ยุทธศาสตร์ทหารสหรัฐฯ ต่อเอเชีย ปี 2015

เมื่อเร็วๆนี้ Dr. Ashton Carter รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ได้กล่าวสุนทรพจน์ในการประชุม Shangri-la Dialogue ครั้งล่าสุด ที่สิงคโปร์ ประกาศนโยบายทางทหารของสหรัฐฯต่อภูมิภาคเอเชียล่าสุด คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะสรุปวิเคราะห์สุนทรพจน์ดังกล่าว ดังนี้
สถาปัตยกรรมความมั่นคงในภูมิภาค
ประเด็นหลักของสุนทรพจน์คือ การฉายให้เห็นภาพสถาปัตยกรรมความมั่นคงในภูมิภาค หรือระบบความมั่นคงในภูมิภาค ที่สหรัฐฯต้องการ โดยสหรัฐฯต้องการเห็นสถาปัตยกรรมความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่เปิดกว้าง ไม่กีดกันใคร และโปร่งใส
ยุทธศาสตร์ rebalance ก็เป็นยุทธศาสตร์ส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การสร้างสถาปัตยกรรมในภูมิภาค ซึ่งขณะนี้ ยุทธศาสตร์ rebalance กำลังเข้าสู่ phase ที่ 2 ที่จะกระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตร และลงทุนในการสร้างสมรรถภาพทางทหาร โดยเฉพาะการพัฒนาเทคโนโลยีทางทหารและอาวุธใหม่ๆ
สันติภาพในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกไม่เหมือนกับในยุโรป ที่มีพันธมิตรนาโต้ แต่ความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย มีลักษณะของการที่ประเทศต่างๆ มาร่วมมือกัน เพราะมีผลประโยชน์ร่วมกัน ดังนั้น เราจะต้องร่วมมือกันมากขึ้น ด้วยการพัฒนาเวที East Asia Summit ให้เป็นพื้นฐานสำคัญของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค โดยสถาปัตยกรรมในภูมิภาคจะต้องเน้นการพัฒนาความร่วมมือใน 5 ด้าน ดังนี้
- จะต้องให้ความสำคัญกับหลักการ กฎเกณฑ์ และบรรทัดฐานระหว่างประเทศ โดยเฉพาะหลักการแก้ปัญหาความขัดแย้งอย่างสันติวิธี ด้วยการเจรจาทางการทูต และหลักการในเรื่องของสิทธิเสรีภาพในการเดินเรือ
- จะต้องพัฒนาสถาบันในภูมิภาค อาเซียนได้วางรากฐานสถาปัตยกรรมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไว้แล้ว และอาเซียนจะมีบทบาทหลักในการพัฒนาสถาบันในภูมิภาค และด้วยเหตุนี้เอง ที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ จึงได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อปฏิสัมพันธ์กับอาเซียน โดย Dr. Ashton Carter จะเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน หรือ ADMM-Plus ที่มาเลเซียในเดือนพฤศจิกายนนี้
- พันธมิตรและหุ้นส่วนของสหรัฐฯ ถือเป็นแกนหลักของเสถียรภาพในภูมิภาค สหรัฐฯจะร่วมมือกับพันธมิตรหลักๆ คือ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไทย และฟิลิปปินส์
ญี่ปุ่นได้เพิ่มบทบาททางด้านความมั่นคงมากขึ้น และได้มีการจัดทำเอกสารแนวทางความร่วมมือทางทหารระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐฯ (Guideline for US-Japan Defense Cooperation)
พันธมิตรสหรัฐฯ-เกาหลีใต้ก็กระชับแน่นแฟ้นมากขึ้น เช่นเดียวกับออสเตรเลีย ซึ่งกองกำลังของทั้ง 2 ประเทศ ก็ฝึกร่วมกันเป็นประจำ
นอกจากนี้ ยังมีรูปแบบความสัมพันธ์แบบไตรภาคีเกิดขึ้น คือ ญี่ปุ่น-ออสเตรเลีย-สหรัฐฯ เน้นความมั่นคงทางทะเลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนญี่ปุ่น-เกาหลีใต้-สหรัฐฯ กำลังมีความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน และสำหรับ ญี่ปุ่น-อินเดีย-สหรัฐฯ เน้นความร่วมมือในการจัดการภัยพิบัติและความมั่นคงทางทะเล
สหรัฐฯยังได้ขยายความร่วมมือไปยังประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับอินเดียและเวียดนาม ซึ่ง Dr. Ashton Carter ก็เพิ่งเดินทางไปเยือนทั้ง 2 ประเทศ โดยขณะนี้สหรัฐฯกำลังแสวงหาหนทางความร่วมมือกับอินเดียในภูมิภาค และเอกสาร US-India Defense Framework จะเน้นความร่วมมือความมั่นคงทางทะเล เรือบรรทุกเครื่องบิน และเทคโนโลยีทางทหาร
- จะต้องมีการเสริมสร้างสมรรถภาพทางทหาร ให้แก่พันธมิตร โดยเฉพาะด้านความมั่นคงทางทะเล ซึ่งสหรัฐฯได้ช่วยประเทศต่างๆเหล่านี้
– สิงคโปร์ : ซึ่งเป็นฐานใหญ่ของกองทัพเรือสหรัฐฯอยู่แล้ว สหรัฐฯช่วยพัฒนาให้มีขีดความสามารถเร็วขึ้นในการตอบสนองต่อวิกฤตการณ์
– เวียดนาม : สหรัฐฯกำลังให้ความช่วยเหลือการพัฒนากองทัพเรือเวียดนาม
– มาเลเซีย : มีการฝึกร่วมกับกองทัพเรือมาเลเซีย
– ฟิลิปปินส์ : สหรัฐฯช่วยพัฒนากองทัพของฟิลิปปินส์
– อินโดนีเซีย : มีความร่วมมือในการบินตรวจการณ์ในบริเวณเขตทะเลจีนใต้
นอกจากนี้ กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯได้ประกาศกรอบความร่วมมือทางทหารในภูมิภาคทะเลตะวันออกเฉียงใต้ใหม่ที่เรียกว่า Southeast Asia Maritime Security Initiative
- จะต้องมีการติดต่อทำงานร่วมกันมากขึ้น ในรูปแบบของการซ้อมรบร่วม ทุกๆปี สหรัฐฯจะมีการซ้อมรบร่วมกับประเทศต่างๆในภูมิภาคหลายร้อยครั้ง ซึ่งมีชื่อเรียกต่างๆมากมาย ที่สำคัญคือ Foal Eagle, Balikatan, Malabar, Garuda Shield, RIMPAC, Talisman Sabre และ Cobra Gold
ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้
และเรื่องที่กระทรวงกลาโหลสหรัฐฯให้ความสำคัญในขณะนี้คือ ปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ โดยสหรัฐฯมีท่าทีว่า ทุกประเทศได้รับประโยชน์จากเสรีภาพในการเดินเรือผ่านทะเลจีนใต้ ดังนั้น จึงเป็นที่น่าห่วงใยเป็นอย่างยิ่ง ที่ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ ทวีความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้น
สหรัฐฯมุ่งเป้าไปที่จีน โดยกล่าวโจมตีจีนอย่างรุนแรงว่า จีนได้มีความเคลื่อนไหวทางทหารเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการถมที่ในทะเลทำเป็นเกาะกว่า 2,000 เอเคอร์ เป็นต้นเหตุของความตึงเครียดในภูมิภาค สหรัฐฯจึงเป็นห่วงถึงแนวโน้มความขัดแย้งที่จะเพิ่มขึ้น สหรัฐฯในฐานะเป็นประเทศในมหาสมุทรแปซิฟิก จึงมีสิทธิอันชอบธรรมในการจัดการกับปัญหานี้
ท่าทีของสหรัฐฯในเรื่องนี้ คือ
- สหรัฐฯต้องการให้แก้ปัญหานี้อย่างสันติวิธี โดยจะต้องยุติการถมที่ทำเกาะ และยุติการเคลื่อนไหวทางทหารในทุกรูปแบบ ถึงเวลาแล้วที่จะต้องรือฟื้นการแก้ปัญหาด้วยวิธีทางการทูตอย่างจริงจัง สหรัฐฯอยากให้อาเซียนและจีนสามารถบรรลุถึงการจัดทำ Code of Conduct ภายในปีนี้
- สหรัฐฯ ยังคงยึดมั่นหลักการเสรีภาพในการเดินเรือผ่านทะเลจีนใต้ ดังนั้น สหรัฐฯจึงจะบินผ่าน แล่นเรือผ่านทะเลจีนใต้ และปฏิบัติการต่างๆในทะเลจีนใต้ ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ
- สหรัฐฯ เห็นว่า การกระทำและพฤติกรรมของจีนในทะเลจีนใต้ ถือเป็นการละเมิดกฎเกณฑ์และบรรทัดฐานระหว่างประเทศอย่างรุนแรง
บทวิเคราะห์
นั่นคือการสรุปสุนทรพจน์ Dr. Ashton Carter รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ที่ได้ฉายภาพให้เห็นยุทธศาสตร์ทางทหารต่อเอเชียล่าสุด ซึ่งผมจะขอวิเคราะห์และตั้งข้อสังเกตเป็นข้อๆดังนี้
- สุนทรพจน์ดังกล่าว ชี้ให้เห็นยุทธศาสตร์ทางทหารของสหรัฐฯต่อภูมิภาคเอเชีย ที่เน้นอยู่ 2 เรื่องใหญ่ เรื่องแรกคือ สถาปัตยกรรมความมั่นคงในภูมิภาค และเรื่องที่ 2 คือ ปัญหาทะเลจีนใต้ ซึ่งทำให้เราได้เห็นยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯชัดเจนขึ้น แต่โดยรวม ก็ไม่มีอะไรใหม่ ส่วนใหญ่เป็นยุทธศาสตร์เดิมๆที่เราก็รู้กันอยู่แล้ว
- เวลาสหรัฐฯ พูดถึงภูมิภาคนี้ สหรัฐฯจะพูดว่า “ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก” ซึ่งก็มีนัยสำคัญ โดยสหรัฐฯจะหลีกเลี่ยงการใช้คำว่า “ภูมิภาคเอเชีย” หรือ “ภูมิภาคเอเชียตะวันออก” เพราะถ้าใช้คำว่า “เอเชียตะวันออก” อาจจะหมายถึงประเทศต่างๆที่ไม่มีสหรัฐฯ อยู่ แต่ถ้าใช้คำว่า “เอเชียแปซิฟิก” ก็หมายรวมถึงสหรัฐฯด้วย ซึ่งทำให้สหรัฐฯ มีความชอบธรรมในการมีบทบาทในภูมิภาคนี้
- สถาบันที่สหรัฐฯ เน้นที่จะพัฒนาไปเป็นแกนหลักของสถาปัตยกรรมความมั่นคงในภูมิภาคคือเวที East Asia Summit หรือ EAS ขณะนี้มีสมาชิก 18 ประเทศ รวมสหรัฐฯ ด้วย ตั้งแต่สหรัฐฯเข้ามาเป็นสมาชิกเมื่อปี 2011 สหรัฐฯได้พยายามผลักดัน EAS ให้เป็นเวทีด้านความมั่นคงของภูมิภาคมาโดยตลอด แต่อาเซียนไม่เห็นด้วย อย่างไรก็ตาม EAS ก็ได้พัฒนาไปมาก มีกิจกรรมต่างๆมากมาย จนขณะนี้ แซงหน้า อาเซียน + 3 ไปแล้ว เราคงต้องจับตาดูกันต่อว่า อาเซียนจะสามารถคุมบังเหียน EAS ไปได้อีกนานเท่าไหร่
- สำหรับพันธมิตรของสหรัฐฯ ในสุนทรพจน์นี้ ได้ชี้ให้เห็นว่า สหรัฐฯ แทบไม่ให้ความสำคัญต่อไทยเลย อาจจะเป็นเพราะสถานการณ์ความสัมพันธ์ในขณะนี้ ซึ่งไม่ค่อยปกติ ทำให้สหรัฐฯ มีแนวโน้มลดความสัมพันธ์กับไทยลงไปเรื่อยๆ จะเห็นได้ว่า ในสุนทรพจน์ ได้กล่าวชื่นชมพันธมิตร ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลียและขณะนี้ก็กำลังตีสนิทกับอินเดียและเวียดนามด้วย
นอกจากนี้ ในตอนที่พูดถึงความช่วยเหลือทางทหาร ก็ไม่ได้พูดถึงไทยเลย แต่กลับไปพูดถึงสิงคโปร์ เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย
- สำหรับข้อเสนอของสหรัฐฯ ที่มีการพูดถึง แต่ไม่ได้ลงรายละเอียด ซึ่งต้องจับตาดูกันต่อคือ Southeast Asia Maritime Security Initiative
- สำหรับปัญหาทะเลจีนใต้นั้น ในสุนทรพจน์นี้ ได้โจมตีจีนอย่างหนักและอย่างชัดเจน เน้นการฉายภาพให้เห็นว่า จีนเป็นผู้ร้ายในเรื่องนี้ ซึ่งจากท่าทีของสหรัฐฯที่แข็งกร้าวและก้าวร้าวมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ผมกังวลว่า ปัญหาทะเลจีนใต้จะมีความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้น เพราะขณะนี้ เข้าทำนอง “ขิงก็รา ข่าก็แรง” จีนก็มีท่าทีแข็งกร้าวมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเช่นเดียวกับท่าทีของสหรัฐฯ ทำให้ดูแล้ว สถานการณ์ในอนาคตน่าเป็นห่วงมากขึ้นเรื่อยๆ