Logo
  • หน้าหลัก
  • ประวัติ
  • ผลงานวิชาการ
  • ผลงานอื่นๆ
    • หนังสือ
    • Powerpoint
    • สัมภาษณ์รายการต่างๆ
    • บทความอื่นๆ
  • Blog
  • Gallery ภาพส่วนตัว
  • ติดต่อ
Copyright, 2015 : drprapat.com - All rights reserved.
July 6, 2010
drprapat
บทความ
0

ผลการประชุม G20 ที่แคนาดา

PreviousNext

ตีพิมพ์ในไทยโพสต์ วันพฤหัสบดีที่ 1 กรกฎาคม 2553

ในช่วงวันที่ 26 – 27 มิถุนายนที่ผ่านมา ได้มีการจัดประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศ G20 ครั้งล่าสุด ที่เมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะสรุป วิเคราะห์ ผลการประชุมดังกล่าว ดังนี้

ภาพรวม
ในปฏิญญาผลการประชุม G20 ได้กล่าวอย่างภาคภูมิใจว่า บทบาทของ G20 ในการกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจโลกได้ประสบความสำเร็จ โดยได้มีการประสานมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งมีบทบาทอย่างสำคัญในการรื้อฟื้นอุปสงค์และเงินกู้ของภาคเอเชน G20 กำลังเดินหน้าต่อ ในการทำให้ระบบการเงินมีเสถียรภาพและแข็งแกร่งมากขึ้น นอกจากนี้ การเพิ่มเงินทุนให้กับสถาบันการเงินระหว่างประเทศ ได้ช่วยบรรเทาผลกระทบจากวิกฤติต่อประเทศยากจน

อย่างไรก็ตาม G20 ยอมรับว่า ยังคงมีปัญหาและสิ่งท้าทายอยู่ แม้ว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้น แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกมีลักษณะไม่สมดุลและเปราะบาง จำนวนคนว่างงานในหลายๆ ประเทศยังอยู่ในระดับสูงมาก และผลกระทบทางสังคมจากวิกฤติส่งผลกระทบในวงกว้าง กุญแจสำคัญคือ การทำให้การฟื้นตัวมีลักษณะยั่งยืน โดยจะต้องมีการเดินหน้าต่อ ในเรื่องของแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการกระตุ้นอุปสงค์ของภาคเอกชน นอกจากนี้ จะต้องมีความพยายามที่จะสร้างสมดุลให้กับอุปสงค์ในระดับโลก การปฏิรูปทางการเงิน จะต้องเดินหน้าต่อไปด้วย

กรอบการเจริญเติบโตที่แข็งแกร่ง ยั่งยืน และสมดุล
เป้าหมายของ G20 ในการกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจโลก มี theme สำคัญ ที่ตกลงกันไว้ ตั้งแต่การประชุมสุดยอดครั้งที่แล้วที่เมืองพิตส์เบิร์ก คือ จะต้องให้การฟื้นตัวและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ มีลักษณะแข็งแกร่ง ยั่งยืน และสมดุล ที่ประชุมได้แสดงความยินดีต่อนโยบายของประเทศสมาชิกหลายประเทศ ที่จะกระตุ้นอุปสงค์และให้การเจริญเติบโตมีความสมดุล ส่งเสริมการเงินภาครัฐ และทำให้ระบบการเงินมีความแข็งแกร่งและโปร่งใสมากขึ้น

การปฏิรูปภาคการเงิน
เรื่องใหญ่ของ G20 ในครั้งนี้ คือ การผลักดันการปฏิรูปภาคการเงิน โดย G20 ได้ทำให้ระบบการเงินโลกมีความแข็งแกร่งขึ้น ด้วยการเพิ่มมาตรการควบคุมตรวจสอบ การปรับปรุงการบริหารความเสี่ยง เพิ่มความโปร่งใส และกระชับความร่วมมือระหว่างประเทศ

สำหรับการปฏิรูปภาคการเงินนั้นจะมี 4 เสาหลัก
เสาหลักที่ 1 คือ การส่งเสริมกรอบการควบคุมตรวจสอบที่มีความแข็งแกร่ง โดย G20 ยินดีต่อความคืบหน้าของ Basel Committee on Banking Supervision ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการสร้างกฎระเบียบโลกใหม่สำหรับสภาพคล่องและเงินทุนของธนาคาร โดยได้มีความคืบหน้าในการปฏิรูป ซึ่งจะทำให้ระบบธนาคารมีความแข็งแกร่งมากขึ้น โดยเงินทุนของธนาคารจะเพิ่มขึ้น รวมทั้งคุณภาพของเงินทุนด้วย ซึ่งผลจะทำให้ธนาคารสามารถที่จะต่อสู้กับวิกฤติการเงินได้ นอกจากนี้ G20 จะทำให้โครงสร้างตลาดการเงินแข็งแกร่งขึ้น ด้วยการเพิ่มความโปร่งใสและการควบคุมตรวจสอบสถาบันการเงินโดยเฉพาะ hedge funds

เสาหลักที่ 2 คือ การควบคุมตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ โดยจะต้องมีกฎเกณฑ์ใหม่สำหรับการควบคุมตรวจสอบ G20 ได้มอบหมายให้ Financial Stability Board (FSB) หารือกับ IMF และรายงานต่อที่ประชุมรัฐมนตรีคลัง G20 ในเดือนตุลาคมปีนี้ เกี่ยวกับข้อเสนอมาตรการการควบคุมตรวจสอบ

เสาหลักที่ 3 คือการแก้ปัญหาสถาบันการเงินอย่างเป็นระบบ ซึ่งเรื่องนี้ G20 ขอให้ FSB รายงานข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในเรื่องดังกล่าว ก่อนการประชุมสุดยอด G20 ครั้งต่อไป ที่เกาหลีปลายปีนี้

สำหรับเสาหลักที่ 4 คือ การประเมินผลอย่างโปร่งใส โดยบทบาทดังกล่าวจะเป็นบทบาทของ IMF/ World Bank Financial Sector Assessment Program

สถาบันการเงินระหว่างประเทศ
อีกเรื่องที่เป็นเรื่องสำคัญในการประชุม G20 ครั้งนี้ คือ เรื่องบทบาทของสถาบันการเงินระหว่างประเทศ ที่ G20 มองว่ามีบทบาทสำคัญในการกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเพิ่มเงินทุนให้กับ IMF เป็นเงิน 750,000 ล้านเหรียญ และเพิ่มเงินทุนให้กับธนาคารเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศอีก 235,000 ล้านเหรียญ โดย G20 เน้นที่จะเพิ่มความชอบธรรม ความเชื่อมั่นและประสิทธิภาพของสถาบันเหล่านี้

เรื่องสำคัญเกี่ยวกับสถาบันการเงินระหว่างประเทศอีกเรื่องหนึ่ง คือการปฏิรูป โดยเฉพาะการปฏิรูปสัดส่วนของอำนาจในการลงคะแนนเสียง (voting power) เรื่องนี้ได้มีการหารือกันมาโดยตลอดในการประชุม G20 ที่ผ่านมา และในครั้งนี้ ได้มีการตอกย้ำถึงมาตรการของธนาคารโลกที่จะเพิ่ม voting power ให้กับประเทศกำลังพัฒนา 4.59 เปอร์เซ็นต์ สำหรับ IMF นั้น ที่ประชุมขอให้ IMF รีบดำเนินการในการจัดทำมาตรการการปฏิรูป voting power ก่อนการประชุมสุดยอดที่กรุงโซล

อีกเรื่องที่มีการถกเถียงกันมาตลอดคือ กระบวนการสรรหาตำแหน่งระดับบริหารของสถาบันการเงินระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในธนาคารโลกและ IMF ที่ประชุม G20 ในครั้งนี้ ได้แต่เพียงย้ำว่า กระบวนการสรรหานั้นจะต้องโปร่งใส และเปิดกว้าง เท่านั้น

บทวิเคราะห์• ผมมองว่า ในภาพรวม การประชุม G20 ในครั้งนี้ ถือได้ว่าประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะถ้าดูจากรายละเอียดความคืบหน้ามาตรการต่างๆ ในการกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจโลก มีมาตรการที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ที่เห็นได้ชัดคือ มาตรการในการปฏิรูปภาคการเงิน ซึ่งมีความคืบหน้าเป็นรูปธรรมชัดเจน ส่วนการปฏิรูปสถาบันการเงินระหว่างประเทศ ก็มีความคืบหน้าในระดับหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ผลการประชุมในเรื่องการปฏิรูประบบการควบคุมตรวจสอบสถาบันการเงินในระดับโลกนั้น ถึงแม้จะมีความคืบหน้า แต่ยังไปไม่ไกลพอ สหรัฐยังคงเตะถ่วงในเรื่องนี้ และยังไม่มีการจัดตั้งกลไกในระดับโลกขึ้น ยังไม่มีการปฏิรูประบบการเงินโลกที่จริงจังและถอนรากถอนโคน ยังไม่มีสิ่งที่ผู้นำยุโรปต้องการเห็น คือ การสร้างระเบียบการเงินโลกใหม่ ที่ผู้นำยุโรปบางคนเคยใช้คำว่า Bretton Woods II หรือ Global New Deal สาเหตุสำคัญ ก็เพราะสหรัฐยังคงหวาดกลัวว่า การสร้างระเบียบการเงินโลกใหม่ โดยเฉพาะการจัดตั้งกลไกควบคุมสถาบันการเงินในระดับโลกนั้น จะขัดกับผลประโยชน์ของสหรัฐ โดยจุดมุ่งหมายสูงสุดของสหรัฐคือ การครองความเป็นเจ้าในระบบการเงินโลกต่อไป

• อีกเรื่องที่น่าสังเกตคือ บทบาทของ G20 ซึ่งผมมองว่า จากการประชุมครั้งนี้ เห็นชัดถึงการถูกลดบทบาทลง ก่อนหน้านี้ ในการประชุมที่พิตส์เบิร์ก ก็ตื่นเต้นกันมากว่า จะเป็นการเปิดศักราชใหม่ของระเบียบเศรษฐกิจโลก โดยตกลงว่า จะให้ G20 เป็นกลไกถาวรที่จะมาแทนที่ G8 แต่จากการประชุมครั้งนี้ เห็นได้ว่า G20 ไม่ได้มาแทนที่ G8 แต่อย่างใด เพราะก่อนหน้าการประชุม G20 เพียงไม่กี่วัน ก็มีการประชุม G8 และเรื่องที่ G8 ประชุมกัน ก็มีลักษณะครอบคลุมหารือกันทุกเรื่อง ทั้งเรื่องการเมือง ความมั่นคง และเรื่องเศรษฐกิจ ในขณะที่ G20 กำลังถูกลดบทบาทลง ให้เหลือแต่มาคุยกันเฉพาะเรื่องทางการเงินเท่านั้น สรุปแล้ว เห็นได้ชัดว่า สหรัฐกำลังเล่นเกมการครองความเป็นเจ้าอีกครั้ง โดยพยายามที่จะลดบทบาท G20 ซึ่งมีมหาอำนาจใหม่อยู่ในนั้น โดยเฉพาะจีนและอินเดีย และหันกลับมาเพิ่มบทบาทให้กับ G8 อีกครั้งหนึ่ง

• อีกเรื่องที่อยากแสดงความเห็น คือ เรื่องการปฏิรูป IMF และธนาคารโลก ซึ่งถึงแม้การประชุม G20 ในครั้งนี้ จะพยายามเดินหน้าในการปฏิรูป แต่ลึกๆ แล้ว ตะวันตกและสหรัฐก็พยายามเตะถ่วง และการปฏิรูปก็เป็นไปแบบน้อยนิด ตัวอย่างเช่น การเพิ่ม voting power ในธนาคารโลก ก็เพิ่มให้กับประเทศกำลังพัฒนาเพียงแค่ 4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ในขณะที่การปฏิรูป IMF ก็ยังไม่มีความคืบหน้า ปัญหาใหญ่ของทั้ง 2 องค์กรคือ การไม่มีธรรมาภิบาล เพราะตะวันตกครอบงำมาโดยตลอด โดยมีการจัดสรร voting power อย่างลำเอียงให้กับตะวันตก โดยเฉพาะใน IMF สหรัฐมี voting power ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ และยุโรปมีถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาและมหาอำนาจใหม่ มีเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ ผู้อำนวยการ IMF ก็ถูกผูกขาดโดยคนยุโรปมาโดยตลอด ในขณะที่ประธานธนาคารโลกก็เป็นอเมริกันมาโดยตลอดเช่นกัน

Share this

The Author drprapat

ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

0 Comments General

Leave A Comment Cancel reply

56 − = 50

 
รศ.ดร.ประภัสสร์ เทพชาตรี ศ.ดร.ประภัสสร์ เทพชาตรี ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้บรรยายพิเศษในสถาบันต่างๆ อาทิ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สถาบันพระปกเกล้า มีงานเขียน งานวิจัย ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และมีคอลัมน์ประจำ "กระบวนทรรศน์" ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์และคอลัมน์ประจำ "โลกทรรศน์" ในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
  • หนังสือ "ยุทศาสตร์สหรัฐฯต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้"

  • หนังสือ "ประชาคมเอเชียตะวันออก"

  • หนังสือ "ประชาคมอาเซียน"

  • หนังสือ "สถานการณ์โลกปี 2553 และแนวโน้มปี 2554"

  • ปกนโยบายต่างประเทศ-USA-แก้-2557-07-28-at-3.05.01-PM

1/4

Calendar

January 2021
M T W T F S S
« Apr    
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031

Blog

drprapat-header-3

LINKS

คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ศึกษานโยบายระหว่างประเทศ (CIPS) ศูนย์ศึกษานโยบายระหว่างประเทศ (CIPS)

Tags

AEC al-Qaeda APEC ARF ASEAN Clinton Donald Trump EAS EU eurozone FTA G-20 ISIS Obama the rise of China TPP UN UNSC WTO การก่อการร้าย การต่างประเทศของไทย การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ ความขัดแย้ง ความขัดแย้งทะเลจีนใต้ ความมั่นคง จีน ตะวันออกกลาง ประชาคมอาเซียน ประเทศมหาอำนาจ พม่า ยุทธศาสตร์สหรัฐฯ รัสเซีย วิกฤต Eurozone สงคราม สงครามการค้า สหรัฐ สหรัฐอเมริกา สหรัฐฯ อัฟกานิสถาน อาเซียน อิหร่าน เกาหลีเหนือ เศรษฐกิจ เอเชีย ไทย