Logo
  • หน้าหลัก
  • ประวัติ
  • ผลงานวิชาการ
  • ผลงานอื่นๆ
    • หนังสือ
    • Powerpoint
    • สัมภาษณ์รายการต่างๆ
    • บทความอื่นๆ
  • Blog
  • Gallery ภาพส่วนตัว
  • ติดต่อ
Copyright, 2015 : drprapat.com - All rights reserved.
October 24, 2019
drprapat
บทความ
0

จีน-อาเซียน 2019 (ตอนที่ 2)

PreviousNext
1

  คอลัมน์กระบวนทรรศน์ตอนที่แล้ว ผมได้วิเคราะห์ การขยายอิทธิพลของจีนในอาเซียน ในปี 2019 นี้ ทั้งทางด้านศรษฐกิจและด้านการทหารในภาพรวมไปแล้ว คอลัมน์ในวันนี้ จะมาวิเคราะห์ต่อ โดยจะเน้น 2 เรื่องสำคัญ ที่จีนกำลังใช้ในการขยายอิทธิพลในอาเซียน คือ การขยายบทบาทด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ที่เรียกว่า Digital Silk Road และการจัดตั้งกลไกความร่วมมือเพื่อครอบงำภูมิภาค คือ Lancang-Mekong Cooperation

   Digital Silk Road

  การขยายอิทธิพลของจีนด้านเศรษฐกิจในอาเซียนเป็นไปอย่างน่ากลัว จีนไม่ได้ขยายอิทธิพลแค่การค้า การลงทุน และโครงสร้างพื้นฐานเท่านั้น แต่ขณะนี้ โลกกำลังเข้าสู่ยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หรือโลกในยุค 4.0 จีนเดินหน้าเต็มที่ ในการผงาดขึ้นมาเป็นผู้นำในเศรษฐกิจดิจิทัล จีนได้ขยายอิทธิพล ขยายการลงทุนทางด้านเศรษฐกิจดิจิทัลในเอเชียตะวันออกฉียงใต้ ภายใต้โครงการเส้นทางสายไหมดิจิทัล (Digital Silk Road) ซึ่งจะเป็นเส้นทางสายไหมสายที่ 3

  สายที่ 1 คือ เส้นทางสายไหมทางบก เน้นการสร้างถนน ทางรถไฟ

  สายที่ 2 คือ เส้นทางสายไหมทางทะเล หรือ Maritime Silk Road

  และตอนนี้จีนก็มุ่งสู่เส้นทางสายไหมสายที่ 3 โดยหัวหอกสำคัญในการขยายอิทธิพลเข้าครอบงำเศรษฐกิจดิจิทัลของโลกและของอาเซียน คือ บริษัทยักษ์ใหญ่ของจีน ได้แก่ Huawei ZTE Alibaba และ Tencent ซึ่งบริษัทเหล่านี้ได้เปรียบคู่แข่งเป็นอย่างมาก เพราะมีสินค้าคุณภาพสูงแต่ราคาถูก ซึ่งปัจจัยสำคัญ คือ การสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาลจีน บริษัทเหล่านี้ขณะนี้กลายเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ในเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียน

  Alibaba เป็นเจ้าของ Lazada ซึ่งเป็นเว็บไซต์ขายของออนไลน์ที่มีลูกค้ามากที่สุดในอาเซียน

   Tencent ได้เข้าซื้อกิจการของ Grab และ Gojek ซึ่งตอนนี้ได้แซงหน้าผู้เล่นรายใหญ่ของสหรัฐ คือ Uber ไปแล้ว

   Alipay ระบบ e-payment ของ Jack Ma กำลังจะกลายเป็นระบบ e-payment หลักของอาเซียน

  ในขณะที่ Huawei และ ZTE เป็นผู้เล่นรายใหญ่ในโครงการโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล โดยเฉพาะโครงการเดินสายเคเบิ้ลใต้ทะเลในอาเซียน

  โทรศัพท์มือถือของจีน คือ Oppo Huawei และ Vivo ก็ครองตลาดโทรศัพท์มือถือในอาเซียน

   Huawei ได้เดินหน้าพัฒนาเครือข่าย 5G ในอาเซียน โดยได้ร่วมมือกับบริษัทโทรคมนาคมของไทยทดลองระบบ 5G ไปบ้างแล้ว

   เศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียน ขณะนี้มีมูลค่า 50,000 ล้านเหรียญ และคาดว่าจะขยายเพิ่มขึ้นอีก 4 เท่าตัวในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า อย่างไรก็ตาม Trump ได้พยายามสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีนในด้านนี้ โดยการไล่บี้ Huawei โดยเฉพาะระบบ 5G ของ Huawei และพยายามบีบให้ประเทศอาเซียนเลือกข้างว่า จะใช้ระบบ 5G ของ Huawei หรือจะใช้ของตะวันตก ซึ่งมีระบบ 5G ของ Ericsson และ Nokia แต่ปัจจัยชี้ขาดคือ ราคา ซึ่งระบบ 5G ของ Huawei ถูกและดี แต่ระบบของตะวันตกมีราคาแพงกว่ามาก ซึ่งในที่สุด ประเทศอาเซียนก็คงจะต้องเลือกระบบ 5G ของ Huawei

   Lancang-Mekong Cooperation (LMC)

  นอกจากการขยายอิทธิพลของจีนในอาเซียน ด้วยการรุกคืบทางด้านเศรษฐกิจดิจิทัลแล้ว จีนยังได้จัดตั้งกลไกความร่วมมืออนุภูมิภาค ที่จะเป็นกลไกสำคัญในการขยายอิทธิพลครอบงำอาเซียน โดยเฉพาะอาเซียนตอนบน กลไกดังกล่าวมีชื่อว่า Lancang-Mekong Cooperation หรือ กรอบความร่วมมือแม่น้ำโขง-ล้านช้าง เรียกย่อว่า LMC

  ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จีนได้ผลักดัน LMC เต็มที่ LMC เป็นกรอบความร่วมมือประเทศลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ คือ จีน พม่า ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ประเทศอาเซียนที่เข้าร่วม 5 ประเทศ คือประเทศอาเซียนตอนบน หรือแผ่นดินใหญ่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (mainland Southeast Asia) จีนมีแผนจะครอบงำอาเซียนตอนบนอย่างเต็มที่ มีการจัดประชุมสุดยอด LMC ไปแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกที่เกาะไหหลำ ในปี 2016 และครั้งที่ 2 ที่กรุงพนมเปญในปี 2018 ในการประชุมสุดยอดครั้งที่ 2 ได้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการ ระบุรายละเอียดความร่วมมือต่างๆ โดยเน้นโครงการโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งสอดรับกับโครงการ BRI ที่เป็นโครงการใหญ่ของจีน

  อาเซียนตอนบนเป็นภูมิภาคที่จะทดสอบว่า จีนจะสามารถกลายเป็น hegemon หรือประเทศที่ครองความเป็นใหญ่ ใช้อำนาจครอบงำภูมิภาคได้หรือไม่ ถ้าจะมีภูมิภาคใด ที่จีนจะสามารถครอบงำได้สมบูรณ์เบ็ดเสร็จ ก็น่าจะเป็นภูมิภาคอาเซียนตอนบน หรือลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง 5 ประเทศนี้ ขณะนี้ จีนได้เข้าครอบงำเศรษฐกิจของลาว กัมพูชา และพม่า อย่างเต็มที่ไปเรียบร้อยแล้ว ไทยกับเวียดนามก็กำลังอยู่ในข่าย LMC จะเป็นกรอบที่ช่วยให้จีนครอบงำได้เร็วขึ้นและง่ายขึ้น

  แต่ผลกระทบของ LMC ต่ออาเซียนก็มีอยู่หลายประการ ประเทศที่น่าจะได้รับผลกระทบจาก LMC มากที่สุด คือ ไทย เพราะ LMC และการขยายอิทธิพลของจีน กลายเป็นคู่แข่งของไทย ที่มีความฝันอยากจะเป็นศูนย์กลางของอาเซียนตอนบน ยุทธศาสตร์การทูตของไทยในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา เน้นการที่ไทยจะเป็นศูนย์กลางของกลุ่ม CLMV ตั้งแต่ปี 1988 ที่พลเอกชาติชาย ชุนหะวัณ ได้ประกาศนโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า ไทยก็ได้เดินหน้า ริเริ่มจัดตั้งกรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคต่าง ๆมากมาย เช่น สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ (Economic Quadrangle) หกเหลี่ยมเศรษฐกิจ GMS ห้าเหลี่ยมเศรษฐกิจ BIMSTEC และ ACMECS โดยไทยหวังว่า กรอบความร่วมมือเหล่านี้ จะทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางของอาเซียนตอนบน การรุกคืบของจีนเช่นนี้ จึงทำให้ความฝันของไทยล่มสลาย

  ข้อแตกต่างระหว่างกรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคของจีนและของไทย คือ จีนมีเงินและอิทธิพลทางการเมือง ที่จะทำให้ LMC ประสบความสำเร็จ ในขณะที่กรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคของไทย ล้มลุกคลุกคลานมาโดยตลอด เพราะขาดเงิน ขาดผู้นำ ขาดกลไกทางสถาบัน และขาดเจตนารมณ์ทางการเมือง

  นอกจากนี้ LMC จะทำให้อาเซียนแตกแยกหนักขึ้น จะทำให้อาเซียนตอนบนและอาเซียนตอนล่างแตกแยกกันมากขึ้น โดยอาเซียนตอนบนมีแนวโน้มจะใกล้ชิด และพึ่งพาทางเศรษฐกิจจีนมากขึ้น ในขณะที่อาเซียนตอนล่าง ก็จะพยายามดำเนินยุทธศาสตร์เป็นกลาง ด้วยการถ่วงดุลและไม่พึ่งพาเศรษฐกิจจีนมากเกินไป

  แม้ว่าประเทศมหาอำนาจอื่น ๆจะพยายามแข่งกับจีนในภูมิภาคอาเซียนตอนบน โดยญี่ปุ่นได้ใช้ ADB เป็นกลไกในการสนับสนุนกรอบ GMS อย่างเต็มที่ และได้มีการประชุม Japan-Mekong Summit เป็นประจำ ในขณะที่สหรัฐก็ได้พยายามแข่งกับจีน โดยริเริ่มกรอบความร่วมมือ US-Lower Mekong Initiative แต่ทั้งสหรัฐและญี่ปุ่นก็ไม่สามารถแข่งกับอิทธิพลของจีนในอาเซียนตอนบนได้

  กล่าวโดยสรุป จากที่ผมได้วิเคราะห์ข้างต้น จะเห็นได้ว่า จีนได้ขยายอิทธิพลเข้าครอบงำอาเซียนอย่างน่ากลัวและน่าเป็นกังวลว่า ไทยและอาเซียนจะมียุทธศาสตร์อย่างไร ที่จะรองรับการขยายอิทธิพลของจีน ที่จะเข้มข้นและแข็งกร้าวมากขึ้นในอนาคต อาเซียนและไทยกำลังตกอยู่ในภาวะที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า dilemma หรือเป็นภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ที่ในแง่หนึ่ง ไทยและอาเซียนก็ต้องการผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจจากจีน และต้องมีปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีน และในอีกแง่หนึ่ง ก็ต้องพยายามหลีกเลี่ยงที่จะถูกจีนครอบงำทางเศรษฐกิจในอนาคต ภาวะ dilemma เช่นนี้ เป็นโจทย์ เป็นคำถามที่ยังไม่มีคำตอบชัดเจนในอนาคตว่า ไทยและอาเซียนจะดำเนินยุทธศาสตร์ต่อจีนอย่างไร

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ คอลัมน์กระบวนทรรศน์ วันที่ 23 ตุลาคม 2562
ที่มารูปภาพ: https://www.ex-im4u.com/blog/2018/10/09/form-e/

Digital Silk Roadความสัมพันธ์จีน-อาเซียนจีน-อาเซียน
Share this

The Author drprapat

ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

More Posts Like This One

large_000000000

จีน-อาเซียน 2019 (ตอนที่ 1)

October 17, 2019
0 Comments General

Leave A Comment Cancel reply

+ 50 = 57

 
รศ.ดร.ประภัสสร์ เทพชาตรี ศ.ดร.ประภัสสร์ เทพชาตรี ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้บรรยายพิเศษในสถาบันต่างๆ อาทิ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สถาบันพระปกเกล้า มีงานเขียน งานวิจัย ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และมีคอลัมน์ประจำ "กระบวนทรรศน์" ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์และคอลัมน์ประจำ "โลกทรรศน์" ในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
  • หนังสือ "ยุทศาสตร์สหรัฐฯต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้"

  • หนังสือ "ประชาคมเอเชียตะวันออก"

  • หนังสือ "ประชาคมอาเซียน"

  • หนังสือ "สถานการณ์โลกปี 2553 และแนวโน้มปี 2554"

  • ปกนโยบายต่างประเทศ-USA-แก้-2557-07-28-at-3.05.01-PM

1/4

Calendar

January 2021
M T W T F S S
« Apr    
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031

Blog

drprapat-header-3

LINKS

คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ศึกษานโยบายระหว่างประเทศ (CIPS) ศูนย์ศึกษานโยบายระหว่างประเทศ (CIPS)

Tags

AEC al-Qaeda APEC ARF ASEAN Clinton Donald Trump EAS EU eurozone FTA G-20 ISIS Obama the rise of China TPP UN UNSC WTO การก่อการร้าย การต่างประเทศของไทย การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ ความขัดแย้ง ความขัดแย้งทะเลจีนใต้ ความมั่นคง จีน ตะวันออกกลาง ประชาคมอาเซียน ประเทศมหาอำนาจ พม่า ยุทธศาสตร์สหรัฐฯ รัสเซีย วิกฤต Eurozone สงคราม สงครามการค้า สหรัฐ สหรัฐอเมริกา สหรัฐฯ อัฟกานิสถาน อาเซียน อิหร่าน เกาหลีเหนือ เศรษฐกิจ เอเชีย ไทย