จีน-อาเซียน 2019 (ตอนที่ 1)

ปี 2019 นี้ ถือเป็นปีทองอีกปี ที่จีนประสบความสำเร็จ ในการเดินหน้าขยายอิทธิพลเข้าครอบงำภูมิภาคอาเซียน แม้ว่าเศรษฐกิจจีนจะสะดุด เพราะสงครามการค้ากับสหรัฐ และสหรัฐกำลังไล่บี้และปิดล้อมจีนอย่างหนักก็ตาม แต่เหมือนกับกลับกลายเป็นว่า การไล่บี้ของสหรัฐกลับทำให้จีน มีความมุ่งมั่นและเร่งรีบมากขึ้นในการสร้างเสริมอำนาจแห่งชาติ และขยายอิทธิพลในภูมิภาค เพื่อต่อสู้กับการปิดล้อมจีนของสหรัฐ
การขยายอิทธิพลของจีนทางด้านเศรษฐกิจ
ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน จีนได้ขยายอิทธิพลเข้าครอบงำภูมิภาคอาเซียนอย่างต่อเนื่องและเข้มข้นมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การขยายอิทธิพลทางด้านเศรษฐกิจ
ปัจจุบัน จีนเป็นประเทสคู่ค้าอันดับ 1 ของอาเซียน คู่ค้าอันดับ 1 ของไทย ลาว กัมพูชา พม่า และอีกหลายประเทศในอาซียน จีนเป็นประเทศที่ให้ความช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจแก่ประเทศอาเซียนมากที่สุด นอกจากนี้ ในด้านการลงทุน จีนก็มีเม็ดเงินมหาศาลเข้ามาลงทุนในอาเซียนมากมาย จนในอนาคต จีนอาจกลายเป็นประเทศที่เข้ามาลงทุนมากที่สุดในอาเซียน สงครามการค้ากับสหรัฐเป็นปัจจัยกระตุ้นให้บริษัทต่างๆของจีน ย้ายฐานการผลิตมายังอาเซียน โดยเฉพาะเวียดนามและไทย
จนในขณะนี้อาจกล่าวได้ว่า ประเทศอาเซียนหลายประเทศ ได้พึ่งพาเศรษฐกิจจีนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะลาว กัมพูชา และพม่า จน 3 ประเทศนี้เกือบจะกลายเป็นจังหวัดหนึ่งของจีนไปแล้ว ส่วนไทยและเวียดนาม จีนก็ได้รุกคืบเข้ามาเป็นอย่างมากในด้านเศรษฐกิจในทุก ๆมิติ
โครงการอภิมหาโปรเจคของจีน คือ Belt and Road Initiative หรือ BRI ก็ประสบความสำเร็จอย่างมากในอาเซียน จีนได้ประกาศนโยบาย “ระเบียงเศรษฐกิจจีน-คาบสมุทรอินโดจีน” (China-Indochina Peninsula Corridor) เป็น 1 ใน 6 ระเบียงเศรษฐกิจภายใต้ BRI แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมา โครงการ BRI ในอาเซียนอาจจะมีปัญหาและสะดุดอยู่บ้าง แต่ในปีนี้ทุกโครงการเดินหน้าไปได้อย่างดี
โครงการ BRI ในพม่า มีทั้งการสร้างถนน ทางรถไฟ โดยเฉพาะการสร้างท่าเรือใหญ่ที่เมือง Kyaukpyu
ในกัมพูชาก็มีโครงการโครงสร้างพื้นฐานเต็มไปหมดที่จีนสร้าง
เช่นเดียวกับในลาว โดยมีโครงการใหญ่ คือ การสร้างทางรถไฟความเร็วสูง คุนหมิง-เวียงจีนทน์ ซึ่งคืบหน้าไปมาก
สำหรับโครงการ BRI กับไทย คือ การสร้างทางรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-หนองคาย หลังจากประสบปัญหาการเจรจายืดเยื้อ ตอนนี้ทุกอย่างก็เดินหน้าไปได้อย่างราบรื่น
ในมาเลเซีย โครงการ BRI คือ การสร้างทางรถไฟสายตะวันออก แต่ปีที่แล้ว ดร.มหาธีร์ ได้ยับยั้งโครงการดังกล่าว แต่ต่อมาได้เจรจากับจีนใหม่ จีนก็ได้ประนีประนอมมากขึ้น และปีนี้ มาเลเซียก็ได้เดินหน้าโครงการนี้ต่อกับจีนไปแล้ว
ยุทธศาสตร์ BRI ของจีนต่ออาเซียน คือ การขยายอิทธิพลครอบงำประเทศอาเซียนตอนบน ที่เป็นแผ่นดินใหญ่ของอาเซียน (Mainland Southeast Asia) 5 ประเทศ ได้แก่ พม่า ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม โดยเน้นการครอบงำเส้นทางการคมนาคมขนส่งทางบก ด้วยการสร้างถนนและทางรถไฟเชื่อมจีนตอนใต้กับอาเซียนตอนบน ส่วนอาเซียนตอนล่างที่เป็นประเทศเกาะ Maritime Southeast Asia ยุทธศาสตร์ BRI ของจีน คือ การเข้าครอบงำเส้นทางการเดินเรือต่าง ๆ ด้วยการสร้างท่าเรือเพื่อครอบงำทะเลจีนใต้และมหาสมุทรอินเดีย
การขยายอิทธิพลของจีนทางด้านการทหาร
สำหรับทางด้านความมั่นคงและการทหาร จีนก็ประสบความสำเร็จอย่างมาก ในการขยายอิทธิพลทางทหารเข้าสู่อาเซียน และประสบความสำเร็จในการลดความขัดแย้งกับอาเซียนในปัญหาทะเลจีนใต้
ยุทธศาสตร์ของจีนในทะเลจีนใต้ เป็นยุทธศาสตร์ที่แยบยล ที่มีลักษณะเป็น “ยุทธศาสตร์ 2 ช่องทาง” ช่องทางแรก คือ การเจรจากับอาเซียน เพื่อถ่วงเวลาออกไปเรื่อยๆ ในขณะเดียวกัน จีนก็ดำเนินยุทธศาสตร์ช่องทางที่สองควบคู่ไปกับยุทธศาสตร์แรก คือ การเพิ่มแสนยานุภาพทางการทหารในทะเลจีนใต้มากขึ้นเรื่อยๆ โดยใช้การเจรจาถ่วงเวลา เพื่อในที่สุด จีนจะสามารถขยายแสนยานุภาพทางทหารควบคุมทะเลจีนใต้ได้ทั้งหมด
สำหรับช่องทางที่หนึ่ง คือ การเจรจานั้น ปี 2019 นี้ จีนประสบความสำเร็จอย่างมาก ในการจัดทำCode Of Conduct (COC) ความขัดแย้งกับประเทศอาเซียนในทะเลจีนใต้ก็ทุเลาเบาบางลงไปมาก โดยเฉพาะการเผชิญหน้าทางทหารกับเวียดนามและฟิลิปปินส์ ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับจีนที่กรุงเทพ เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ทั้ง 2 ฝ่ายก็สามารถตกลงกันได้หลายเรื่องในการจัดทำร่าง COC แต่ก็มีหลายประเด็นที่ยังตกลงกันไม่ได้ ต้องเจรจากันต่อไป ซึ่งก็เข้าทางจีน ที่ต้องการใช้การเจรจาในการซื้อเวลาไปเรื่อย ๆ นอกจากนี้ จีนได้เจรจาทวิภาคีกับฟิลิปปินส์และเวียดนาม เพื่อเจรจาข้อตกลงความร่วมมือในการสำรวจก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน
อย่างไรก็ตาม จีนได้ดำเนินยุทธศาสตร์ช่องทางที่ 2 คือ การเสริมสร้างแสนยานุภาพทางทหารควบคู่ไปกับการเจรจา โดยมีการสร้างสิ่งก่อสร้างต่างๆ อาทิ สนามบิน ท่าเรือ รวมทั้งติดตั้งอาวุธยุทโธปกรณ์ ขีปนาวุธต่างๆในเกาะที่จีนยึดครองอยู่ ทั้งในหมู่เกาะ Paracel และหมู่เกาะ Spratly นอกจากนี้ จีนพยายามตอกย้ำความป็นเจ้าของทะเลจีนใต้ ด้วยการส่งเรือรบเข้าไปลาดตระเวนและขับไล่เรือของชาติอื่นออกไป โดยมีการยิงเรือประมงของเวียดนามจม รวมทั้งมีการเผชิญหน้ากับเรือรบของฟิลิปปินส์ด้วย
นอกจากนี้ จีนได้ใช้ยุทธศาสตร์แบ่งแยกและปกครอง เพื่อทำให้อาเซียนแตกแยก และไม่สามารถมีท่าทีร่วมในการเจรจากับจีนในเรื่องทะเลจีนใต้ได้ โดยอาเซียนแตกออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายที่โปรจีนมี 3 ประเทศหลัก คือ พม่า ลาว กัมพูชา และฝ่ายที่เป็นคู่ขัดแย้งกับจีนเรื่องทะเลจีนใต้ โดยเฉพาะ ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม
จีนยังได้ประสบความสำเร็จในการซ้อมรบกับประเทศในอาเซียน นับเป็นครั้งแรกที่มีการซ้อมรบระหว่างจีนกับอาเซียน และจีนก็ได้แอบแฝงการขยายอิทธิพลทางทหารผ่านโครงการ BRI ท่าเรือหลายแห่งที่จีนสร้างภายใต้โครงการ BRI สามารถปรับเปลี่ยนเป็นฐานทัพเรือได้ กรณีที่ชัดเจน คือ ท่าเรือน้ำลึกที่เมือง Sihanoukville ทางตอนใต้ของกัมพูชา ซึ่งจีนลงทุนสร้างให้กัมพูชา และในขณะนี้ มีคนจีนอพยพไปอยู่ที่เมืองนี้หลายล้านคน จีนมีแผนจะพัฒนาท่าเรือนี้ให้กลายป็นฐานทัพใหญ่ของจีนในอาเซียน ในมหาสมุทรอินเดีย จีนก็มีแผนพัฒนาฐานทัพเรือหลายแห่ง อาทิ ท่าเรือ Hambantota ในศรีลังกา ที่จีนสร้างให้ศรีลังกา จีนก็กำลังจะปรับมาเป็นฐานทัพเรือใหญ่ ที่จะสามารถครอบงำมหาสมุทรอินเดียได้ จีนมีฐานทัพใหญ่อยู่ที่ประเทศจีบูตี และในอนาคต จีนอาจจะปรับท่าเรือ Kyakpyu ในพม่า และท่าเรือ Gwadarในปากีสถาน ให้เป็นฐานทัพเรือได้
(โปรดติดตามอ่านต่อ ตอนที่ 2 ในคอลัมน์กระบวนทรรศน์ หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 24 ตุลาคม 2562 )
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ คอลัมน์กระบวนทรรศน์ วันที่ 9 ตุลาคม 2562
ที่มารูปภาพ: https://www.gotoknow.org/posts/646825