินของศาล สหรัฐจะมีความชอบธรรมมากขึ้นในการปฏิบัติการทางทหารเพื่อปกป้องเสรีภาพในการเดินเรือในทะเลจีนใต้ อย่างไรก็ตาม หากสหรัฐยกระดับปฏิบัติการทางทหารมากขึ้น ก็อาจนำไปสู่การเผชิญหน้ากับจีน ซึ่งนับว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่ง
แนวโน้มในเชิงบวก
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีแนวโน้มไปในเชิงลบดังกล่าวข้างต้น แต่สถานการณ์หลังคำตัดสินของศาลก็มีพัฒนาการไปในเชิงบวกควบคู่กันไปด้วย โดยสังเกตได้จากการดำเนินการมาตรการต่างๆของตัวแสดงที่สำคัญดังนี้
จีน : ขณะนี้ยังไม่มีการส่งสัญญาณจากจีน ที่จะมีปฏิกิริยาต่อคำตัดสินมากเกินไป ในทางตรงกันข้ามจีนส่งสัญญาณมีท่าทีประนีประนอมมากขึ้น ในอดีต จีนมีท่าทีแข็งกร้าวไม่อยากเจรจา เพราะคิดว่าจีนมีความชอบธรรมในการอ้างกรรมสิทธิ์ แต่จากคำตัดสินของศาล จีนจึงมีท่าทีอ่อนข้อลง และยอมหันมาเจรจากับอาเซียนอย่างจริงจังมากขึ้น ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสครั้งสำคัญในการแก้ปัญหานี้อย่างสันติวิธี
สำหรับประเทศอาเซียน ก็มีความระมัดระวังเป็นพิเศษต่อคำตัดสินของศาล โดยฟิลิปปินส์ได้มีแถลงการณ์ในเชิงบวก ประกาศว่าพร้อมจะเจรจากับจีน และได้มีการแต่งตั้งอดีตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ซึ่งมีความสัมพันธ์ที่ดีกับจีน คือ Fidel Ramos ให้เป็นทูตผู้แทนพิเศษในการเจรจาทวิภาคีกับจีน
สำหรับเวียดนามและมาเลเซีย ก็ระมัดระวังโดยกล่าวว่า ทั้งสองประเทศเคารพต่อกฏหมายและการทูตระหว่างประเทศ แต่ก็ไม่ได้บีบจีนให้ยอมรับคำตัดสินของศาล
เช่นเดียวกับสหรัฐและญี่ปุ่น ที่มีท่าทีให้ทุกฝ่ายหลีกเลี่ยงการกระทำที่จะยั่วยุให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น
สำหรับอาเซียนก็เช่นเดียวกัน มีท่าทีประนีประนอมกับจีน โดยในแถลงการณ์ร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน เมื่อปลายเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา ไม่ได้มีการพูดถึงคำตัดสินของศาลและไม่ได้กล่าวโจมตีจีน ในแถลงการณ์ร่วมพูดเป็นหลักการกว้างๆว่า อาเซียนมีความรู้สึกห่วงกังวลเป็นอย่างมากต่อสถานการณ์ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ อาเซียนเน้นให้มีการสร้างความเชื่อมั่นระหว่างกัน และให้ทุกฝ่ายหลีกเลี่ยงการกระทำที่จะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง อาเซียนเน้นการแก้ไขปัญหาอย่างสันติวิธีตามหลักกฏหมายระหว่างประเทศและกฏหมายทะเล และอาเซียนเน้นการแปลงไปสู่การปฏิบัติ ปฏิญญาทะเลจีนใต้ที่เรียกย่อว่า DOC ซึ่งจีนลงนามกับอาเซียน ตั้งแต่ปี 2002 และกระตุ้นให้เดินหน้าสู่การจัดทำ Code of Conduct หรือ COC โดยเร็ว
และต่อมา ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับจีน ก็ได้จัดทำแถลงการณ์ร่วม ซึ่งมีประเด็นสำคัญคือ ทั้งสองฝ่ายจะแก้ปัญหาอย่างสันติวิธี ด้วยการเจรจา จะระมัดระวังในการทำกิจกรรมที่จะทำให้ความขัดแย้งรุนแรงขึ้น จะเคารพในหลักการที่อยู่ใน DOC และจะจัดทำ COC โดยเร็ว แม้ว่าทั้งสองฝ่ายไม่ได้พูดถึงคำตัดสินของศาล แต่อาเซียนกับจีนดูมีแนวโน้มจะเจรจาทางการทูตอย่างจริงจังมากขึ้น
แถลงการณ์ร่วมอาเซียน-จีน ชี้ให้เห็นว่า อาเซียนกับจีนมีความคิดเห็นตรงกันมากขึ้นในเรื่องนี้
ประการแรก ทั้งจีนและอาเซียนเห็นตรงกันว่า ความตึงเครียดในทะเลจีนใต้ในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ไม่มีใครได้ประโยชน์ ในทางตรงกันข้าม ปัญหาทะเลจีนใต้ทำให้จีนเสีย “รังวัด” ไปเยอะ โดยเฉพาะภาพลักษณ์ของจีนที่ประกาศจะผงาดขึ้นมาอย่างสันติ สำหรับประเทศอาเซียน ก็เห็นว่า ไม่มีประโยนช์อะไรที่จะมีนโยบายไปเผชิญหน้ากับจีน
ประการที่สอง ทั้งสองฝ่ายเริ่มเห็นตรงกันว่า การเจรจาทวิภาคี น่าจะเป็นทางออกในการแก้ไขปัญหา ในอดีต จีนประสบความสำเร็จในการเจรจาทวิภาคีในการแก้ไข้ปัญหาพรมแดนกับประเทศเพื่อนบ้านมาแล้ว ตัวอย่างเช่น การเจรจาทวีภาคีจีน-เวียดนาม ในการกำหนดเส้นแบ่งเขตทางทะเลในอ่าวตังเกี๋ย
ประการที่สาม ทั้งจีนและอาเซียนมีความเห็นตรงกันในการใช้กลไกพหุภาคีในการเจรจาต่อ โดยเฉพาะการแปลง DOC ไปสู่การปฏิบัติ และการจัดทำ COC
กล่าวโดยสรุป จากการวิเคราะห์ดังกล่าวข้างต้น ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาทะเลจีนใต้มีแนวโน้มออกได้ทั้งสองหน้า คือ หากแนวโน้มในเชิงลบมากขึ้น จะนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้น แต่ดูเหมือนว่า น่าจะมีความเป็นไปได้มากกว่าที่จะมีแนวโน้มไปในเชิงบวก ที่จะมีความร่วมมือกันและเจรจากันอย่างจริงจังมากขึ้น
แต่มาตรการเฉพาะหน้าคือ อาเซียนและจีนจะต้องป้องกันไม่ให้ปัญหาลุกลามบานปลาย ด้วยการ freeze หรือการแช่แข็งปัญหา ยุติการเคลื่อนไหวทางทหาร และยุติการตอกย้ำอำนาจอธิปไตย และอาเซียนต้องเจรจากับจีนในการแปลง DOC ไปสู่การปฏิบัติ และจัดทำ COC โดยเร็ว
สำหรับมาตรการระยะยาว คือ ใช้เครื่องมือทางการทูตและเครื่องมือทางกฏหมาย ในการพัฒนาเขตพัฒนาร่วมกัน หรือ JDA เพื่อเจรจาแบ่งสรรผลประโยชน์ โดยเฉพาะทรัพยากรน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ด้วยความพยายามหาสูตรแบ่งสรรปันส่วน ที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย และเป็น win-win กับทุกฝ่าย ในอนาคตต่อไป