Logo
  • หน้าหลัก
  • ประวัติ
  • ผลงานวิชาการ
  • ผลงานอื่นๆ
    • หนังสือ
    • Powerpoint
    • สัมภาษณ์รายการต่างๆ
    • บทความอื่นๆ
  • Blog
  • Gallery ภาพส่วนตัว
  • ติดต่อ
Copyright, 2015 : drprapat.com - All rights reserved.
February 19, 2009
drprapat
บทความ
0

ประธานาธิบดี Obama (2)

PreviousNext

สยามรัฐสัปดาหวิจาณ์ ปีที่ 56 ฉบับที่ 19 วันศุกร์ที่ 30 มกราคม – วันพฤหัสบดีที่ 5 กุมภาพันธ์ 2552

Barack Obama ก็ได้เป็นประธานาธิบดีคนที่ 44 ของสหรัฐไปเรียบร้อยแล้ว โดยในวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา Obama ได้เข้าสู่พิธีสาบานตน เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐอย่างเป็นทางการ มีชาวอเมริกันเดินทางมาร่วมในพิธีที่กรุง Washington D.C. กว่า 2 ล้านคน และยังมีคนทั่วโลกอีกนับพันล้านคน ที่เฝ้าดูพิธีดังกล่าวทางโทรทัศน์อีกด้วย

หลังจากเข้ารับตำแหน่ง Obama ได้กล่าวสุนทรพจน์ ซึ่งสุนทรพจน์ดังกล่าว นับเป็นสุนทรพจน์แรกของ Obama ในฐานะประธานาธิบดี นับเป็นสุนทรพจน์ประวัติศาสตร์ ซึ่งในอดีต สุนทรพจน์ในตอนสาบานตนของประธานาธิบดีบางคน ได้กลายเป็นสุนทรพจน์ประวัติศาสตร์ ที่โดดเด่นมากคือ สุนทรพจน์ของ John F. Kennedy สำหรับสุนทรพจน์ของ Obama คงต้องรอให้ประวัติศาสตร์ตัดสินถึงคุณค่าของสุนทรพจน์ดังกล่าว แต่หลังจากผมฟังและอ่านดู ผมก็คิดว่าเป็นสุนทรพจน์ที่ดีเยี่ยมอันหนึ่งทีเดียว จึงอยากจะเอามาสรุป วิเคราะห์ ในคอลัมน์โลกทรรศน์ ในวันนี้

Obama เปิดฉากสุนทรพจน์โดยไม่พูดพล่ามทำเพลงมาก คือตอกย้ำปัญหาที่สหรัฐกำลังเผชิญอยู่ ซึ่งถือเป็นวิกฤติหนัก เหมือน Obama พยายามจะทำให้คนอเมริกันที่ฟังสุนทรพจน์ของเขา เตรียมตัวเตรียมใจรับมือกับภาวะวิกฤติของประเทศ

Obama ได้กล่าวว่า ขณะนี้ เรากำลังอยู่ท่ามกลางภาวะวิกฤติ ประเทศยังอยู่ในสภาวะสงคราม โดยเฉพาะกับเครือข่ายการก่อการร้ายสากล เศรษฐกิจของประเทศก็เจอมรสุมหนัก ซึ่งเป็นผลมาจากการไม่รับผิดชอบของคนบางกลุ่ม และเป็นผลมาจากการล้มเหลวของสหรัฐ ในการที่จะตัดสินใจเลือกทางเลือก และเตรียมตัวประเทศสำหรับเศรษฐกิจยุคใหม่

แต่ถึงแม้ Obama จะพูดถึงวิกฤติ ต่อมาในสุนทรพจน์ก็ได้กล่าวว่า ถึงแม้เราจะเผชิญกับสิ่งท้าทายมากมาย แต่ Obama ก็จะพยายามกระตุ้นให้คนอเมริกัน มีความหวังและความมุ่งมั่นที่จะกอบกู้วิกฤติ

โดย Obama ได้กล่าวว่า ในวันนี้ พวกเรามารวมกันอยู่ที่นี่ เพราะเราเลือกความหวังเหนือความกลัว และเราเลือกความสามัคคีเหนือความขัดแย้ง

Obama ได้กระตุ้นชาวอเมริกันว่า ถึงเวลาแล้วที่เราจะตอกย้ำจิตวิญญาณของชาวอเมริกันที่จะเลือกประวัติศาสตร์ที่ดีกว่า ที่จะเดินหน้าต่อไป ที่จะผลักดันแนวความคิดที่สูงส่งที่ได้ส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่น และสิ่งนี้ก็คือ สิ่งที่พระเจ้าได้ประทานให้ว่า ทุกคนจะต้องเท่าเทียมกัน ทุกคนจะต้องมีเสรีภาพ และทุกคนจะต้องมีโอกาสที่จะแสวงหาความสุขของตน

Obama ได้ตอกย้ำว่า ความยิ่งใหญ่ของสหรัฐนั้นไม่ได้ได้มา โดยอยู่เฉยๆ แต่เราต้องสร้างมันขึ้นมา ความยิ่งใหญ่ของสหรัฐถูกสร้างขึ้นมาด้วยความอุตสาหะของชาวอเมริกัน ชาวอเมริกันทั้งชายและหญิงตลอดเวลาที่ผ่านมา ได้ต่อสู้และเสียสละ และทำงานเพื่อหวังจะมีชีวิตที่ดีกว่า นี่คือการเดินทางในอดีตของชาวอเมริกัน และเราก็กำลังเดินทางในเส้นทางนั้นอยู่

Obama กล่าวอย่างภาคภูมิใจว่า สหรัฐยังคงเป็นประเทศที่มีพลังอำนาจมากที่สุดและร่ำรวยที่สุดในโลก แต่เวลาของการปกป้องผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม และการไม่กล้าตัดสินใจ เวลานั้นได้ผ่านไปแล้ว นับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เราจะลุกขึ้นยืนและเริ่มเดินหน้าเพื่อปฏิรูปอเมริกา

มีบางคนยังคงตั้งคำถามต่อความทะเยอทะยานของเรา และบอกว่าอาจจะเป็นความทะเยอทะยานมากเกินไป แต่ Obama ได้ตอบโต้ว่า คนที่ไม่เชื่อในเรื่องของการปฏิรูป คือคนที่ไม่เข้าใจว่า ขณะนี้ รากฐานของอเมริกาได้เปลี่ยนไปแล้ว การถกเถียงกันทางการเมืองในอดีต ใช้ไม่ได้อีกแล้ว คำถามที่เราจะถามวันนี้ จะไม่ใช่คำถามที่ว่า รัฐบาลจะเล็กไปหรือใหญ่ไป แต่จะเป็นคำถามว่า รัฐบาลจะทำงานได้หรือไม่ และคงจะไม่มีคำถามว่า กลไกตลาดจะดีหรือเลว คำตอบก็คือว่า พลังอำนาจของกลไกตลาดได้สร้างความมั่งคั่ง แต่จากวิกฤติที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ได้ทำให้เราตระหนักว่า หากไม่มีกลไกตรวจสอบ กลไกตลาดอาจจะเดินหน้าไปอย่างควบคุมไม่ได้

สำหรับในเรื่องนโยบายต่างประเทศนั้น Obama ได้ตอกย้ำประเด็นเดียวกัน ในแง่ที่ว่า เราจำเป็นจะต้องเลือกหรือไม่ ระหว่างความมั่นคงปลอดภัยกับอุดมการณ์ของเรา ซึ่ง Obama ก็ปฏิเสธว่า เราไม่ต้องเลือก เราสามารถทำทั้งสองสิ่งได้ โดยกล่าวว่า รัฐธรรมนูญของสหรัฐได้ให้ความสำคัญกับนิติธรรมและสิทธิมนุษยชน อุดมการณ์ดังกล่าวยังคงใช้ได้กับประชาคมโลก ดังนั้น Obama จึงได้ประกาศต่อประชาคมโลกว่า สำหรับประชาชนทุกคนและทุกรัฐบาลที่เฝ้าดูการกล่าวสุนทรพจน์อยู่ในขณะนี้ ควรจะรู้ว่า อเมริกาเป็นมิตรกับทุกประเทศและกับทุกคน โดยเฉพาะทุกคนที่แสวงหาอนาคตสำหรับสันติภาพและเกียรติภูมิ และอเมริกาก็พร้อมที่จะเป็นผู้นำของประชาคมโลกอีกครั้งหนึ่ง

Obama ได้ย้อนกลับไปกล่าวถึงการต่อสู้กับลัทธิ Fascism และ Communism ซึ่งชัยชนะครั้งนั้น ไม่ได้มาจากอาวุธ แต่มาจากอุดมการณ์ที่มุ่งมั่นและการสร้างพันธมิตรที่เหนียวแน่น ชาวอเมริกันในรุ่นนั้นเข้าใจดีว่า อำนาจอย่างเดียวไม่สามารถปกป้องเราได้ และอเมริกาไม่มีสิทธิ์จะใช้อำนาจตามอำเภอใจ อำนาจจะเพิ่มมากขึ้นด้วยการใช้อย่างมีความชอบธรรม ความมั่นคงปลอดภัยของสหรัฐเกิดขึ้น จากเป้าหมายที่มีความชอบธรรม และพลังอำนาจจากการที่อเมริกาเป็นตัวอย่างที่ดีในสังคมโลก

Obama จึงได้กล่าวว่า หากเราใช้หลักการข้างต้นที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว มานำทาง เราก็สามารถที่จะเผชิญกับภัยคุกคามใหม่ๆได้ แต่ภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ก็ต้องการความร่วมมือระหว่างประเทศและความเข้าใจระหว่างประเทศมากขึ้น ดังนั้น หากสหรัฐเดินตามแนวความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในแนวนี้ สหรัฐก็จะปลดปล่อยประเทศอิรักไปสู่ชาวอิรัก ผลักดันสันติภาพให้เกิดขึ้นในอัฟกานิสถาน พยายามลดภัยคุกคามจากอาวุธนิวเคลียร์ และแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน

อย่างไรก็ตาม Obama ยังมีท่าทีแข็งขันโดยเฉพาะกับเรื่องการก่อการร้าย แม้ว่าเรื่องอื่นๆจะมีท่าทีประนีประนอมอย่างมาก ทั้งนี้ เพราะ Obama คงรู้ดีว่า ชาวอเมริกันยังห่วงกังวลเกี่ยวกับเรื่องการก่อการร้าย โดย Obama ได้ประกาศกร้าวว่า แต่สำหรับกลุ่มที่มีเป้าหมายในการก่อการร้ายและเข่นฆ่าผู้บริสุทธิ์ Obama ก็พูดกับกลุ่มนี้ว่า จิตวิญญาณของเราจะยิ่งแข็งแกร่งขึ้น และไม่มีทางถูกทำลาย และพวกคุณไม่มีทางที่จะชนะเรา และเราจะชนะกลุ่มก่อการร้ายในที่สุด

ในตอนท้ายของสุนทรพจน์ Obama ได้พยายามที่จะฉายให้เห็นภาพว่า สหรัฐจะสามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งทางด้านอารยธรรมได้ โดย Obama ประกาศว่า มรดกตกทอดของสหรัฐนั้น ถือเป็นความแข็งแกร่งไม่ใช่ความอ่อนแอ โดยบอกว่า อเมริกาคือประเทศชาติของทั้งชาวคริสต์และมุสลิม ทั้งของชาวยิวและฮินดู อเมริกาได้ถูกหล่อหลอมด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรมจากทุกๆแห่งในโลก และอเมริกาได้ผ่านบทเรียนอันแสนสาหัสมาแล้วจากสงครามกลางเมืองและการแบ่งแยกสีผิว และทำให้อเมริกาในปัจจุบันมีความสามัคคีและเข้มแข็งขึ้น จากประสบการณ์ดังกล่าว ทำให้เราเชื่อว่า ความขัดแย้งในรูปแบบเก่ากำลังจะหมดไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ และเมื่อโลกกำลังจะเล็กลงเรื่อยๆ ความเป็นมนุษยชาติร่วมกันก็จะเปิดเผยชัดเจนขึ้น

Obama จึงได้กล่าวกับโลกมุสลิมว่า อเมริกาหวังว่าเราจะแสวงหาหนทางที่เดินไปข้างหน้าด้วยกัน บนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกัน และความเคารพซึ่งกันและกัน

ในตอนจบ Obama ได้กล่าวถึงประชาชนในประเทศยากจนว่า อเมริกามีความมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือคนยากจนทั่วโลก และได้กล่าวกับประเทศร่ำรวยทั้งหลายว่า ประเทศร่ำรวยคงไม่สามารถที่จะนิ่งเฉยต่อความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นในประเทศยากจนได้ และประเทศร่ำรวยจะไม่สามารถบริโภคทรัพยากรของโลก โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบได้อีกต่อไป โลกได้เปลี่ยนไปแล้ว และอเมริกาก็จะต้องเปลี่ยนไปด้วย

กล่าวโดยสรุป ผมคิดว่า สุนทรพจน์ของ Obama หลังการสาบานตนในครั้งนี้ ถือเป็นสุนทรพจน์ที่ดีเยี่ยมอีกครั้งหนึ่ง เป็นสุนทรพจน์ประวัติศาสตร์ และ Obama ได้ทำสำเร็จอีกครั้งในการขายฝันให้แก่ชาวอเมริกันและชาวโลก แต่สิ่งที่ยากกว่าการขายฝันก็คือ การสานฝันให้เป็นจริง ดังนั้น เราคงจะต้องจับตาดูกันต่อไปว่า Obama จะประสบความสำเร็จในการสานฝันให้เป็นจริง และเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ของสหรัฐและของโลกได้หรือไม่

Share this

The Author drprapat

ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

0 Comments General

Leave A Comment Cancel reply

+ 73 = 79

 
รศ.ดร.ประภัสสร์ เทพชาตรี ศ.ดร.ประภัสสร์ เทพชาตรี ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้บรรยายพิเศษในสถาบันต่างๆ อาทิ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สถาบันพระปกเกล้า มีงานเขียน งานวิจัย ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และมีคอลัมน์ประจำ "กระบวนทรรศน์" ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์และคอลัมน์ประจำ "โลกทรรศน์" ในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
  • หนังสือ "ยุทศาสตร์สหรัฐฯต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้"

  • หนังสือ "ประชาคมเอเชียตะวันออก"

  • หนังสือ "ประชาคมอาเซียน"

  • หนังสือ "สถานการณ์โลกปี 2553 และแนวโน้มปี 2554"

  • ปกนโยบายต่างประเทศ-USA-แก้-2557-07-28-at-3.05.01-PM

1/4

Calendar

April 2021
M T W T F S S
« Apr    
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930  

Blog

drprapat-header-3

LINKS

คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ศึกษานโยบายระหว่างประเทศ (CIPS) ศูนย์ศึกษานโยบายระหว่างประเทศ (CIPS)

Tags

AEC al-Qaeda APEC ARF ASEAN Clinton Donald Trump EAS EU eurozone FTA G-20 ISIS Obama the rise of China TPP UN UNSC WTO การก่อการร้าย การต่างประเทศของไทย การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ ความขัดแย้ง ความขัดแย้งทะเลจีนใต้ ความมั่นคง จีน ตะวันออกกลาง ประชาคมอาเซียน ประเทศมหาอำนาจ พม่า ยุทธศาสตร์สหรัฐฯ รัสเซีย วิกฤต Eurozone สงคราม สงครามการค้า สหรัฐ สหรัฐอเมริกา สหรัฐฯ อัฟกานิสถาน อาเซียน อิหร่าน เกาหลีเหนือ เศรษฐกิจ เอเชีย ไทย