Logo
  • หน้าหลัก
  • ประวัติ
  • ผลงานวิชาการ
  • ผลงานอื่นๆ
    • หนังสือ
    • Powerpoint
    • สัมภาษณ์รายการต่างๆ
    • บทความอื่นๆ
  • Blog
  • Gallery ภาพส่วนตัว
  • ติดต่อ
Copyright, 2015 : drprapat.com - All rights reserved.
June 25, 2015
drprapat
บทความ
0

ยุทธศาสตร์จีนต่ออาเซียนปี 2015

PreviousNext
1429173863947_eOneBeltOneRoad-map_469292

เมื่อวันที่ 16 – 17 มิถุนายนที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญจาก China-ASEAN Research Institute มหาวิทยาลัยกวางสี ไปประชุมเรื่อง “One Belt One Road and China-ASEAN Community of Common Destiny” ที่เมืองหนานหนิง มณฑลกวางสี ทำให้ผมได้ทราบยุทธศาสตร์ล่าสุดของจีนต่ออาเซียน ซึ่งจะมียุทธศาสตร์ใหญ่ 2 ยุทธศาสตร์ ยุทธศาสตร์ที่หนึ่งเรียกว่า Belt and Road Initiative และยุทธศาสตร์ที่สองเรียกว่า China-ASEANCommunity of Common Destiny

Belt and Road Initiative

               เมื่อตอนที่ผู้นำจีน สี จิ้นผิง เดินทางมาเยือนอาเซียนในช่วงปลายปี 2013 จีนได้เสนอที่จะสร้าง Silk Road Economic Belt เส้นทางสายไหมทางบก และ Maritime Silk Road เส้นทางสายไหมทางทะเล ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวเรียกย่อว่า Belt and Road Initiative

สำหรับเส้นทางสายไหมทางบกนั้นจะมีอยู่ด้วยกัน 3 เส้นทาง

เส้นทางที่ 1 เชื่อม จีน เอเชียกลาง รัสเซีย และยุโรป

เส้นทางที่ 2 เชื่อม จีน อ่าวเปอร์เซีย และทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ผ่านทางเอเชียกลาง และตะวันออกกลาง

และเส้นทางที่ 3 เชื่อมจีนกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้

ส่วนเส้นทางสายไหมทางทะเลนั้น จะเชื่อมจีนกับยุโรปทางทะเล ผ่านทางทะเลจีนใต้ และมหาสมุทรอินเดีย

สำหรับทางบกนั้น จะมีการสร้าง Eurasian Land Bridge โดยจะมีการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ จีน-มองโกเลีย-รัสเซีย ระเบียงเศรษฐกิจ จีน-เอเชียกลาง-เอเชียตะวันตก และระเบียงเศรษฐกิจ จีน-อินโดจีน

ส่วนทางทะเล จะมีการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ จีน-ปากีสถาน และระเบียงเศรษฐกิจ จีน-บังกลาเทศ-อินเดีย

จีนให้เหตุผลในการเสนอ Belt and Road Initiative ว่ามี 3 เหตุผล

เหตุผลที่ 1 เหตุผลทางการเมือง ข้อเสนอดังกล่าวจะเป็นการส่งสัญญาณว่า จีนต้องการสันติภาพ เปิดกว้าง และต้องการหยิบยื่นโอกาสการพัฒนาให้กับเอเชียและโลก

เหตุผลที่ 2 เป็นเหตุผลทางเศรษฐกิจ โดยโครงการลงทุนขนาดใหญ่ จะเป็นการย้ายกำลังผลิตและฐานการผลิตของจีนไปยังภูมิภาคต่างๆ

เหตุผลที่ 3 เป็นเหตุผลทางด้านสังคมและวัฒนธรรม โดยข้อเสนอดังกล่าว จะช่วยส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมในระดับประชาชนตามเส้นทางสายไหม

แต่เป้าหมายสูงสุดของ Belt and Road Initiative คือการส่งเสริม The Rise of Asia การผงาดขึ้นมาของเอเชีย ด้วยการจัดตั้งประชาคมเอเชีย หรือ Asian Community

China-ASEAN Community of Common Destiny

ยุทธศาสตร์ที่ 2 ของจีนต่ออาเซียน ได้มีการประกาศในช่วงที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เยือนอินโดนีเซีย ในช่วงปลายปี 2013 โดยประกาศว่า จะจัดตั้ง China-ASEAN Community หรือประชาคมจีน-อาเซียนขึ้น ซึ่งประชาคมดังกล่าว จะเป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดของจีน ที่จะสร้างประชาคมโลกที่จีนเรียกว่า Community of Common Destiny for All Mankind ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ผู้นำจีนได้นำเสนอแนวคิดเรื่องการจัดตั้งประชาคมเอเชีย-แปซิฟิก Asia-Pacific Community และประชาคมเอเชีย Asian Community และประชาคมจีน-อาเซียน China-ASEAN Community ด้วย

จีนอ้างว่า ประชาคมต่างๆที่จีนเสนอ จะไม่เหมือนกับประชาคมยุโรป โดยประชาคมที่จีนเสนอ จะไม่มีกรอบทางกฎหมาย แต่จะเป็นประชาคมที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของสมาชิก ที่อยู่ในประชาคมเดียวกัน มีค่านิยมเหมือนกัน และมีอัตลักษณ์ร่วมกัน ดังนั้น ประชาคมจีน-อาเซียน จึงไม่จำเป็นต้องมีกรอบทางกฎหมาย แต่จะเป็นประชาคมที่สมาชิกมีอัตลักษณ์ร่วมกัน

การจัดตั้งประชาคมดังกล่าว จะเป็นกระบวนการที่เป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยอัตลักษณ์ร่วมกันจะเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ด้วยการติดต่อสื่อสาร เข้าใจกัน ส่งเสริมความร่วมมือ บูรณาการทางเศรษฐกิจ สมาชิกเคารพซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ การแลกเปลี่ยนทางสังคมและวัฒนธรรม จะนำไปสู่การสร้างอัตลักษณ์ร่วม สิ่งต่างๆเหล่านี้ จะทำให้จีนและประเทศอาเซียนใกล้ชิดกัน และนำไปสู่การจัดตั้งประชาคมจีน-อาเซียนในที่สุด

นอกจากนี้ Belt and Road Initiative  จะช่วยในการสร้างประชาคมจีน-อาเซียนด้วย ทั้งนี้เพราะการสร้างระเบียงเศรษฐกิจจีน-อินโดจีน และเส้นทางสายไหมทางทะเล จะนำผลประโยชน์มาสู่จีนและประเทศอาเซียน ก่อให้เกิดความไว้วางใจกันมากขึ้น มีการแลกเปลี่ยนในระดับประชาชนมากขึ้น ส่งเสริมการสร้างอัตลักษณ์ร่วม นำไปสู่รากฐานสำคัญในการสร้างประชาคม

บทวิเคราะห์

ยุทธศาสตร์ใหม่ของจีนต่ออาเซียนคือ One Belt One Road และ China-ASEAN Community นั้น ถือเป็นยุทธศาสตร์ grand strategy เป็นยุทธศาสตร์ที่จีนยังไม่เคยมีมาก่อน ในอดีต ยุทธศาสตร์จีนต่ออาเซียนจะมีลักษณะเป็นยุทธศาสตร์เฉพาะด้าน เช่น การทำ FTA กับอาเซียน และมีลักษณะระยะสั้น แต่ยุทธศาสตร์ใหม่นี้เป็นการเสนอวิสัยทัศน์ยาวไกล และดูอลังการมาก

นอกจากเหตุผลที่จีนได้ประกาศคือ การสร้างสันติภาพ ส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และเชื่อมความสัมพันธ์ในระดับประชาชนแล้ว ยังมีเหตุผลซ่อนเร้นหรือ hidden agenda อีกหลายเรื่องที่สำคัญ คือถ้าหาก

จีนทำสำเร็จ จีนจะสามารถเชื่อมกับประเทศต่างๆในภูมิภาคเอเชียและยุโรปได้อย่างเต็มที่ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการขยายอิทธิพลของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านเศรษฐกิจและทางด้านการทหาร

จีนจะสามารถครอบงำผืนแผ่นดินใหญ่ที่สุดของโลกที่เราเรียกว่า Eurasia ซึ่งในทางภูมิรัฐศาสตร์ถือว่า Eurasia นั้น มีความสำคัญที่สุด

นอกจากนี้ ยุทธศาสตร์ดังกล่าวของจีน จะช่วยให้จีนหลีกเลี่ยงยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีนของสหรัฐได้อีกด้วย

หากจีนทำสำเร็จ ในการสร้างเส้นทางการคมนาคมขนส่งเชื่อมจีนกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ เอเชียกลาง ตะวันออกกลาง และยุโรปได้ ก็จะช่วยส่งเสริมให้จีนผงาดขึ้นมาเป็นอภิมหาอำนาจของโลกอย่างแท้จริง และจะมีนัยยะและผลกระทบต่อการเมืองและเศรษฐกิจโลกเป็นอย่างมากในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ปัญหาใหญ่ของยุทธศาสตร์ดังกล่าวของจีนคือ การแปลงยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติ สิ่งที่จีนเสนอคือความฝัน สิ่งที่สำคัญคือการสานฝันให้เป็นจริง ซึ่งผมมองว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

ทั้งนี้เพราะเส้นทางสายไหมทั้งทางบกและทางทะเล จะต้องตัดผ่านประเทศต่างๆ และผ่านมหาสมุทรและทะเลหลายน่านน้ำ ในทางปฏิบัติ จึงมีเครื่องหมายคำถามอันใหญ่ว่า จีนจะสามารถสร้างถนนและทางรถไฟผ่านประเทศต่างๆเหล่านี้ได้สำเร็จหรือไม่ หลายประเทศยังมีความหวาดระแวงจีนสูง บางประเทศที่พึ่งพาจีนมาก ก็เริ่มมีปฏิกิริยาต่อต้านการครอบงำทางเศรษฐกิจของจีน อย่างเช่นพม่า

เส้นทางสายไหมทางทะเลที่จะต้องผ่านทะเลจีนใต้ ก็ยังมีความขัดแย้งกันอยู่ เช่นเดียวกับในมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งจีนจะถูกต่อต้าน โดยเฉพาะจากอินเดียและสหรัฐ ซึ่งหวาดระแวงจีนอยู่ และกำลังปิดล้อมจีนอยู่

นอกจากนี้ ในอนาคตระยะยาว ก็ยังมีความไม่แน่นอนอยู่หลายเรื่อง เศรษฐกิจจีนอาจจะสะดุดและชะลอตัวลง ซึ่งจะมีผลกระทบอย่างมากต่อการผงาดขึ้นมาของจีน และจะกระทบต่อยุทธศาสตร์ดังกล่าว นอกจากนี้แม้ว่าในอนาคต จีนจะมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จีนจะเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลก เพราะระเบียบเศรษฐกิจโลกยังอยู่ภายใต้ฉันทามติวอชิงตัน โดยการนำของสหรัฐ

และท่าทีความแข็งกร้าวทางทหารของจีนในช่วงที่ผ่านมา ได้ทำให้ประเทศเพื่อนบ้านหวาดระแวงจีนมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อยุทธศาสตร์ One Belt One Road ของจีน

สำหรับข้อเสนอเรื่องการจัดตั้งประชาคมจีน-อาเซียนนั้น ผมดูแล้วก็แปลกๆว่า ประชาคมดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้อย่างไร รวมทั้งข้อเสนอประชาคมเอเชีย-แปซิฟิก และประชาคมเอเชียด้วย โดยจีนอ้างว่า ประชาคมดังกล่าวจะไม่เหมือนประชาคมยุโรป ที่ไม่จำเป็นต้องมีกรอบทางกฎหมาย แต่จะตั้งอยู่บนพื้นฐานของผลประโยนชน์ร่วมกัน และอัตลักษณ์ร่วมกัน ซึ่งหากประชาคมจีน-อาเซียน จะถูกสร้างขึ้นด้วยการสร้างอัตลักษณ์ร่วมกัน ก็คงต้องรออีกนาน เอาแค่ประชาคมอาเซียน อัตลักษณ์อาเซียนก็ยังมีน้อยมาก อัตลักษณ์ร่วมระหว่างอาเซียนกับจีน ผมก็ยังนึกไม่ออก และชื่อของประชาคมจีน-อาเซียนก็ดูแปลกๆว่า จะเกิดขึ้นได้อย่างไร โดยชื่อแล้ว ก็แยกเป็นสองส่วน คือจีนกับอาเซียน แล้วจะเป็นประชาคมเดียวกันได้อย่างไร

กล่าวโดยสรุป ยุทธศาสตร์ใหม่ของจีน ดูมีวิสัยทัศน์และดูอลังการมาก แต่ในทางปฏิบัติ คงเป็นไปได้ยาก ที่จะบรรลุยุทธศาสตร์ดังกล่าวโดยเร็ววัน โดยเฉพาะข้อเสนอประชาคมจีน-อาเซียน ดูแล้วไม่น่าจะเป็นไปได้

 

 

Cr.picture  http://service-industries-research.hktdc.com/business-news/article/Research-Articles/One-Belt-One-Road-Initiative-The-Implications-for-Hong-Kong/rp/en/1/1X3PJ3M5/1X0A23WV.htm

 

Belt and Road InitiativeChina-ASEAN Communityเศรษฐกิจจีน
Share this

The Author drprapat

ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

More Posts Like This One

china-proposed-belt-road-initiative

Belt and Road Initiative (BRI): 2018

August 17, 2018
AEC Focus-Marsh-w

อาเซียนกับ BRI (Belt and Road Initiative)

September 28, 2018
0 Comments General

Leave A Comment Cancel reply

+ 47 = 51

 
รศ.ดร.ประภัสสร์ เทพชาตรี ศ.ดร.ประภัสสร์ เทพชาตรี ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้บรรยายพิเศษในสถาบันต่างๆ อาทิ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สถาบันพระปกเกล้า มีงานเขียน งานวิจัย ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และมีคอลัมน์ประจำ "กระบวนทรรศน์" ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์และคอลัมน์ประจำ "โลกทรรศน์" ในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
  • หนังสือ "ยุทศาสตร์สหรัฐฯต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้"

  • หนังสือ "ประชาคมเอเชียตะวันออก"

  • หนังสือ "ประชาคมอาเซียน"

  • หนังสือ "สถานการณ์โลกปี 2553 และแนวโน้มปี 2554"

  • ปกนโยบายต่างประเทศ-USA-แก้-2557-07-28-at-3.05.01-PM

1/4

Calendar

April 2021
M T W T F S S
« Apr    
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930  

Blog

drprapat-header-3

LINKS

คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ศึกษานโยบายระหว่างประเทศ (CIPS) ศูนย์ศึกษานโยบายระหว่างประเทศ (CIPS)

Tags

AEC al-Qaeda APEC ARF ASEAN Clinton Donald Trump EAS EU eurozone FTA G-20 ISIS Obama the rise of China TPP UN UNSC WTO การก่อการร้าย การต่างประเทศของไทย การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ ความขัดแย้ง ความขัดแย้งทะเลจีนใต้ ความมั่นคง จีน ตะวันออกกลาง ประชาคมอาเซียน ประเทศมหาอำนาจ พม่า ยุทธศาสตร์สหรัฐฯ รัสเซีย วิกฤต Eurozone สงคราม สงครามการค้า สหรัฐ สหรัฐอเมริกา สหรัฐฯ อัฟกานิสถาน อาเซียน อิหร่าน เกาหลีเหนือ เศรษฐกิจ เอเชีย ไทย