ยุทธศาสตร์สหรัฐต่ออาเซียน ปี 2014 (ตอนที่ 2)
ตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 13 พฤศจิกายน 2557
เมื่อเร็วๆนี้ Dr. Susan Rice, National Security Advisor ของสหรัฐ ซึ่งคล้ายๆกับตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติของไทย ได้ไปกล่าวสุนทรพจน์ที่ Brookings Institution ซึ่งเป็น Think Tank อันดับ 1 ของสหรัฐ สุนทรพจน์ดังกล่าว เป็นการพูดถึงนโยบายของสหรัฐต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะสรุปวิเคราะห์สุนทรพจน์ดังกล่าว ดังนี้
ในตอนต้นของสุนทรพจน์ Rice ได้อ้างคำพูดของ Obama ในตอนมาเยือนมาเลเซียช่วงต้นปีนี้ว่า ในช่วงที่ผ่านมา ภูมิภาคเอเชียได้มีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างมาก อิทธิพลของเอเชียเพิ่มมากขึ้น และบทบาทของเอเชียในเวทีโลกก็เพิ่มมากขึ้น แต่การผงาดขึ้นมาของเอเชียเป็นผลของการผงาดขึ้นมาของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้น ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงเป็นจุดศูนย์กลางของยุทธศาสตร์สหรัฐต่อเอเชีย
เศรษฐกิจ
ทางด้านเศรษฐกิจ ขณะนี้อาเซียนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลก และอาเซียนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 4 ของสหรัฐ การลงทุนของสหรัฐในภูมิภาคอาเซียนมีมูลค่ามากที่สุดในเอเชีย และในอนาคตเศรษฐกิจของอาเซียนจะมีอัตราการเจริญเติบโตที่สูงที่สุดในโลก ดังนั้น ในอนาคต อาเซียนจะมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของสหรัฐมากขึ้นไปอีก
และนี่ก็คือเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้สหรัฐผลักดันการจัดตั้งเขตการค้าเสรี Trans-Pacific Partnership หรือ TPP ซึ่งมี 4 ประเทศสมาชิกอาเซียนเข้าร่วมการเจรจาอยู่ คือ เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ และบรูไน
ขณะนี้สหรัฐกำลังรีบเร่งขยายความสัมพันธ์ด้านการค้าและการลงทุนกับอาเซียน ในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐ ได้นำคณะนักธุรกิจสหรัฐมาเยือน ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และพม่า เพื่อแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ
นอกจากนี้ ผู้แทนการค้าของสหรัฐก็ได้พบปะกับรัฐมนตรีเศรษฐกิจของอาเซียนในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาที่พม่า
ความมั่นคง
สำหรับทางด้านความมั่นคงนั้น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็มีบทบาทสำคัญในการสร้างสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค โดยสหรัฐมีไทยและฟิลิปปินส์ที่เป็นพันธมิตรเก่าแก่กันมาอย่างยาวนาน นอกจากนี้ สหรัฐก็มีสิงคโปร์ที่เป็นหุ้นส่วนด้านความมั่นคงที่สำคัญอีกประเทศหนึ่ง
ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ประธานาธิบดี Obama กับประธานาธิบดี Aquino ของฟิลิปปินส์ ได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกองทัพของทั้ง 2 ประเทศ นอกจากนี้ สหรัฐได้เพิ่มความร่วมมือกับมาเลเซียและเวียดนาม โดยเฉพาะในด้านความมั่นคงทางทะเล
และก็ยังมีอีกหลายเรื่องที่สหรัฐและอาเซียนร่วมมือกัน ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม การจัดการภัยพิบัติ การต่อต้านการก่อการร้าย และการแก้ไขความขัดแย้งทางทะเลในภูมิภาค
อาเซียน
ความร่วมมือต่างๆเหล่านี้ เกิดขึ้นจากความพยายามของสหรัฐในการกระชับความสัมพันธ์กับสถาบันในภูมิภาคโดยเฉพาะกับอาเซียน โดยได้มีการประชุมสุดยอดอาเซียนกับสหรัฐ มาตั้งแต่ปี 2009 และได้มีการประชุมอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี สหรัฐได้ส่งทูตมาประจำอาเซียนคือ Nina Hachigian
การปฏิสัมพันธ์กับอาเซียนได้ก่อให้เกิดประโยชน์ในด้านต่างๆ โดยเฉพาะในการจัดการทาง ด้านภัยพิบัติ การลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านพลังงานสีเขียว และความร่วมมือความมั่นคงทางทะเล
นอกจากนี้ สหรัฐยังมีกรอบความร่วมมือ Lower Mekong Initiative ซึ่งได้เน้นความร่วมมือทางด้านสาธารณสุข การศึกษา และการปกป้องสิ่งแวดล้อมด้วย
สิทธิมนุษยชน
อีกเรื่องที่สหรัฐให้ความสำคัญต่อภูมิภาคอาเซียนคือ การส่งเสริมประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน โดยได้เห็นความสำเร็จและความคืบหน้าในอินโดนีเซียในกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย ประธานาธิบดี Omaba ก็จะได้พบปะกับประธานาธิบดี Widodo ของอินโดนีเซีย ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐในเดือนพฤศจิกายนนี้
นอกจากนี้ สหรัฐได้เห็นความคืบหน้าทางด้านประชาธิปไตยในพม่า แต่ก็ยังมีสิ่งท้าทายหลายประการในกระบวนการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยในพม่า
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าเสียดายที่พัฒนาการประชาธิปไตยในประเทศไทยได้สะดุดหยุดลง แต่สหรัฐก็จะยังคงยึดมั่นในการเป็นพันธมิตรกับประเทศไทยต่อไป แต่อย่างไรก็ดี สหรัฐต้องการเห็นไทยกลับคืนสู่การมีรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยโดยเร็วที่สุด
สรุปวิเคราะห์
และนั่นก็คือสุนทรพจน์ของ Dr.Susan Rice ที่ได้กล่าวถึงยุทธศาสตร์สหรัฐต่อภูมิภาคอาเซียน โดยได้เน้นถึงการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับอาเซียน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง
อย่างไรก็ตาม ผมมองว่า สุนทรพจน์ของ Rice ไม่ได้มีอะไรแปลกใหม่ แต่เป็นแนวยุทธศาสตร์และ นโยบายมาตรฐานของสหรัฐต่ออาเซียน สุนทรพจน์เน้นการใช้คำหวาน ภาษาทางการทูต และภาษาดอกไม้ ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติของสุนทรพจน์ของนักการเมืองระดับสูงของสหรัฐ
แต่ยุทธศาสตร์ที่แท้จริงของสหรัฐนั้น Rice ไม่ได้พูดออกมา ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติที่นโยบาย ต่างประเทศมักจะมีวาระซ่อนเร้นอยู่มากมาย ยุทธศาสตร์หลักของสหรัฐที่ไม่ได้ประกาศออกมาคือ การครองความเป็นเจ้าในภูมิภาคต่อไป ยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีน หรือการสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีนทางทหาร การแข่งกับอิทธิพลของจีนในภูมิภาคอาเซียน และยุทธศาสตร์การส่งเสริมและปกป้องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของสหรัฐในภูมิภาคอาเซียน และนี่ก็คือเหตุผลที่จะเป็นคำอธิบายสำคัญที่จะมาตอบคำถามว่า ทำไมสหรัฐต้องการที่จะกระชับความสัมพันธ์กับอาเซียน และทำไมสหรัฐจึงต้องปรับยุทธศาสตร์ในเชิงรุกต่อภูมิภาคอาเซียนด้วย