Logo
  • หน้าหลัก
  • ประวัติ
  • ผลงานวิชาการ
  • ผลงานอื่นๆ
    • หนังสือ
    • Powerpoint
    • สัมภาษณ์รายการต่างๆ
    • บทความอื่นๆ
  • Blog
  • Gallery ภาพส่วนตัว
  • ติดต่อ
Copyright, 2015 : drprapat.com - All rights reserved.
April 28, 2018
drprapat
บทความ
0

ความสัมพันธ์ทางทหาร ไทย-สหรัฐ ปี 2018

PreviousNext
c1_1453278_180427074319_620x413

เมื่อเร็วๆนี้ Center for Strategic and International Studies (CSIS) ซึ่งเป็น Think Tank ที่มีอิทธิพลอย่างมากของสหรัฐ ได้เผยแพร่บทวิเคราะห์เรื่อง “Tipping the Balance in Southeast Asia? Thailand, the United States and China” ซึ่งเป็นบทวิเคราะห์การสำรวจความคิดเห็นของบุคลากรด้านความมั่นคงของไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทหาร ข้าราชการ และนักการทูต จำนวน 1800 คน คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะสรุปวิเคราะห์บทวิเคราะห์ของ CSIS ดังนี้

 

อิทธิพลของสหรัฐและจีน

ผลการสำรวจความคิดเห็นพบว่า ฝ่ายไทย มองว่า ยุคปัจจุบันกำลังเป็นยุคเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ อิทธิพลของจีนได้เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก และขณะนี้กำลังมีอิทธิพลทัดเทียมสหรัฐ และในอนาคตจะแซงหน้าสหรัฐ

ผู้ได้รับการสำรวจส่วนใหญ่มองว่า อิทธิพลของทั้งสองประเทศได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในช่วงหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ในศตวรรษที่ 19 จีนมีอิทธิพลมากกว่าสหรัฐ ต่อมาในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 อิทธิพลของสหรัฐกับจีนเท่ากัน แต่หลังจากนั้น ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 รวมทั้งในยุคสงครามเย็น อิทธิพลของสหรัฐได้เพิ่มมากขึ้นกว่าจีน อย่างไรก็ตาม ในยุคหลังสงครามเย็น อิทธิพลของจีนได้เพิ่มขึ้นมาทัดเทียมกับสหรัฐ และในอนาคต จีนจะมีอิทธิพลมากกว่าสหรัฐ

ฝ่ายไทยมองว่า รัฐบาล Trump จะเป็นตัวเร่งทำให้อิทธิพลของสหรัฐตกต่ำลงไปเร็วขึ้น

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายทหารไทยก็ยังมีความรู้สึกกังวลต่ออำนาจทางทหารของจีนที่เพิ่มมากขึ้น

         ภัยคุกคาม

         ในการสำรวจความคิดเห็นของทหารไทย พบว่า แม้ว่าฝ่ายทหารจะมีความกังวลต่อแสนยานุภาพทางทหารของจีน และมองว่าสหรัฐเป็นหลักประกันความมั่นคงของไทย แต่ก็เป็นที่น่าประหลาดใจเป็นอย่างยิ่ง ที่การสำรวจครั้งนี้พบว่า ทหารไทยมองว่า สหรัฐเป็นมหาอำนาจที่เป็นภัยคุกคามต่อไทย เป็นอันดับ 1 รองลงมาคือ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย และรัสเซีย โดย CSIS ได้ให้คำอธิบายว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้ฝ่ายทหารไทยมองว่า สหรัฐเป็นภัยคุกคามทางทหารต่อไทยเป็นอันดับ 1 นั้น ก็เพราะฝ่ายทหารไทยกังวลใจต่อการที่สหรัฐแทรกแซงการเมืองภายในของไทยในช่วงที่ผ่านมา

ท่าทีของรัฐบาลสหรัฐที่โจมตีรัฐบาลทหารไทยมาโดยตลอด โดยเฉพาะตั้งแต่รัฐประหาร ในปี 2014 รัฐบาลสหรัฐได้ตัดงบประมาณความช่วยเหลือทางทหารต่อไทย และลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูต และทางการทหารกับไทย เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ Daniel Russel ในช่วงการกล่าวสุนทรพจน์ที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้กล่าวโจมตีรัฐบาลทหารของไทยอย่างรุนแรง ทำให้ฝ่ายไทยไม่พอใจเป็นอย่างมาก

         ปัจจัยลบ

         CSIS ได้วิเคราะห์ปัจจัยลบ ที่จะทำให้ความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างไทยกับสหรัฐ ตกต่ำลงไปอีก โดยมีปัจจัยดังนี้

– ทัศนคติของบุคลากรทางด้านความมั่นคงและทางด้านการทหารของไทย ที่มองว่า สหรัฐเป็นมหาอำนาจที่เป็นภัยคุกคาม ที่พร้อมจะแทรกแซงการเมืองภายในของไทย

– ยุคทองของความสัมพันธ์ทางทหารไทย-สหรัฐ เกิดขึ้นในช่วงสงครามเย็น ที่ทหารของไทยและสหรัฐ ใกล้ชิดกันมาก อย่างไรก็ตาม ความทรงจำของความสัมพันธ์ในยุคสงครามเย็น ได้เลือนลางจางหายไปมาก ในความคิดของบุคลากรทางทหารของไทยและสหรัฐในปัจจุบัน

– ความเชื่อของทหารไทย ที่เชื่อว่า อิทธิพลของจีนกำลังจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งก็จะมีนัยสำคัญที่อาจจะทำให้ทหารไทยหันไปใกล้ชิดกับจีนมากขึ้น และถอยห่างจากสหรัฐ

– นอกจากนี้ อำนาจทางเศรษฐกิจของสหรัฐก็กำลังตกต่ำลงเมื่อเทียบกับจีน

– สหรัฐไม่ได้ให้ความสำคัญหรือสนใจไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เหมือนในยุคสงครามเย็น

ปัจจัยเหล่านี้ จะมีผลทำให้ความสัมพันธ์ทางทหารไทย-สหรัฐ ตกต่ำลง

         ปัจจัยบวก

อย่างไรก็ตาม CSIS ก็มองว่า ยังมีปัจจัยบวกหลายปัจจัยที่จะส่งเสริมให้ความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างไทยกับสหรัฐ กระชับแน่นแฟ้นต่อไปมากขึ้น ซึ่งปัจจัยบวกที่สำคัญมีดังนี้

– soft power: (ในบทวิเคราะห์ของ CSIS ไม่ได้ใช้คำว่า soft power แต่ผมคิดว่า คำๆนี้น่าจะทำให้เราเห็นภาพชัดที่สุด) CSIS มองว่า ปัจจัยด้านภาษา และหลักนิยมทางทหาร (military doctrine) จะทำให้ไทยใกล้ชิดกับสหรัฐต่อไป ภาษาที่สองของทหารไทย คือภาษาอังกฤษไม่ใช่ภาษาจีน ชนชั้นนำของไทยและชนชั้นกลางของไทย นิยมส่งลูกหลานไปเรียนต่อในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะ อังกฤษ และ สหรัฐ

– นอกจากนี้ ทหารไทยได้รับเอาหลักนิยมทางทหารของสหรัฐ มาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 องค์ความรู้ทางทหาร และยุทธศาสตร์ทางทหารต่างๆ ทหารไทยก็รับเอามาจากสหรัฐทั้งสิ้น

– ทหารไทยมีการฝึกและซ้อมรบร่วมกับสหรัฐ รวมทั้งฝึกร่วมและซ้อมรบร่วมกับพันธมิตรของสหรัฐ รวมแล้วประมาณ 60 ครั้งต่อปี ในการฝึกร่วมและซ้อมรบร่วม ต้องใช้ภาษาอังกฤษ และยึดหลักนิยมทางทหารของสหรัฐเป็นหลัก

– ทหารไทยได้ไปศึกษาต่อ และฝึกอบรมในสหรัฐเป็นจำนวนมาก รวมแล้วกว่า 20,000 คนในช่วง 10ปีที่ผ่านมา จากการสำรวจของ CSIS พบว่ากว่า 50% ของทหารไทยไปศึกษาต่อในสหรัฐ มีเพียงไม่ถึง 10% ที่ไปศึกษาต่อในประเทศจีน

– ยุทธศาสตร์การถ่วงดุลอำนาจของไทย: อีกปัจจัยที่จะเป็นปัจจัยบวก ต่อความสัมพันธ์ทางทหารไทย-สหรัฐ คือ ลักษณะพิเศษของนโยบายต่างประเทศไทย ที่มีลักษณะเป็นการทูตรอบทิศทาง (omni-directional diplomacy) ซึ่งนโยบายต่างประเทศดังกล่าว ได้รับการตอกย้ำจากการสัมภาษณ์และการสำรวจทัศนคติ ทั้งจากบุคลากรทางทหารและนักการทูตของไทย ฝ่ายไทยจะเน้นความสำคัญของดุลยภาพ หรือ การถ่วงดุลอำนาจ (balance) ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

หลักการทางการทูตของไทยดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่า ไทยจะคงดำเนินยุทธศาสตร์การถ่วงดุลอำนาจกับมหาอำนาจต่างๆ เพื่อที่จะทำให้แน่ใจได้ว่า จะไม่มีมหาอำนาจใดมีอิทธิพลมากเกินไป ซึ่งจะทำให้ไทย มีอิสรภาพและความคล่องตัวทางการทูต เป็นหัวใจสำคัญของการทูตไทยมาโดยตลอด

ดังนั้น จากยุทธศาสตร์การถ่วงดุลดังกล่าว จะทำให้เห็นแนวโน้มได้ว่า แม้ว่าจีนจะมีอิทธิพลมากขึ้น แต่ไทยก็คงจะสร้างเสริมความสัมพันธ์กับมหาอำนาจอื่นอย่างแข็งขัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสหรัฐ ญี่ปุ่น และอินเดีย

– ปัจจัยบวกอีกประการที่สำคัญอย่างยิ่งคือ การที่ทหารไทยยังคงมองว่า สหรัฐเป็นหลักประกันความมั่นคงที่ดีที่สุดต่อไทย

ปัจจัยบวกดังกล่าวข้างต้นชี้ให้เห็นถึงแนวโน้ม ความสัมพันธ์ทางทหารไทย-สหรัฐ ที่คงจะกระชับแน่นแฟ้นต่อไปในอนาคตมากขึ้น

กล่าวโดยสรุป ผมมองว่าเอกสารของ CSIS ฉบับนี้เป็นประโยชน์อย่างมาก ในการที่ทำให้เราเห็นภาพชัดขึ้นถึง ความคิด ทัศนคติ ของบุคลากรด้านความมั่นคงของไทย ต่อสหรัฐและจีน

ผลการสำรวจที่ชี้ให้เห็นอิทธิพลของสหรัฐที่ลดลง ก็ไม่ใช่เป็นเรื่องน่าแปลกใจอะไร แต่ผลการสำรวจที่ฝ่ายทหารไทยระบุว่า สหรัฐเป็นภัยคุกคามอันดับ 1 นั้น เป็นเรื่องน่าแปลกใจเป็นอย่างยิ่ง โดยฝ่ายทหารไทย ได้ตีความภัยคุกคามรวมถึงการแทรกแซงกิจการภายในและการเมืองภายในของไทยด้วย ซึ่งทำให้สหรัฐกลายเป็นภัยคุกคามของไทย ภายใต้คำจำกัดความนี้

สำหรับการวิเคราะห์ปัจจัยลบและปัจจัยบวกต่อความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐของ CSIS นั้น ก็เป็นประโยชน์อย่างมากเช่นเดียวกัน ที่จะทำให้ฝ่ายไทยได้มาคิดวิเคราะห์ พิจารณาต่อ ในการกำหนดยุทธศาสตร์กับมหาอำนาจต่อไปในอนาคต

นอกจากนี้ ผลพลอยได้อีกประการหนึ่งของบทวิเคราะห์ของ CSIS ฉบับนี้ ก็คือบทวิเคราะห์ดังกล่าวอาจจะมีส่วนไม่มากก็น้อย ที่ทำให้รัฐบาล Trump และกระทรวงกลาโหมสหรัฐ ได้ปรับเปลี่ยนท่าทีต่อไทยไปมาก โดยเฉพาะการยุติพฤติกรรมที่จะถูกมองว่า เป็นการแทรกแซงกิจการภายในของไทย ซึ่งก็ทำให้ความสัมพันธ์ทางทหารไทย-สหรัฐ ในปัจจุบันดูดีขึ้นมาก

และล่าสุด กระทรวงกลาโหมสหรัฐก็ได้เชิญ พลเอก ประวิตร วงศ์สุวรรณ รัฐมนตรีกลาโหมของไทย ไปเยือนสหรัฐ และได้มีการพบปะหารือกัน ซึ่งจากผลการหารือกันในครั้งนี้ ก็น่าจะทำให้ความสัมพันธ์ทางทหารไทย-สหรัฐ กระชับแน่นแฟ้นมากขึ้นไปอีก

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ (Thai Post) ฉบับวันที่ 26 เมษายน 2561

ที่มารูปภาพ: หนังสือพิมพ์ Bangkok Post ฉบับวันที่ 27 เมษายน 2561

Securityความสัมพันธ์ทางทหารสหรัฐไทย
Share this

The Author drprapat

ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

More Posts Like This One

World_Flag_Map_2015

ยุทธศาสตร์ทหารสหรัฐต่อเอเชีย ปี 2016

May 26, 2016
8e3e762a253ffca50bfca231ea5e69d7adbcd3fec76468b4d58ef07f26a8a222

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2020 (ตอนที่ 1)

February 14, 2020
image_big_5e2260d3509a2

link ให้สัมภาษณ์ไทยโพสต์ เรื่อง USA vs. IRAN สงครามนอกรูปแบบ ไพ่ 4 ใบในมือ ‘อิหร่าน’

January 20, 2020
0 Comments General

Leave A Comment Cancel reply

2 + 1 =

 
รศ.ดร.ประภัสสร์ เทพชาตรี ศ.ดร.ประภัสสร์ เทพชาตรี ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้บรรยายพิเศษในสถาบันต่างๆ อาทิ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สถาบันพระปกเกล้า มีงานเขียน งานวิจัย ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และมีคอลัมน์ประจำ "กระบวนทรรศน์" ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์และคอลัมน์ประจำ "โลกทรรศน์" ในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
  • หนังสือ "ยุทศาสตร์สหรัฐฯต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้"

  • หนังสือ "ประชาคมเอเชียตะวันออก"

  • หนังสือ "ประชาคมอาเซียน"

  • หนังสือ "สถานการณ์โลกปี 2553 และแนวโน้มปี 2554"

  • ปกนโยบายต่างประเทศ-USA-แก้-2557-07-28-at-3.05.01-PM

1/4

Calendar

January 2021
M T W T F S S
« Apr    
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031

Blog

drprapat-header-3

LINKS

คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ศึกษานโยบายระหว่างประเทศ (CIPS) ศูนย์ศึกษานโยบายระหว่างประเทศ (CIPS)

Tags

AEC al-Qaeda APEC ARF ASEAN Clinton Donald Trump EAS EU eurozone FTA G-20 ISIS Obama the rise of China TPP UN UNSC WTO การก่อการร้าย การต่างประเทศของไทย การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ ความขัดแย้ง ความขัดแย้งทะเลจีนใต้ ความมั่นคง จีน ตะวันออกกลาง ประชาคมอาเซียน ประเทศมหาอำนาจ พม่า ยุทธศาสตร์สหรัฐฯ รัสเซีย วิกฤต Eurozone สงคราม สงครามการค้า สหรัฐ สหรัฐอเมริกา สหรัฐฯ อัฟกานิสถาน อาเซียน อิหร่าน เกาหลีเหนือ เศรษฐกิจ เอเชีย ไทย