Logo
  • หน้าหลัก
  • ประวัติ
  • ผลงานวิชาการ
  • ผลงานอื่นๆ
    • หนังสือ
    • Powerpoint
    • สัมภาษณ์รายการต่างๆ
    • บทความอื่นๆ
  • Blog
  • Gallery ภาพส่วนตัว
  • ติดต่อ
Copyright, 2015 : drprapat.com - All rights reserved.
May 18, 2011
drprapat
บทความ
0

ปัญหาความขัดแย้งไทย-กัมพูชา

PreviousNext

ตีพิมพ์ใน ไทยโพสต์ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 5 พฤษภาคม 2554

ปัญหาความขัดแย้งไทย-กัมพูชา ได้ลุกลามใหญ่โตขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ในช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์ปัญหาดังกล่าว ดังนี้
ภูมิหลัง

ความขัดแย้งไทย-กัมพูชา เป็นปัญหายืดเยื้อมานาน นับตั้งแต่กรณีเข้าพระวิหาร มาจนถึงการปะทะกันครั้งล่าสุดเมื่อช่วงปลายเดือนเมษายน

ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ได้เกิดการปะทะกันขึ้นมาครั้งหนึ่งแล้ว ในครั้งนั้น กัมพูชาเสนอเรื่องไปที่ UNSC และในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ UNSC ได้ประชุมพิจารณาเรื่องความขัดแย้งไทย-กัมพูชาเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ความขัดแย้ง ถือเป็นความพ่ายแพ้ทางการทูตครั้งใหญ่ของไทย ที่ไม่ต้องการให้เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นปัญหาระหว่างประเทศ เพราะไทยคิดว่า เจรจา 2 ฝ่าย ไทยจะได้เปรียบ แต่ถ้ากลายเป็นปัญหาระหว่างประเทศ มี UN เข้ามายุ่ง หรือมีอาเซียนเข้ามายุ่ง จะทำให้ไทยเสียเปรียบ เพราะอาจมีบางประเทศถือหางกัมพูชา ในทางกลับกัน กัมพูชาพยายามยกระดับปัญหานี้ โดยดึงเอา UN และอาเซียนเข้ามา ซึ่งก็ประสบความสำเร็จ

ผลการประชุม UNSC ออกมาว่า ให้ทั้ง 2 ฝ่ายหยุดยิงอย่างถาวร และแก้ปัญหาโดยการเจรจา และสนับสนุนให้อาเซียนมีบทบาทในการแก้ปัญหา

ต่อมา ได้มีการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ที่อินโดนีเซีย การที่อาเซียนเข้ามามีบทบาท ถือเป็นความพ่ายแพ้ทางการทูตครั้งใหญ่ของไทยเช่นกัน โดยน่าจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของอาเซียน ที่ได้เข้ามามีบทบาทในการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศสมาชิก

หลังจากการประชุม หลายๆฝ่ายมองว่า สถานการณ์น่าจะคลี่คลาย เพราะฝ่ายไทยกับฝ่ายกัมพูชาจะได้มาเจรจากัน ทางอินโดนีเซียก็จะเข้ามาช่วย โดยเฉพาะการจะส่งผู้สังเกตการณ์เข้ามา

แต่ในที่สุด ความคาดหวังก็ล้มเหลวหมด โดยเกิดการปะทะกันครั้งใหม่ ในช่วงปลายเดือนเมษายน ผมมองว่า สิ่งที่ควรจะเกิดและมีผลลัพท์ในทางบวก ก็ล้มเหลว โดยไม่มีความคืบหน้าทางการทูต มาตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ แม้ว่าจะมีการประชุม JBC ที่โบกอร์ อินโดนีเซีย แต่ก็ไม่ได้มีผลอะไรที่เป็นรูปธรรม การประชุม GBC ก็ถูกยกเลิกการประชุมไป เพราะไทยแสดงท่าทีไม่อยากไปประชุมที่อินโดนีเซีย รวมถึงเรื่องสถานะของผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซีย ที่ควรจะดำเนินการให้รวดเร็ว แต่ก็ติดขัดมาโดยตลอด

ท่าทีของไทย ก็มีความแตกแยก โดยกระทรวงต่างประเทศคิดแบบหนึ่ง ฝ่ายทหารคิดอีกแบบหนึ่ง ทางกระทรวงต่างประเทศมองในแง่ของการประนีประนอม ในเรื่องการให้อินโดนีเซียส่งผู้สังเกตการณ์เข้ามา ส่วนทางฝ่ายทหารมีท่าทีแข็งกร้าว ไม่ยอม เพราะฉะนั้น ฝ่ายไทยจึงตกลงกันไม่ได้

ตรงนี้อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ทางกัมพูชาคิดว่า จะต้องทำอะไรสักอย่างหนึ่ง เพราะเป้าหมายสูงสุดของกัมพูชา คือ ความต้องการขยายปัญหานี้ให้ไปสู่ระดับสากล คือ เวที UNSC ซึ่งวิถีทางที่จะนำไปสู่ UNSC คือ ต้องขยายความขัดแย้งนี้ให้รุนแรงมากขึ้น ให้กลายเป็นสงครามเต็มรูปแบบ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ก็แน่นอนว่า UNSC จะต้องเข้ามายุ่งแน่ โดยกัมพูชาหวังว่า เมื่อ UN เข้ามาแล้ว ความพยายามผลักดันเรื่องแผนการจัดการเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชา จะประสบความสำเร็จ และอาจนำไปสู่การอ้างกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่ทับซ้อน แต้มต่อของกัมพูชา คือ การเป็นประเทศเล็ก ซึ่งเมื่อมีเรื่องกับประเทศใหญ่ คือ ไทย ก็จะได้รับความเห็นใจ

ส่วนเป้าหมายของไทย ก็เช่นเดียวกัน คือ การป้องกันไม่ให้เสียดินแดน โดยเฉพาะเขตพื้นที่ทับซ้อน ไทยกลัวว่า แผนการจัดการพื้นที่โดยรอบเขาพระวิหาร ซึ่งจะกินเข้ามาสู่พื้นที่ทับซ้อน อาจจะนำไปสู่การเสียดินแดนในอนาคตได้ ยุทธศาสตร์ของไทย คือ การจำกัดวงให้ปัญหาเป็นปัญหาทวิภาคี และไม่ให้ลุกลามเป็นปัญหาพหุภาคี ซึ่งจะเข้าทางกัมพูชา และยุทธศาสตร์อีกประการ คือ การชะลอไม่ให้ UNESCO รับรองแผนการจัดการพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหารของกัมพูชา

แนวโน้ม

สำหรับแนวโน้มของสถานการณ์ กำลังจะคลี่คลายเข้าสู่กระบวนการทางการทูต โดยในวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมา รัฐมนตรีกษิต ได้พบปะหารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย และได้เจรจาตกลงในเรื่องสถานะของผู้สังเกตการณ์เรียบร้อยแล้ว และในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียนที่อินโดนีเซีย ในวันที่ 7-8 พฤษภาคมนี้ ก็มีความเป็นไปได้ว่า นายกฯอภิสิทธิ์ อาจจะได้มีโอกาสหารือกับ ฮุน เซน และในช่วงกลางเดือนนี้ จะมีการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน ก็มีความเป็นไปได้ว่า รัฐมนตรีกลาโหมไทยกับกัมพูชา อาจจะได้มีโอกาสหารือกัน เพื่อเตรียมการสำหรับการประชุม GBC

อีกเวทีหนึ่งที่จะต้องจับตามอง คือ UNESCO และการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ที่จะประชุมกันในวันที่ 25 พฤษภาคมนี้ โดยไทยได้เรียกร้องให้ชะลอการขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยได้บอกว่าการขึ้นทะเบียนเป็นต้นเหตุของความขัดแย้ง และผลกระทบของการขึ้นทะเบียน โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับแผนบริหารจัดการพื้นที่ปราสาทเขาพระวิหาร ซึ่งมีปัญหาเป็นพื้นที่ทับซ้อน และน่าจะรอจนกว่า การดำเนินงานด้านเขตแดน โดย JBC จะแล้วเสร็จ

อย่างไรก็ตาม เมื่อช่วงปลายเดือนเมษายน กัมพูชาได้ทิ้งไพ่ใบสำคัญลงมาอีกใบหนึ่ง โดยได้ยื่นเรื่องต่อศาลโลก เพื่อให้ตีความใหม่เกี่ยวกับคำตัดสินเกี่ยวกับกรณีเขาพระวิหาร เมื่อปี 1962 โดยขอให้ตีความคำตัดสินที่บอกว่า เขาพระวิหารเป็นของกัมพูชานั้น จะรวมถึงเขตพื้นที่ทับซ้อนหรือไม่ หลังจากมีข่าวเรื่องนี้ออกมา นายกฯอภิสิทธิ์ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ได้เตรียมตัวที่จะต่อสู้ทางกฎหมายในเรื่องนี้ไว้แล้ว โดยหากศาลโลกตัดสินใจที่จะพิจารณาคำร้องของกัมพูชา ก็อาจจะต้องใช้เวลาอีก 2 ปี กว่าที่จะตีความออกมา
ข้อเสนอท่าทีไทย

จากสถานการณ์และแนวโน้มดังกล่าวข้างต้น ผมขอเสนอว่า ไทยควรจะมีท่าที ดังนี้

• ไทยต้องการเน้นกลไกทวิภาคี ซึ่งถ้าจะเจรจาทวิภาคีได้นั้น ตบมือข้างเดียวไม่ดัง ทั้ง 2 ฝ่าย
ต้องเห็นด้วย แต่สิ่งที่เรามองข้ามไป คือ ในอดีต กลไกทวิภาคีใช้ได้ เพราะทางฝ่ายกัมพูชา ยินดีที่จะเจรจากับฝ่ายไทย และไม่ได้มองว่า จะต้องไปดึงเอาใครเข้ามาช่วย แต่มันเกิดอะไรขึ้น ที่ทำให้กัมพูชา ในขณะนี้ ไม่ไว้ใจไทยในการเจรจาทวิภาคี และไม่อยากที่จะเจรจาทวิภาคีกับไทย กัมพูชาจึงต้องพยายามอย่างเต็มที่ ที่จะผลักดันเรื่องนี้ให้ไปสู่เวทีพหุภาคี เราต้องหาคำตอบว่า จะทำอย่างไร ให้กัมพูชากลับมาให้ความไว้วางใจต่อเวทีทวิภาคีอีกครั้งหนึ่ง

• แต่ขณะนี้ มันได้เลยจุดที่เราจะปิดห้องคุยกันเพียง 2 คนไปแล้ว ไทยไม่สามารถจำกัดวงให้
เป็นเวทีทวิภาคีเพียงอย่างเดียวได้อีกต่อไป เพราะอาเซียนกับ UN ได้เข้ามายุ่งแล้วตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ไทยจึงต้องยอมรับความเป็นจริงว่า ขณะนี้ กลไกเจรจามีลักษณะเป็นเวทีคู่ขนาน คือ มีกลไกทวิภาคีและกลไกพหุภาคีอยู่คู่กัน โดยเปรียบเหมือนว่า แม้ว่าเราจะปิดห้องคุยกัน 2 คน (ทวิภาคี) แต่ในห้องนั้น ก็มีคนอยู่เต็มไปหมด (พหุภาคี) ที่คอยดู และบางคนก็เข้ามายุ่งเกี่ยวด้วย ในการคุยกันของ 2 คนนั้น

• ไทยจึงควรจะต้องปรับนโยบายใหม่ โดยยอมรับความเป็นจริงว่า ขณะนี้ ปัญหาได้บานปลายออกไปแล้ว โดยไทยน่าจะมุ่งเป้าไปที่เป้าหมายสูงสุดของเรา คือ เราจะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างไร แทนที่จะมาหมกมุ่นอยู่กับการถกเถียงในการตีความว่า เรื่องความขัดแย้งไทย-กัมพูชา เป็นเรื่องทวิภาคีหรือเรื่องพหุภาคีกันอยู่ไม่จบไม่สิ้น

• ไทยควรจะวางตัวเป็นผู้ใหญ่ ไม่ไปเถียงกับเด็ก ควรจะมีความอดกลั้นมากกว่านี้ ควรจะมีความใจเย็นมากกว่านี้ ผมคิดว่า เราใจร้อนเกินไป แข็งกร้าวเกินไป เราควรพยายามหาลู่ทางนำไปสู่กระบวนการเจรจาทางการทูต เพื่อที่จะแก้ไขปัญหานี้อย่างสันติวิธี และหาสูตรที่ลงตัวในการเจรจา แม้ว่าทางฝ่ายกัมพูชาจะมีท่าทีแข็งกร้าวและยั่วยุ แต่ก็เป็นเรื่องปกติ เปรียบเหมือนกับกัมพูชาเป็นเด็ก ก็อาจจะโยเย งอแง และเกเร แต่ในแง่ของไทย ที่เป็นประเทศที่ใหญ่กว่า เมื่อมีเรื่องกัน ก็เหมือนกับผู้ใหญ่มีเรื่องกับเด็ก คนอื่นก็ต้องมองว่า เรารังแกเด็ก เราจึงเสียเปรียบในสายตาประชาคมโลก

• ผมมองว่า ช่องทางการเจรจาทางการทูตยังไม่ได้ถูกปิดและยังไม่ถึงทางตัน เพราะยังมีช่องทางการเจรจาอีกหลายช่องทาง นายกฯอภิสิทธิ์ ก็จะเจอกับนายกฯฮุน เซน ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ในเดือนพฤษภาคม รัฐมนตรีต่างประเทศ และรัฐมนตรีกลาโหม ก็กำลังจะเจอกัน สิ่งเหล่านี้ เป็นนิมิตหมายที่ดี ที่กระบวนการทางการทูตกำลังจะกลับมาแก้ไขปัญหาความขัดแย้งนี้

• ผมขอเน้นว่า เป้าหมายของไทย คือ ไม่ต้องการให้เรื่องลุกลามกลับไปที่ UNSC อีก แต่ทางกัมพูชา ก็มีเป้าหมายตรงกันข้าม ยุทธศาสตร์ของกัมพูชา ที่จะให้เรื่องนี้กลับไปที่ UNSC คือ ต้องทำให้ความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้น และทำให้การประชุมทวิภาคีและการประชุมอาเซียนล้มเหลว ดังนั้น ยุทธศาสตร์ของไทย คือ ต้องไม่ให้เข้าทางกัมพูชา ไทยต้องป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งลุกลามบานปลาย ต้องทำให้การประชุมทวิภาคีและการประชุมอาเซียนประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหานี้

จุดล่อแหลมที่เรื่องนี้อาจจะกลับไปที่ UNSC อีกครั้ง คือ ในเดือนมิถุนายนนี้ ฝรั่งเศสจะเป็นประธาน UNSC และเราก็รู้ดีว่า ฝรั่งเศสสนับสนุนกัมพูชามาโดยตลอด ฝันร้ายของไทยจะมาถึง หาก UNSC จะมาพิจารณาเรื่องนี้อีกครั้ง ซึ่งผมเดาว่า การพิจารณาครั้งที่ 2 นี้ UN คงจะเข้ามายุ่งเต็มตัว โดยอาจจะมีข้อมติออกมา และจะมีการส่งผู้สังเกตการณ์ของ UN เข้ามา หรือถ้าจะเป็น worst-case scenario ของไทย คือการที่ UN จะส่งกองกำลังรักษาสันติภาพเข้ามาในเขตพื้นที่ทับซ้อน

• การปะทะกันทางทหารเป็นดาบ 2 คม โดยทางกัมพูชาต้องการให้เกิดการปะทะเพื่อผลักดันเรื่องไป UNSC ส่วนไทยก็อาจจะมองว่า การปะทะกันทางทหาร อาจจะเป็นการส่งสัญญาณให้ UNESCO ชะลอในเรื่องการขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก ดังนั้น ไทยจึงต้องชั่งน้ำหนักให้ดีว่า การปะทะกันทางทหาร จะช่วยใครกันแน่ คือ จะช่วยกัมพูชานำเรื่องเข้า UNSC หรือจะช่วยไทยในการชะลอเรื่องมรดกโลก

• กล่าวโดยสรุป ทางออกของความขัดแย้งไทย-กัมพูชา หัวใจ คือ การเจรจา ประนีประนอม โดยในขั้นต้น จะต้องมีการหยุดยิงและถอนทหารออกจากเขตพิพาท หลังจากนั้น จะต้องมีการเจรจากันในรายละเอียด ซึ่งมีหลายเรื่อง ทั้งเรื่องการปักปันเขตแดน ปัญหาเขตทับซ้อน ปัญหาการขึ้นทะเบียนมรดกโลก โดยกุญแจสำคัญของการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน คือ การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันของทั้ง 2 ชาติ ลดกระแสเกลียดชัง และกระแสชาตินิยมสุดโต่ง การมีสัมพันธ์ที่ดี และทั้ง 2 ชาติ เป็นมิตรไมตรีจิตต่อกัน จะเป็นยาแก้ปัญหาได้อย่างดีที่สุด

GBCUNUNESCOUNSCกัมพูชาความขัดแย้งความขัดแย้งไทย-กัมพูชาศาลโลกไทย
Share this

The Author drprapat

ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

More Posts Like This One

SDGs

Sustainable Development Goals (SDGs)

October 2, 2015
kofi-annan

Kofi Annan: อดีตเลขาธิการ UN คนของโลก

August 30, 2018
c1_1453278_180427074319_620x413

ความสัมพันธ์ทางทหาร ไทย-สหรัฐ ปี 2018

April 28, 2018
0 Comments General

Leave A Comment Cancel reply

88 − 84 =

 
รศ.ดร.ประภัสสร์ เทพชาตรี ศ.ดร.ประภัสสร์ เทพชาตรี ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้บรรยายพิเศษในสถาบันต่างๆ อาทิ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สถาบันพระปกเกล้า มีงานเขียน งานวิจัย ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และมีคอลัมน์ประจำ "กระบวนทรรศน์" ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์และคอลัมน์ประจำ "โลกทรรศน์" ในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
  • หนังสือ "ยุทศาสตร์สหรัฐฯต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้"

  • หนังสือ "ประชาคมเอเชียตะวันออก"

  • หนังสือ "ประชาคมอาเซียน"

  • หนังสือ "สถานการณ์โลกปี 2553 และแนวโน้มปี 2554"

  • ปกนโยบายต่างประเทศ-USA-แก้-2557-07-28-at-3.05.01-PM

1/4

Calendar

January 2021
M T W T F S S
« Apr    
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031

Blog

drprapat-header-3

LINKS

คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ศึกษานโยบายระหว่างประเทศ (CIPS) ศูนย์ศึกษานโยบายระหว่างประเทศ (CIPS)

Tags

AEC al-Qaeda APEC ARF ASEAN Clinton Donald Trump EAS EU eurozone FTA G-20 ISIS Obama the rise of China TPP UN UNSC WTO การก่อการร้าย การต่างประเทศของไทย การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ ความขัดแย้ง ความขัดแย้งทะเลจีนใต้ ความมั่นคง จีน ตะวันออกกลาง ประชาคมอาเซียน ประเทศมหาอำนาจ พม่า ยุทธศาสตร์สหรัฐฯ รัสเซีย วิกฤต Eurozone สงคราม สงครามการค้า สหรัฐ สหรัฐอเมริกา สหรัฐฯ อัฟกานิสถาน อาเซียน อิหร่าน เกาหลีเหนือ เศรษฐกิจ เอเชีย ไทย