Logo
  • หน้าหลัก
  • ประวัติ
  • ผลงานวิชาการ
  • ผลงานอื่นๆ
    • หนังสือ
    • Powerpoint
    • สัมภาษณ์รายการต่างๆ
    • บทความอื่นๆ
  • Blog
  • Gallery ภาพส่วนตัว
  • ติดต่อ
Copyright, 2015 : drprapat.com - All rights reserved.
March 28, 2011
drprapat
บทความ
0

ประชาคมอาเซียน : การปรับตัวของภาคราชการไทย (ตอนจบ)

PreviousNext

ตีพิมพ์ใน ไทยโพสต์ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 24 มีนาคม 2554

คอลัมน์กระบวนทรรศน์ตอนที่แล้ว ผมได้วิเคราะห์ถึง ประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะในประเด็น ผลกระทบต่อภาคราชการไทย และการปรับตัวของภาคราชการไทย ต่อการเกิดขึ้นของประชาคมอาเซียน ในปี 2015 โดยได้วิเคราะห์การปรับตัวในภาพรวม และการปรับตัวในประชาคมการเมืองและความมั่นคงไปแล้ว สำหรับคอลัมน์กระบวนทรรศน์ตอนนี้ จะมาวิเคราะห์ต่อ ในส่วนของการปรับตัวในประชาคมเศรษฐกิจ และประชาคมสังคมและวัฒนธรรม
ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

เป้าหมายของเรา ในปี 2015 คือ การจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนขึ้นมา ซึ่งหัวใจของประชาคมเศรษฐกิจ คือ จะมีตลาดเดียว และฐานการผลิตเดียว (single market and production base) และการที่เราจะมีตลาดเดียว จะมีการไหลเวียนของปัจจัยต่างๆอย่างเสรี คือ

• การไหลเวียนของสินค้าอย่างเสรี
• การไหลเวียนของการค้าภาคบริการอย่างเสรี
• การไหลเวียนของการการลงทุนอย่างเสรี
• การไหลเวียนของเงินทุนอย่างเสรีมากขึ้น (freer flow of capital) ซึ่งการไหลเวียนของเงินทุนนี้ ไม่ใช้คำว่า free แต่ใช้คำว่า freer ซึ่งหมายถึง มีเสรีมากขึ้น แต่ยังไม่เสรี 100%
• การไหลเวียนของแรงงานมีฝีมืออย่างเสรี (free flow of skilled labor) โดยจะมีการเปิดเสรีในการเคลื่อนย้ายแรงงานมีฝีมือ ซึ่งหมายความว่า แรงงานไร้ฝีมือ (unskilled labor) ยังไม่เปิดเสรี เหตุผล คือ เราเห็นภาพอยู่ในขณะนี้ว่า ประเทศไทยไม่ได้เปิดเสรีให้คนงานพม่าเข้ามาทำงานในประเทศ แต่ก็มีการลักลอบแอบเข้ามาทำงาน จำนวนก็คงจะหลายล้านคนที่แอบทำงานอยู่ในไทยอย่างผิดกฎหมาย เพราะฉะนั้น จะเกิดอะไรขึ้น หากมีการเปิดเสรีในเรื่องการเคลื่อนย้ายแรงงานไร้ฝีมือ ก็คงจะทะลักเข้ามา คราวนี้คงจะไม่ใช่ 3-4 ล้านคน แต่อาจจะเป็น 10 ล้านคน จากพม่า กัมพูชา และลาว เพราะฉะนั้น ไทยก็ไม่พร้อมในการเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายแรงงานไร้ฝีมือ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน ก็ไม่พร้อม ปัญหาตรงนี้ คือ ถ้าระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจไม่ต่างกันมาก ก็คงจะไม่ทะลัก แต่ในอาเซียน ช่องว่างระหว่างประเทศรวยกับประเทศจน ห่างกันมาก ดังนั้น หากมีการเปิดเสรี คนจนในประเทศจน จะทะลักเข้าไปสู่ประเทศรวย เพื่อที่จะหางานที่ดีกว่า

นี่คือประเด็นหลักๆในเรื่องของการพัฒนาไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

แต่ถ้าถามว่า ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะส่งผลกระทบต่อไทยอย่างไร

ในบรรดาทั้ง 3 ประชาคมย่อย ผมคิดว่า ประชาคมเศรษฐกิจ จะส่งผลกระทบต่อไทยมากที่สุด เพราะเมื่อเราเปิดเสรีในการเคลื่อนย้ายสินค้า สินค้าบางตัว ไทยอาจได้เปรียบ ส่งไปขายในประเทศอาเซียนได้มากขึ้น แต่อุตสาหกรรมบางอุตสาหกรรม ไทยอาจเสียเปรียบ เราอาจจะผลิตสินค้าต้นทุนสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เพราะฉะนั้น เมื่อเปิดเสรีแล้ว สินค้าราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้าน จะทะลักเข้าสู่ไทย อุตสาหกรรมบางสาขา จะได้รับผลกระทบ รวมทั้งภาคเกษตรด้วย ตัวอย่างเช่น ข้าว เมื่อเปิดเสรีแล้ว ข้าวราคาถูกจากลาว จากพม่า จะทะลักเข้าไทย เพราะฉะนั้น ในเรื่องผลกระทบทางเศรษฐกิจ มีทั้งโอกาส และภัย เมื่อเปิดเสรีแล้ว ต้องมีคนได้ คนเสีย บาง sector อาจจะยังไม่พร้อม ก็จะได้รับผลกระทบ

แต่ในภาพรวม การเปิดเสรีการค้าสินค้าในอาเซียน จะไม่กระทบต่อไทยมากนัก เพราะเรามี AFTA อยู่แล้ว ขณะนี้ สินค้าที่ค้าขายกันในอาเซียน ก็มีภาษีอยู่ที่ประมาณ 0% อย่างมากก็ไม่เกิน 5%

สำหรับเรื่องภาคบริการ ถามว่า ภาคบริการไทยสู้กับอาเซียนได้หรือไม่ ผมคิดว่า เราน่าจะสู้ได้ ที่อาจจะยังสู้ไม่ได้ ก็น่าจะเป็นสิงคโปร์ โดยเฉพาะในภาคสถาบันการเงิน ธนาคาร แต่โดยรวมแล้ว เราน่าจะสู้เขาได้ เพราะฉะนั้น ไทยน่าจะได้ประโยชน์ มากกว่าเสียประโยชน์
เช่นเดียวกับเรื่องการลงทุน ต่อไปจะเป็นเขตการลงทุนเดียวในอาเซียน กฎเกณฑ์ต่างๆด้านการลงทุนจะต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น จะต้องมีการปรับตัวในเรื่องนี้ โดยเฉพาะภาคเอกชน แต่ผมคิดว่า ในภาคการลงทุน เราไม่ได้เป็นรองใครในอาเซียน เราน่าจะมีโอกาสมากขึ้นในการไปลงทุนในประเทศสมาชิกอาเซียน นักธุรกิจไทยก็กำลังจ้องจะไปลงทุนในพม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม มากขึ้น และกำลังจะขยายการลงทุนในฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ด้วย

สำหรับ การเคลื่อนย้ายแรงงานมีฝีมือในอาเซียนนั้น ในแผนงาน ASEAN Economic Community Blueprint ได้กำหนดไว้ว่า การเคลื่อนย้ายแรงงานมีฝีมือ จะเริ่มจากอาชีพทางด้านการแพทย์ บัญชี วิศวกร พยาบาล และสถาปนิก ที่จะเปิดเสรีกันก่อน การเปิดเสรีในที่นี้ หมายถึง ต่อไปในอนาคต เราเป็นประชาคมเศรษฐกิจแล้ว สถาปนิกชาวมาเลเซีย อยากจะเข้ามาทำงานในไทย ก็สามารถเข้ามาได้ หรือสถาปนิกไทย อยากไปทำงานที่สิงคโปร์ ก็สามารถไปได้อย่างเสรี เพราะฉะนั้น จะเปิดโอกาสมากขึ้นสำหรับอาชีพเหล่านี้ แต่ขึ้นอยู่กับว่า เราจะสู้เขาได้หรือไม่ หมอไทย กับหมอมาเลเซีย เราสู้เขาได้หรือไม่ หรือหมอไทย กับหมอลาว มาตรฐานของเราน่าจะดีกว่าหรือไม่ เพราะฉะนั้น ในอนาคต หมอไทยจะมีโอกาสไปทำงานในประเทศอาเซียนได้มากขึ้น จะติดขัดอยู่เรื่องเดียว คือเรื่องภาษา อย่างเช่น พยาบาลไทย ที่ความจริงโอกาสมีมาก แต่ยังติดขัดเรื่องภาษาอังกฤษ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ ได้เปรียบ เพราะพูดภาษาอังกฤษได้ เพราะฉะนั้น ข้อเสียเปรียบของเรา คือ เรื่องภาษา

มีอยู่ 3 กลุ่ม ที่จะต้องปรับตัว และมีบทบาทในเรื่องของประชาคมเศรษฐกิจ

กลุ่มที่ 1 คือ บุคลากรในหน่วยงานด้านเศรษฐกิจของไทย ซึ่งมีอยู่มากมายหลายกระทรวง เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตร กระทรวงอุตสาหกรรม

กลุ่มที่ 2 คือ ภาคเอกชน

และกลุ่มที่ 3 คือ ประชาชน

แต่สำหรับบทความนี้ จะเน้นเรื่อง การปรับตัวของภาคราชการไทย ซึ่งต้องไปดูว่า หน่วยงานเศรษฐกิจของไทย จะปรับตัวอย่างไร และจะมีบทบาทอย่างไรในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ประการแรก คือ หน่วยงานเศรษฐกิจของไทย ที่เกี่ยวข้องกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ควรจะต้องศึกษาถึงผลกระทบจากการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนว่า จะมีผลกระทบอย่างไร โดยเฉพาะผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบจากการเปิดเสรีภาคบริการ ผลกระทบจากการเปิดเสรีด้านการลงทุน ผลกระทบจากการเคลื่อนย้ายเงินทุนและแรงงาน ต้องศึกษาถึงผลกระทบอย่างละเอียด โดยการศึกษานั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นลบทั้งหมด เพราะโอกาส ก็มีมาก

ประการที่ 2 หน่วยงานเศรษฐกิจของไทย จะต้องให้ความรู้แก่ภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาคเอกชน และภาคประชาชน ถึงโอกาสที่กำลังจะเปิดให้ สำหรับประชาคมเศรษฐกิจ รวมทั้งผลกระทบในเชิงลบ คือจะต้องให้ภาคส่วนต่างๆรู้ว่า กำลังเผชิญกับผลกระทบในเชิงลบอย่างไร และหน่วยงานราชการจะต้องกำหนดมาตรการในการรองรับต่อผลกระทบดังกล่าวด้วย
เราได้รับบทเรียนมาแล้ว จากการทำ FTA ทวิภาคี ในสมัยรัฐบาลทักษิณ เช่น FTA ไทย-ออสเตรเลีย FTA ไทย-จีน FTA ไทย-ญี่ปุ่น ที่พอทำไปแล้ว มีผลกระทบในทางลบ กระทรวงพาณิชย์ได้มีมาตรการรองรับผลกระทบในทางลบไว้อย่างไร ตัวอย่างเช่น พอเปิด FTA ไทย-จีน ผักและผลไม้ของจีน ก็ทะลักเข้าไทย เกษตรกรรายย่อยของไทยขายผลผลิตทางเกษตรของตนไม่ได้ รัฐบาลทักษิณก็ไม่ได้มีมาตรการรองรับที่ดีพอ

ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน

เรื่องหลักๆ คือ

• การส่งเสริม และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
• การคุ้มครอง และสวัสดิการสังคม
• ความยุติธรรม และสิทธิ
• การส่งเสริมความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม
• การสร้างอัตลักษณ์อาเซียน

นี่คือเรื่องหลักๆของประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ซึ่งมีหน่วยงานของไทย ที่จะต้องเข้ามาเกี่ยวข้องมากมายหลายหน่วยงาน
ตัวอย่างเช่น การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ จะเป็นกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่เกี่ยวข้องโดยตรง ขณะนี้ ความร่วมมือในกรอบอาเซียน กระจายไปเกือบทุกกระทรวง ทบวง กรม เพราะฉะนั้น จึงมีหลายหน่วยงาน ที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับความร่วมมืออาเซียนในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และความมั่นคงของมนุษย์ ดังนั้น หน่วยงานของไทย บุคลากรของไทย ต้องมีการปรับตัวเพื่อเตรียมความพร้อมมากขึ้น ในการที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมกับประเทศอาเซียนอื่นๆ ในการจัดตั้งประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนขึ้น

ส่วนในเรื่องการคุ้มครองและสวัสดิการสังคม ก็เป็นเรื่องของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะโยงมาถึงเรื่อง สิทธิมนุษยชน สิทธิเด็ก และสิทธิสตรี ซึ่งจะเกี่ยวโยงกับหน่วยงานของไทยทางด้านสิทธิมนุษยชน ด้านสิทธิสตรี และสิทธิเด็ก เช่น กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ด้วย

สำหรับในเรื่องสิ่งแวดล้อม ก็มีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้ามาเกี่ยวข้องโดยตรง ในความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมของอาเซียน โดยมีการประชุมรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมอาเซียนอยู่เป็นประจำ

สุดท้าย เป็นเรื่องของการสร้างอัตลักษณ์อาเซียน ซึ่งเน้นว่า เราจะส่งเสริมความร่วมมือทางวัฒนธรรมระหว่างประเทศอาเซียนกันอย่างไร ซึ่งมีกระทรวงวัฒนธรรม เป็นหน่วยงานเกี่ยวข้องโดยตรง

จะเห็นได้ว่า เกือบทุกหน่วยงานของภาคราชการไทย ก็เกี่ยวข้องกับอาเซียนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง กระทรวง ทบวง กรม ที่เกี่ยวข้องกับประชาคมอาเซียน จึงต้องมีการเตรียมความพร้อม ในเรื่องของการที่จะเข้าไปมีบทบาท ซึ่งบทบาทที่สำคัญของภาคราชการไทยนั้น ไม่ใช่เพียงแต่จะปรับตัวเพื่อรองรับต่อผลกระทบของประชาคมอาเซียนเท่านั้น แต่ภาคราชการไทยจะต้องมีบทบาทในการผลักดัน และเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดตั้งประชาคมอาเซียนด้วย นอกจากนี้ ข้าราชการไทยที่เกี่ยวข้องกับประชาคมอาเซียน จะต้องมีจิตสำนึกอยู่ในใจว่า เมื่อเข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง ในฐานะที่เป็นตัวแทนของประเทศไทย เราควรจะทำอย่างไร ที่จะทำให้ไทยกลับมามีบทบาทที่โดดเด่นในเวทีอาเซียนได้อีกครั้งหนึ่ง และผลักดันประเด็นต่างๆที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อไทย

AFTAFTAประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนวัฒนธรรมสังคมอาเซียนอาเซียน-ไทยเศรษฐกิจ
Share this

The Author drprapat

ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

More Posts Like This One

asean flag_1

สถาปัตยกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาค

December 1, 2017
asean flag_1

ประชาคมอาเซียน : ไทยยังไม่พร้อม (ตอนที่ 2)

February 13, 2016
ASEAN-ARF-SINGAPORE

ไทยกับการเป็นประธานอาเซียน ปี 2019 (ตอนที่ 1)

June 24, 2018
0 Comments General

Leave A Comment Cancel reply

65 − 63 =

 
รศ.ดร.ประภัสสร์ เทพชาตรี ศ.ดร.ประภัสสร์ เทพชาตรี ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้บรรยายพิเศษในสถาบันต่างๆ อาทิ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สถาบันพระปกเกล้า มีงานเขียน งานวิจัย ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และมีคอลัมน์ประจำ "กระบวนทรรศน์" ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์และคอลัมน์ประจำ "โลกทรรศน์" ในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
  • หนังสือ "ยุทศาสตร์สหรัฐฯต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้"

  • หนังสือ "ประชาคมเอเชียตะวันออก"

  • หนังสือ "ประชาคมอาเซียน"

  • หนังสือ "สถานการณ์โลกปี 2553 และแนวโน้มปี 2554"

  • ปกนโยบายต่างประเทศ-USA-แก้-2557-07-28-at-3.05.01-PM

1/4

Calendar

January 2021
M T W T F S S
« Apr    
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031

Blog

drprapat-header-3

LINKS

คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ศึกษานโยบายระหว่างประเทศ (CIPS) ศูนย์ศึกษานโยบายระหว่างประเทศ (CIPS)

Tags

AEC al-Qaeda APEC ARF ASEAN Clinton Donald Trump EAS EU eurozone FTA G-20 ISIS Obama the rise of China TPP UN UNSC WTO การก่อการร้าย การต่างประเทศของไทย การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ ความขัดแย้ง ความขัดแย้งทะเลจีนใต้ ความมั่นคง จีน ตะวันออกกลาง ประชาคมอาเซียน ประเทศมหาอำนาจ พม่า ยุทธศาสตร์สหรัฐฯ รัสเซีย วิกฤต Eurozone สงคราม สงครามการค้า สหรัฐ สหรัฐอเมริกา สหรัฐฯ อัฟกานิสถาน อาเซียน อิหร่าน เกาหลีเหนือ เศรษฐกิจ เอเชีย ไทย