วิกฤตอิหร่าน ปี 2019

วิกฤตการณ์อิหร่านกำลังลุกลามบานปลายจนมีแนวโน้มว่า อาจจะนำไปสู่สงครามระหว่าง
สหรัฐฯกับอิหร่านได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อโลก คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์ วิกฤตอิหร่าน และประเมินสถานการณ์แนวโน้มในอนาคต ดังนี้
ภูมิหลัง
วิกฤตการณ์อิหร่านได้ยืดเยื้อบานปลายมาเป็นเวลาหลายสิบปี ปัญหาใหญ่คือ สหรัฐฯสงสัยมาโดยตลอดว่า อิหร่านกำลังแอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ในอดีต ได้มีความพยายามที่จะเจรจา แต่ก็ไม่สำเร็จ และปัญหาได้ทรุดหนักลงในสมัยรัฐบาล Bush ที่มองว่า อิหร่านเป็นหนึ่งในอักษะแห่งความชั่วร้าย และได้ยุติการเจรจากับอิหร่านอย่างสิ้นเชิง และมีแผนจะโค่นล้มรัฐบาลอิหร่าน
แต่ต่อมา ในสมัยรัฐบาล Obama ได้มีการเจรจากับอิหร่านอย่างจริงจัง จนในที่สุด ก็ประสบความสำเร็จในปี 2015 ด้วยการจัดทำข้อตกลงกับอิหร่าน โดยอิหร่านยอมที่จะยุติการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ เพื่อแลกกับการที่ตะวันตกจะยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร
Trump
อย่างไรก็ตาม เมื่อ Donald Trump ได้ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี ก็ได้มีมาตรการต่อต้านอิหร่านอย่างสุดโต่ง โดย Trump บอกว่า ข้อตกลงที่ Obama ทำกับอิหร่าน เป็นข้อตกลงที่เลวร้ายที่สุด และเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว Trump ได้ฉีกข้อตกลงดังกล่าว และประกาศมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านทันที
Trump มีท่าทีเป็นปฏิปักษ์ต่ออิหร่านเป็นอย่างมาก และสงสัยว่าอิหร่านกำลังแอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ กังวลใจเป็นอย่างมากกับการขยายอิทธิพลของอิหร่านในตะวันออกกลาง และเห็นว่า มาตรการที่จะป้องกันไม่ให้อิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์ และจะสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของอิหร่านได้ คือการใช้ไม้แข็งต่ออิหร่านเท่านั้น โดยเฉพาะ การใช้มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจและการใช้กำลังทางทหาร
ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา Trump ได้ดำเนินมาตรการ “maximum pressure” ต่ออิหร่าน ด้วยการประกาศว่า กองกำลัง Iranian Islamic Revolutionary Guards เป็นกลุ่มก่อการร้าย และคว่ำบาตรอิหร่านทางเศรษฐกิจแบบเข้มข้น โดยบีบให้ประเทศต่างๆทั่วโลก เลิกค้าขายกับอิหร่าน โดยเฉพาะการซื้อน้ำมันจากอิหร่าน ผลของการคว่ำบาตร ทำให้การส่งออกน้ำมันของอิหร่านลดลงเป็นอย่างมาก และการโดดเดี่ยวอิหร่านทางเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจอิหร่านหดตัวในปีที่แล้วถึง 4% และในปีนี้ น่าจะติดลบถึง 6%
ในขณะเดียวกัน สหรัฐฯได้ดำเนินมาตรการทางทหารมากขึ้นเรื่อยๆ โดยในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สหรัฐฯได้ส่งเรือบรรทุกเครื่องบิน Abraham Lincoln เข้าไปในอ่าวเปอร์เซีย ใกล้กับน่านน้ำของอิหร่าน ส่งฝูงเครื่องบินทิ้งระเบิด B52 เข้าไปในภูมิภาค นอกจากนี้ รัฐบาล Trump ยังได้กล่าวหาอิหร่านว่า มีแผนจะใช้ขีปนาวุธโจมตีสหรัฐฯ และสหรัฐฯกำลังเตรียมแผนการ ที่จะส่งกองกำลังทหารจำนวน 120,000 คน เข้าในไปภูมิภาค
อิหร่าน
สำหรับท่าทีของอิหร่าน ก็ไม่ได้มีท่าทีที่จะยอมอ่อนข้อให้กับสหรัฐฯแต่ประการใด แม้ว่าสหรัฐฯจะดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจและมาตรการทางทหารอย่างเต็มที่แล้วก็ตาม แต่อิหร่านกลับมีท่าทีที่แข็งกร้าวมากขึ้น โดยประธานาธิบดีอิหร่าน Hassan Rouhani ได้ประกาศกร้าวเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาว่า อิหร่านจะยุติการปฏิบัติตามต่อข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2015 โดยมีเงื่อนไขว่า อิหร่านจะฉีกข้อตกลงดังกล่าว หากประเทศในยุโรปไม่สามารถหาวิธีที่จะยุติมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจได้ภายใน 60 วัน ข้อมูลจาก IAEA ชี้ว่า อิหร่านกำลังเริ่มกลับมาพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ของตัวเองใหม่ และกำลังจะเพิ่มค่ายูเรเนียม ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่สำคัญในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์
นอกจากนี้ อิหร่านยังอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการโจมตีเรือบรรทุกน้ำมันของซาอุดิอาระเบีย จำนวน 4 ลำ ในอ่าวโอมาน และ การโจมตีสนามบินและโรงงานน้ำมัน ของซาอุดิอาระเบีย
สำหรับสถานการณ์ล่าสุด มีการโจมตีเรือบรรทุกน้ำมันในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว ใกล้กับช่องแคบ Hormuz โดยรัฐบาล Trump ได้รีบออกมากล่าวหาว่า เป็นฝีมือของอิหร่าน รัฐบาลมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ Mike Pompeo ได้กล่าวว่า สหรัฐฯมีหลักฐานที่แน่ชัดว่า การโจมตีเรือบรรทุกน้ำมันเป็นฝีมือของอิหร่าน และสหรัฐฯจะทำทุกวิถีทางที่จะป้องกันไม่ให้อิหร่านปิดช่องแคบ Hormuz
แนวโน้มสงคราม
จากการที่ Trump ฉีกข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่าน เมื่อกลางปีที่แล้ว ได้นำไปสู่สถานการณ์ต่างๆ ที่ทำให้โอกาสของการเกิดสงครามเพิ่มมากขึ้นทุกขณะ ตรรกะง่ายๆคือ เมื่อสหรัฐฯฉีกข้อตกลงดังกล่าว อิหร่านก็ไม่มีทางเลือกที่จะต้องเดินหน้าพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ และสหรัฐฯก็ไม่มีทางเลือก ที่จะยุติการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่าน นอกจากการใช้กำลังทางทหาร
การหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าเป็นไปได้ยากยิ่ง เพราะทั้งสองฝ่ายมีความมุ่งมั่นที่จะไม่ยอมถอย ทางเดียวเท่านั้นที่จะป้องกันการเกิดสงคราม คือการกลับมาสู่โต๊ะเจรจา แต่อิหร่านก็คงจะไม่อยากเจรจากับรัฐบาล Trump ซึ่งอิหร่านไม่ไว้วางใจ และเงื่อนไขการเจรจาของ Trump ก็คงจะเป็นไปไม่ได้ที่อิหร่านจะยอมตกลงด้วย
ความหวังอันเลือนลางของการกลับมาสู่การเจรจายังพอมีอยู่บ้าง หากดูจากพฤติกรรมของ Trump ในช่วงสองปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าเขาเป็นคนที่ practical และคงจะมองเห็นถึงข้อดี ข้อเสีย ของการทำ สงครามกับอิหร่าน ตัวอย่างที่สำคัญคือ กรณีเกาหลีเหนือ ที่ในช่วงแรก Trump ใช้มาตรการแข็งกร้าว ขู่ว่าจะ โจมตีเกาหลีเหนือ แต่ในที่สุดก็ยอมเจรจากับผู้นำเกาหลีเหนือ แต่ข้อแตกต่างที่สำคัญระหว่างเกาหลีเหนือกับ อิหร่านคือ เกาหลีเหนือมีอาวุธนิวเคลียร์ แต่อิหร่านยังไม่มี
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยสำคัญ ที่จะทำให้แนวโน้มการเกิดสงครามสูงขึ้น คือ บทบาทของรัฐมนตรีต่างประเทศ Mike Pompeo และ John Bolton ซึ่งมีตำแหน่งเป็น National Security Advisor สองคนนี้ ขณะนี้มีบทบาทมากที่สุดในการตัดสินใจด้านการต่างประเทศของรัฐบาล Trump ทั้งสองคน มีแนวคิดขวาจัด สุดโต่ง และเป็นสายเหยี่ยว ที่เน้นการใช้กำลังทางทหารเพื่อแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะ Bolton ซึ่งน่าจะมีอิทธิพลที่สุดต่อการตัดสินใจของ Trump โดย Bolton มีนโยบายแบบแข็งกร้าวสุดโต่ง และได้สนับสนุนมาตรการโจมตีทางทหารต่ออิหร่านมานานแล้ว โดยเขาได้ประกาศกร้าวว่า ทางเดียวเท่านั้นที่จะยุติการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่าน คือการโจมตีอิหร่านด้วยกำลังทางทหาร Bolton ได้เขียนบทความในหนังสือพิมพ์ New York Times ในปี 2015 ชื่อบทความว่า “To stop Iran’s bomb , bomb Iran”
กล่าวโดยสรุป จากที่ผมได้วิเคราะห์มาข้างต้น จะเห็นได้ชัดเจนว่า สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯกับอิหร่านในขณะนี้ กำลังมีแนวโน้มที่น่าวิตกกังวลเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดสงครามขึ้นได้ระหว่างประเทศทั้งสอง ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมาก ต่อความมั่นคงโลกและเศรษฐกิจโลกในอนาคต
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ คอลัมน์กระบวนทัศน์ ฉบับวันที่ 20 มิถุนายน 2562
ที่มารูปภาพ : https://www.bbc.com/thai/international-48677354