ประเมิน 3 ปีนโยบายต่างประเทศของไทย

คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ ผมจะประเมินนโยบายต่างประเทศของไทย ในสมัยรัฐบาล คสช ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาดังนี้
Year 1
นโยบายต่างประเทศของไทย ปีแรก ช่วงปี 2014 รัฐบาลมาจากการรัฐประหาร เรื่องหลัก คือ นโยบายต่างประเทศจะทำอย่างไร ที่จะสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาล และสร้างภาพลักษณ์ในด้านต่างๆ สร้างความเข้าใจให้กับนานาชาติ เข้าใจการเมืองไทย ปีแรก จึงเป็นลักษณะเชิงตั้งรับมากกว่า ปีแรกไม่มีอะไรมาก
Year 2
ปีที่ 2 เริ่มมีประเด็นของสหรัฐที่มาบีบรัฐบาล คสช. ทำให้รัฐบาลต้องพยายามที่จะเข้าหาจีนมากขึ้น ในปี 2015 ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ ค่อนข้างที่จะตกต่ำมาก และทำให้ไทยเข้าไปใกล้ชิดกับจีนมากขึ้น
คำถามสำคัญ คือ การเอียงเข้าหาจีน จะเป็น tactical move หรือ strategic move คือ การเอียงเข้าหาจีน จะเป็นชั่วคราวหรือถาวร ซึ่งผมคิดว่า น่าจะเป็น tactical move หรือชั่วคราว มากกว่าที่จะเข้าหาจีนแบบถาวร ไทยเล่นไพ่จีนกับอเมริกาอยู่
สำหรับในเรื่องอื่นๆ รัฐบาลยังไม่มีนโยบายในเชิงรุก ยังไม่นิ่ง ว่าจะเอาอย่างไรกับทางด้านการต่างประเทศ ไทยยังเน้น inward looking วุ่นเรื่องภายในประเทศ การปฏิรูปประเทศ การต่างประเทศ ถือเป็นเรื่องรอง บทบาทไทยในอาเซียน และในภูมิภาคอื่นๆ ไม่โดดเด่นอะไรนัก
Year 3
ปีที่ 3 เริ่มเห็นชัดเจนว่า รัฐบาลมีเสถียรภาพมากขึ้น เริ่มจะมีการจัดทำยุทธศาสตร์ 20 ปี ยุทธศาสตร์ด้านต่างๆ รวมทั้งยุทธศาสตร์ด้านการต่างประเทศ ชัดเจนมากขึ้น ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาประเทศก็ชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ที่จะให้ไทยเป็น hub ของประชาคมอาเซียน มีการพูดมากขึ้นเรื่อยๆ ในการให้ไทยเป็น hub ในด้านต่างๆของอาเซียน รวมทั้งเรื่องของ Thailand 4.0 ทำให้ไทยชัดเจนมากขึ้น สำหรับ road map ที่จะเดินต่อไป
ปีที่ผ่านมา เริ่มมีการเสนอแนวคิดว่า จะทำอย่างไรให้ไทยสามารถเดินหน้าสู่อาเซียน 4.0 เพื่อเชื่อมโยงกับ Thailand 4.0
ASEAN Hub
ไทยเริ่มมีนโยบายในเชิงรุก มีโครงการ มีการขยับเรื่องต่างๆ มากขึ้น ในเรื่องนโยบายต่างประเทศ เช่น เรื่องการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษกับประเทศเพื่อนบ้าน การจัดประชุม CLMVT ทำให้เห็นชัดเจนว่า ไทยต้องการเน้นความสัมพันธ์กับ 4 ประเทศนี้ คือ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม หรือที่เรียกย่อๆว่า กลุ่ม CLMV และมี T คือไทย พ่วงเข้าไปด้วย กลายเป็น CLMVT โดยเฉพาะเรื่องการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้รับความสำคัญเป็นพิเศษ
มหาอำนาจ
เรื่องที่ 2 ที่ปีที่แล้ว ค่อนข้างจะโดดเด่น ในเรื่องการต่างประเทศ คือ เรื่องความสัมพันธ์ไทยกับมหาอำนาจ
ไทยให้ความสำคัญกับจีนมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเจรจาโครงสร้างพื้นฐานกับจีน การดึงเอาจีนเข้ามาช่วย Thailand 4.0
สำหรับญี่ปุ่น ไทยก็พยายามเข้าหาด้วย โดยเน้นความร่วมมือดึงญี่ปุ่นมาลงทุนในโครงการระเบียงเศรษฐกิจตะวันตก – ตะวันออก (East – West Economic Corridor) และโครงการการลงทุนทวายด้วย นอกจากนี้ มีการเจรจากับญี่ปุ่น เรื่องรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ -เชียงใหม่ และล่าสุด รัฐบาลมีโครงการ Eastern Economic Corridor หรือ EEC โดยจะดึงประเทศต่างๆโดยเฉพาะญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนด้วย
จะเห็นได้ว่า ปีที่ผ่านมา ไทยกระจายความสัมพันธ์กับมหาอำนาจมากขึ้น มีความสมดุลมากขึ้น โดยไทยเน้นกระชับความสัมพันธ์กับ จีน ญี่ปุ่น รัสเซีย อินเดีย
แต่ที่ยังติดขัดอยู่คือ สหรัฐ เพราะเป็นช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีใหม่ ทุกอย่างจึงหยุด และต้องรอว่า ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐ คือ Donald Trump จะมีท่าทีอย่างไรต่อไทย จนเมื่อเร็วๆนี้ เริ่มเห็นชัดเจนว่า Trump เริ่มส่งสัญญาณที่จะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับไทย Trump ได้โทรศัพท์มาหา นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงทำให้ไทยมีไพ่สหรัฐอยู่ในมือเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งใบ เพราะสหรัฐไม่กดดันไทยแล้ว และกำลังจะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับไทย
Grade : B
สรุปการประเมินนโยบายต่างประเทศของไทยในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา ปีที่แล้วนโยบายต่างประเทศของไทยโดดเด่นมากขึ้น มีนโยบายในเชิงรุกมากขึ้น ผมจึงให้ grade B แต่ยังไม่ถึง grade A เพราะนโยบายยังไม่ชัดเจนและการดำเนินนโยบายยังไม่สมบูรณ์ เช่น ยุทธศาสตร์อาเซียนยังไม่ชัดเจน ยุทธศาสตร์ไทยกับมหาอำนาจยังไม่ชัดเจน
อนาคตนโยบายต่างประเทศของไทย
ไทยยังไม่มี grand strategy ทางด้านการต่างประเทศ ยังไม่มียุทธศาสตร์ว่า ไทยต้องการอะไรในระยะยาว
ASEAN Hub
ความสัมพันธ์ไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ขณะนี้ยังไม่มีอะไรในเชิงลบ แต่ก็ไม่มีอะไรในเชิงบวก ไม่มีอะไรโดดเด่น ที่จะสามารถพลิกฟื้นสถานการณ์บทบาทไทย ให้โดดเด่นขึ้นมา กลายเป็น hub ของอาเซียนได้อย่างแท้จริง จีนมี grand strategy คือ OBOR หรือ One Belt One Road และจีนก็ผลักดันเต็มที่ เพิ่งมีการจัดประชุม OBOR Summit ที่กรุงปักกิ่งอย่างยิ่งใหญ่ ไทยน่าจะมี grand strategy หรือ big project แบบนี้กับอาเซียนบ้าง
ดุลยภาพ ไทย – มหาอำนาจ
ความสัมพันธ์ไทยกับมหาอำนาจ ยังต้องดูให้ดีต่อไปในอนาคต
มีคำถามว่า ทำไมนายกรัฐมนตรีของไทยไม่เข้าร่วมประชุม OBOR Summit เกิดอะไรขึ้นกับความสัมพันธ์ไทย-จีน การประชุม OBOR Summit ผู้นำจากประเทศหลักๆที่เส้นทาง OBOR ผ่าน และผู้นำอาเซียนไปเกือบหมดทุกประเทศ ยกเว้นไทย
ไทยมีความสำคัญต่อมหาอำนาจแค่ไหน ถ้าไทยมีเศรษฐกิจที่มีศักยภาพโดดเด่น เป็นศูนย์กลางทางด้านเศรษฐกิจของอาเซียน มหาอำนาจจะสนใจไทย เพราะมีผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ ไทยมีศักยภาพทางด้านนี้อยู่ มหาอำนาจมองข้ามไทยไปไม่ได้
ยุทธศาสตร์หลักของสหรัฐ คือ สหรัฐจะต้องคงบทบาทในภูมิภาคนี้ไว้ ต้องแข่งกับจีน โดยสหรัฐจะต้องดึงไทยไว้ ไม่ให้ไปเป็นพวกจีน ดังนั้น ไทยจึงมีความสำคัญในเกมภูมิรัฐศาตร์ การแข่งขันระหว่างสหรัฐกับจีน
แต่ไทยจะกลายเป็นเบี้ยของมหาอำนาจ หรือไทยจะใช้มหาอำนาจหนึ่ง เป็นไพ่ต่อรองกับอีกมหาอำนาจหนึ่ง แต่ ไพ่จีน ไพ่สหรัฐ อาจเป็นดาบสองคม ไทยใกล้ชิดสหรัฐ จีนก็จะไม่พอใจ ขณะเดียวกัน หากไทยใกล้ชิดกับจีน สหรัฐก็จะไม่พอใจ และทั้งจีนและสหรัฐก็จะพยายามมาบีบไทยให้เลือกข้าง
สรุป ไทยในอนาคต นโยบายต่างประเทศในระยะยาว ไทยจะต้องสร้างดุลยภาพความสัมพันธ์ไทยกับมหาอำนาจให้ได้