ตะวันตก-รัสเซีย 2015 : สงครามเย็นภาค 2 ?

หลังจากที่รัสเซียได้แทรกแซงทางทหารในสงครามกลางเมืองซีเรีย ก็ได้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซีย สหรัฐ และตะวันตก เสื่อมลงในระดับต่ำที่สุด ตั้งแต่สงครามเย็นสิ้นสุดลง จึงได้มีคำถามเกิดขึ้นว่า สงครามเย็นภาค 2 ได้เกิดขึ้นแล้วใช่หรือไม่ คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์สถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับตะวันตก ดังนี้
รัสเซีย
ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่หลังสงครามเย็นสิ้นสุดลง รัสเซียได้มองตะวันตกเป็นลบมากขึ้นเรื่อยๆ โดยรัสเซียเชื่อว่า ตะวันตก โดยมีสหรัฐเป็นผู้นำ กำลังมียุทธศาสตร์ปิดล้อมรัสเซีย และลดอิทธิพลของรัสเซีย ด้วยการดึงเอาประเทศยุโรปตะวันออกมาเป็นสมาชิกนาโต้และ EU และต้องการขยายอิทธิพลของตะวันตก เข้าไปยังเขตอิทธิพลเดิมของรัสเซีย คือยุโรปตะวันออก คาบสมุทรบอลข่าน เทือกเขาคอเคซัส และเอเชียกลาง
รัสเซียได้ส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่า ต้องการกลับมาเป็นอภิมหาอำนาจทางทหารอีกครั้งหนึ่ง โดยสัญญาณแรกคือ การทำสงครามกับจอร์เจียในปี 2008 ซึ่งสงครามในครั้งนั้น ตะวันตกก็ทำอะไรรัสเซียไม่ได้ รัสเซียก็ยิ่งได้ใจ ต่อมา ก็ผนวกคาบสมุทรไครเมียและแทรกแซงยูเครน และล่าสุดคือ การแทรกแซงทางทหารในสงครามกลางเมืองซีเรีย
รัสเซียรู้ดีว่า ตะวันตกกำลังดึงประเทศอดีตสหภาพโซเวียตไปเป็นพวก รัสเซียจึงมีแผนดึงประเทศเหล่านี้ไว้ ด้วยการเสนอการจัดตั้งสหภาพเศรษฐกิจ Eurasia หรือ Eurasian Union
นอกจากนี้ รัสเซียยังมองว่า การที่ตะวันตกสนับสนุนให้โคโซโวประกาศเอกราช แยกตัวออกจากเซอร์เบียในปี 2008 เป็นยุทธศาสตร์ลดอิทธิพลของรัสเซียในคาบสมุทรบอลข่าน และถ้าตะวันตกสนับสนุนให้โคโซโวประกาศเอกราชได้ รัสเซียก็มีความชอบธรรม ที่จะสนับสนุนให้ไครเมีย ประกาศเอกราชจากยูเครน และกลับมารวมกับรัสเซียได้เช่นกัน
ยูเครนและไครเมีย
หลังจากเกิดวิกฤตยูเครน รัสเซียได้เข้ายึดและผนวกคาบสมุทรไครเมียเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์รัสเซีย-ตะวันตกเป็นอย่างมาก ตะวันตกมีปฏิกิริยาตอบโตรัสเซียอย่างรุนแรง ด้วยยุทธศาสตร์การปิดล้อมรัสเซียใหม่ ทั้งทางด้านการทหาร การทูต และเศรษฐกิจ EU ได้ลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย และลดปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะการค้าและการลงทุนกับรัสเซียลง นอกจากนั้น การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของรัสเซีย แต่การลงโทษรัสเซียในครั้งนี้ ผลที่ได้คือ การที่รัสเซียกลับแข็งกร้าวมากขึ้น และเผชิญหน้ากับตะวันตกหนักขึ้น
ดังนั้น อนาคตของวิกฤตยูเครน จะส่งผลกระทบอย่างมาก ต่อความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับตะวันตกในอนาคต ซึ่งแนวโน้มในขณะนี้ก็น่าห่วง เพราะแม้ว่า จะมีการเจรจากัน แต่รัสเซียและยูเครนก็ไม่มีใครยอมใครและสถานการณ์ทำท่าจะลุกลามบานปลาย รัฐบาลยูเครนพยายามจะปราบปรามฝ่ายกบฏทางตะวันออก ซึ่งรัสเซียก็พร้อมที่จะปกป้องกลุ่มแบ่งแยกดินแดน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเชื้อสายรัสเซีย ที่น่าวิตกคือ มีแนวคิดในรัฐบาลรัสเซียว่า หากสหรัฐสนับสนุนอาวุธให้กับรัฐบาลยูเครน และรัฐบาลยูเครนใช้กำลังปราบปรามฝ่ายต่อต้าน ซึ่งหากสถานการณ์บานปลาย รัสเซียก็อาจไม่มีทางเลือก ที่จะส่งทหารเข้าแทรกแซง ยึดภาคตะวันออกของยูเครน หรืออาจยึดยูเครนทั้งประเทศ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ก็จะเกิดความขัดแย้งกับตะวันตกอย่างรุนแรง
บอลติก
จุดอันตรายอีกจุดในความสัมพันธ์ตะวันตก-รัสเซียคือ บริเวณคาบสมุทรบอลติก ประเทศเล็กๆคือลัตเวีย เอสโตเนีย และลิทัวเนีย ต่างก็กลัวภัยคุกคามจากรัสเซีย โดยเฉพาะหลังจากการผนวกไครเมียของรัสเซีย แต่ประเทศเหล่านี้เป็นสมาชิกนาโต้ จึงคิดว่าจะใช้นาโต้เป็นเกราะกำบังได้ แต่พฤติกรรมของประเทศเหล่านี้ก็ทำให้รัสเซียไม่พอใจ และมีความเป็นไปได้ในอนาคต ที่รัสเซียจะลงโทษประเทศเหล่านี้ และเป็นการแสดงให้เห็นว่า นาโต้ไม่มีความหมาย และไม่สามารถช่วยเหลือประเทศเหล่านี้ได้
ซีเรีย
และจุดอันตรายล่าสุดในความสัมพันธ์ตะวันตก-รัสเซียคือ ซีเรีย รัสเซียตัดสินใจเข้าแทรกแซงทางทหารในซีเรีย ทั้งนี้เพื่อช่วยเหลือรัฐบาล Assad ที่กำลังถูกโจมตีจากหลายฝ่าย ทั้งฝ่ายต่อต้านและ IS ซึ่งรัสเซียจะยอมไม่ได้ที่จะให้รัฐบาล Assad ถูกโค่นล้มลง ซึ่งก็มาจากหลายสาเหตุด้วยกัน
ประการแรกคือ รัสเซียมีท่าเรือสำหรับกองทัพรัสเซียอยู่ที่เมือง Tartus ในซีเรีย
ประการที่สอง รัสเซียกลัวว่า หากรัฐบาล Assad ถูกโค่นล้มลง กลุ่ม IS อาจจะยึดกุมอำนาจในซีเรีย และจัดตั้งรัฐอิสลามขึ้นมาได้ รัสเซียมองว่า กลุ่ม IS เป็นศัตรูสำคัญ ซึ่งเป็นกลุ่มก่อการร้ายมุสลิมหัวรุนแรง ซึ่งจะกระเทือนถึงดินแดนของรัสเซีย ที่มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่ โดยเฉพาะในเขตเทือกเขาคอเคซัสและเอเชียกลาง
ประการที่สาม การที่รัสเซียแทรกแซงซีเรีย ก็เพื่อเป็นการมุ่งเป้าไปที่สหรัฐและคานอำนาจสหรัฐโดยตรง เป็นความพยายามในการทำลายระเบียบโลกในยุคหลังสงครามเย็น ที่ครอบงำโดยสหรัฐ รัสเซียต้องการเปลี่ยนระเบียบโลกใหม่ ที่จะต้องยอมรับเขตอิทธิพลของรัสเซียในยุโรปตะวันออก และในตะวันออกกลางรัสเซียต้องการได้รับการยอมรับในการเป็นมหาอำนาจ เทียบเท่าสหรัฐ ในการจัดการกับปัญหาในตะวันออกกลาง
เป้าหมายใหญ่ของรัสเซียคือ การแข่งกับสหรัฐและตะวันตกในทุกๆภูมิภาค โดยเฉพาะในยุโรปตะวันออก และตะวันออกกลาง ซึ่งในตะวันออกกลาง รัสเซียก็พยายามกระชับความสัมพันธ์กับประเทศหลักๆ โดยเฉพาะ อิหร่าน ตุรกี อียิปต์ จอร์แดน และซีเรีย
จีน
นอกจากนี้ ในเอเชีย รัสเซียก็พยายามกระชับความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆโดยเฉพาะกับจีน ซึ่งจีนเองก็ตกอยู่ในสถานะเดียวกับรัสเซียคือ การถูกสหรัฐปิดล้อม รัสเซียกับจีนจึงมีแนวคิดเดียวกัน คือการต่อต้านสหรัฐ ความล้มเหลวของสหรัฐในตะวันออกกลางและอัฟกานิสถาน เป็นการเปิดทางให้รัสเซียและจีน ได้เข้าไปมีบทบาทในตะวันออกกลางมากขึ้น
เมื่อเร็วๆนี้ ก็ได้มีการซ้อมรบร่วมระหว่างกองทัพเรือจีนกับรัสเซีย ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และจีนก็ได้ส่งเรือบรรทุกเครื่องบิน เข้าร่วมกับรัสเซีย ในการปฏิบัติการทางทหาร นอกชายฝั่งซีเรียด้วย
ดังนั้น ยุทธศาสตร์ใหญ่ของรัสเซีย ในภูมิภาคที่เราเรียกว่า Eurasia คือการจัดระเบียบความมั่นคงในภูมิภาคนี้ใหม่ โดยมีตัวแสดงสำคัญคือ รัสเซีย จีน อิหร่าน อินเดีย และประเทศในเอเชียกลาง
กล่าวโดยสรุป ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับตะวันตกมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ นำไปสู่คำถามว่า โลกจะเข้าสู่สงครามเย็นภาค 2 หรือไม่ ซึ่งคำตอบของผมคือ น่าจะยังไม่ใช่สงครามเย็นภาค 2 แบบเต็มรูปแบบ เพราะรัสเซียไม่ใช่สหภาพโซเวียต ที่เคยเป็นศัตรูกับตะวันตกแบบเต็มรูปแบบในสมัยสงครามเย็น รัสเซีย ขณะนี้ ยังไม่ถือว่าเป็นศัตรูกับตะวันตก เพราะยังมีความร่วมมือระหว่างรัสเซียกับตะวันตกหลายเรื่อง แต่แนวโน้มคือ โลกกำลังมุ่งและเข้าใกล้สงครามเย็นภาคใหม่มากขึ้นเรื่อยๆ
cr.ภาพ : http://likefon.com/3633.html