Logo
  • หน้าหลัก
  • ประวัติ
  • ผลงานวิชาการ
  • ผลงานอื่นๆ
    • หนังสือ
    • Powerpoint
    • สัมภาษณ์รายการต่างๆ
    • บทความอื่นๆ
  • Blog
  • Gallery ภาพส่วนตัว
  • ติดต่อ
Copyright, 2015 : drprapat.com - All rights reserved.
September 30, 2019
drprapat
บทความ
0

วิกฤติอิหร่าน ปี2019 (ตอนที่2)

PreviousNext
750x422_839433_1562023902

  เหตุการณ์การโจมตีโรงกลั่นน้ำมันของซาอุดิอาระเบีย ในช่วงกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา ที่เมือง Abqaiq and Khurais ซึ่งโรงกลั่นน้ำมันทั้งสองแห่งนี้ เป็นโรงกลั่นน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ทำให้ต้องมีการหยุดการส่งออกน้ำมันเป็นจำนวนเกือบ 6 ล้านบาร์เรลต่อวัน นับเป็นสัดส่วน 5 % ของการซื้อขายน้ำมันของโลกในแต่ละวัน การโจมตีในครั้งนี้ เป็นการโจมตีครั้งใหญ่ที่สุด นับตั้งแต่อิรักโจมตีโรงกลั่นน้ำมันของคูเวตในสงครามอ่าว ครั้งที่1 เมื่อปี 1990 และเหตุการณ์ในครั้งนี้ ทำให้ความขัดแย้งระหว่างอิหร่านกับสหรัฐตึงเครียดมากที่สุด จนมีการหวั่นวิตกกันว่า จะเกิดสงครามระหว่างสหรัฐกับอิหร่านขึ้นหรือไม่

  ปฏิกิริยาของสหรัฐ
  หลังจากการโจมตีไม่กี่ชั่วโมง ประธานาธิบดี Donald Trump ประกาศว่า สหรัฐพร้อมที่จะโจมตีผู้ก่อเหตุ และกำลังรอการยืนยันจากฝ่ายซาอุดิอาระเบียว่า อิหร่านมีส่วนร่วมในการโจมตีหรือไม่

  รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ Mike Pompeoได้ประกาศกล่าวหาอิหร่านว่า เป็นฝ่ายโจมตีโรงกลั่นน้ำมันของซาอุดิอาระเบียในครั้งนี้ แม้ว่าหลังการโจมตี กลุ่มกบฏ Houthis ที่ทำสงครามกลางเมืองอยู่ในเยเมน จะได้ประกาศความรับผิดชอบในการโจมตีครั้งนี้ แต่รัฐบาลสหรัฐก็ไม่เชื่อ โดยอ้างหลักฐานว่า น่าจะเป็นฝีมือของอิหร่านมากกว่า โดยอาวุธที่ใช้ในการโจมตีเป็นขีปนาวุธและโดรนซึ่งทำในอิหร่าน เละฝ่ายสหรัฐเชื่อว่า ขีปนาวุธและโดรนถูกยิงมาจากทางตอนเหนือ ซึ่งอาจจะมาจากอิรัก จากกลุ่มติดอาวุธชีอะห์ที่อิหร่านสนับสนุนอยู่ หรืออาจจะยิงมาจากอิหร่านโดยตรง Pompeo ยืนยันว่า อิหร่านเป็นคนโจมตีในครั้งนี้ และไม่มีหลักฐานใด ๆ ยืนยันว่า การโจมตีครั้งนี้มาจากฝ่ายกบฏ Houthis ในเยเมน

  อย่างไรก็ตาม ท่าทีของ Trump ที่ในตอนแรกดูเหมือนกำลังจะโจมตีอิหร่าน แต่วันต่อมา Trump ก็เปลี่ยนท่าทีไปเน้นในเรื่องของการเจรจา และต่อมา ในวันที่ 18 กันยายน Trump ก็ได้ประกาศว่า จะใช้มาตรการคว่ำบาตรอิหร่านเพิ่มเติมเพื่อลงโทษอิหร่านในครั้งนี้

  สาเหตุ
  ประเด็นสำคัญคือ การวิเคราะห์ถึงสาเหตุของการโจมตีในครั้งนี้ หากเป็นการโจมตีโดยอิหร่าน ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงมาก ก็ต้องวิเคราะห์ว่า เหตุใดอิหร่านจึงตัดสินใจโจมตีซาอุดิอาระเบีย ซึ่งน่าจะมีอยู่หลายสาเหตุด้วยกัน

  สาเหตุที่สำคัญที่สุดคือ เป็นการตอบโต้ของอิหร่านต่อมาตรการการคว่ำบาตรของสหรัฐ

  สำหรับภูมิหลังของมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐต่ออิหร่านนั้น จริง ๆแล้ว ในสมัยของรัฐบาล Obama ได้เจรจาหารือกับอิหร่านจนได้ข้อตกลงในปี 2015 ที่ได้กำหนดให้อิหร่านหยุดพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์โดยแลกกับการที่ตะวันตกจะเลิกคว่ำบาตรทางเศรฐกิจต่ออิหร่าน

  อย่างไรก็ตาม ในสมัยของประธานาธิบดี Trump ซึ่งมองอิหร่านเป็นศัตรูหมายเลข 1 และไม่ไว้ใจอิหร่าน สงสัยว่าอิหร่านกำลังแอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ และต้องการสกัดกั้นการแพร่อิทธิพลของอิหร่านในตะวันออกกลาง Trump จึงได้ตัดสินใจในช่วงกลางปี 2018 ถอนสหรัฐออกจากข้อตกลงปี 2015 และดำเนินมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านอย่างเข้มข้นตลอด 1 ปีที่ผ่านมา โดยการห้ามประเทศต่างๆไม่ให้ซื้อน้ำมันจากอิหร่าน การส่งออกน้ำมันของอิหร่านได้ลดลงจาก 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน เหลือเพียง 1 ล้านบาร์เรลในปัจจุบัน ทำให้เศรษฐกิจของอิหร่านทรุดหนัก

  ต่อมา Trumpได้เดินหน้าบีบอิหร่านต่อ ด้วยมาตรการการกดดันที่เรียกว่า maximum pressure หรือกดดันอย่างเต็มที่ โดยได้ขยายขอบข่ายการคว่ำบาตรจากน้ำมันเป็นทุกสาขาอุตสาหรรมของอิหร่าน ไม่ให้มีการติดต่อค้าขายกับประเทศต่างๆ ทำให้อิหร่านประสบกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างหนัก

  แต่กลับกลายเป็นว่า มาตรการ maximum pressure ของ Trumpไม่ได้ทำให้อิหร่านยอมอ่อนข้อต่อสหรัฐแต่อย่างใด แต่กลับทำให้อิหร่านมีมาตรการแข็งกร้าวขึ้นเรื่อย ๆ Trump หวังว่ามาตรการคว่ำบาตรจะทำให้อิหร่านเจ็บปวดและยอมเจรจากับสหรัฐ และยอมทำตามข้อเรียกร้องของสหรัฐ ทั้งการหยุดพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธ รวมทั้งยุติการแพร่ขยายอิทธิพลในตะวันออกกกลาง แต่มาตรการของ Trump ก็เป็นแค่ความฝัน โดยอิหร่านได้ดำเนินมาตรการตอบโต้สหรัฐอย่างแข็งกร้าวมากขึ้นเรื่อย ๆ เริ่มจากการโจมตีเรือบรรทุกน้ำมันในอ่าวเปอร์เชีย ยึดเรือบรรทุกน้ำมัน ประกาศที่จะไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงนิวเคลียร์ในปี2015 และเดินหน้าพัฒนาโรงงานนิวเคลียร์ต่อ กลางเดือนพฤษภาคม อิหร่านได้โจมตีท่อส่งน้ำมันในซาอุดิอาระเบีย ซึ่ง Pompeo ได้กล่าวหาอิหร่านว่า อยู่เบื้องหลังการโจมตีซาอุดิอาระเบียเกือบร้อยครั้ง กลางเดือนมิถุนายน อิหร่านโจมตีเรือบรรทุกน้ำมันในช่องแคบ Hormuz และในวันที่ 20 มิถุนายน อิหร่านได้ยิงโดรนของสหรัฐตก ซึ่งการยิงโดรนของสหรัฐตกเกือบทำให้ Trumpโจมตีอิหร่าน และล่าสุด เมื่อวันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมา อิหร่านก็ได้ยกระดับความรุนแรงและแข็งกร้าว ด้วยการโจมตีโรงกลั่นน้ำมันของซาอุดิอาระเบียดังกล่าวข้างต้น

  อิหร่านคงตระหนักดีว่า การโจมนี้ในครั้งนี้คงจะเป็นการยั่วยุให้สหรัฐโจมตีอิหร่านกลับ แต่อิหร่านคงจะคาดคะเนออกว่า Trump คงจะไม่กล้าใช้กำลังทางการทหาร จากด้วยหลายสาเหตุด้วยกัน นอกจากนี้อิหร่านก็คงรู้ทัน Trump ว่า ได้แค่ขู่และคงไม่กล้าทำจริง ซึ่งการไม่กล้าทำจริงเกิดขึ้นมาแล้วในเดือนมิถุนายน ซึ่งในตอนแรก Trump ขู่ว่าจะโจมตีอิหร่านเพราะอิหร่านยิงโดรนของสหรัฐตก แต่ในที่สุด Trump ก็ยกเลิกแผนการโจมตีดังกล่าว

  นอกจากนี้ การโจมตีของอิหร่านในครั้งนี้ อาจเป็นความพยายามในการกดดันให้ประเทศในยุโรปซึ่งมีท่าทีประนีประนอมมากกว่าสหรัฐ กดดันสหรัฐให้ยุติมาตรการคว่ำบาตรและหันมาเ
จรจากับอิหร่าน

  แนวโน้มสงคราม
  ประเด็นน่าสนใจที่ต้องวิเคราะห์ต่อคือ ประเด็นที่ว่า วิกฤติอิหร่านในครั้งนี้ จะนำไปสู่สงครามหรือไม่ ซึ่งจากการวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆในขณะนี้ จะชี้ให้เห็นได้ว่า ในที่สุดแล้ว Trump คงจะหลีกเลี่ยงการทำสงครามกับอิหร่าน รัฐบาล Trump กำลังตกอยู่ในสถานะลำบาก เพราะหากสหรัฐไม่ตอบโต้การกระทำของอิหร่านในครั้งนี้ จะทำให้อิหร่านฮึกเหิม แต่ในขณะเดียวกัน Trump ตระหนักดีว่า การโจมตีอิหร่านอาจทำให้สงครามลุกลามบานปลาย จนอาจกลายเป็นสงครามใหญ่ในตะวันออกกลาง

   สมรรถนภาพทางทหารของอิหร่านแข็งแกร่งกว่าอิรักและอัฟกานิสถานที่รัฐบาล Bush เคยทำสงครามยึดครองมาได้ นอกจากกำลังทหารที่แข็งแกร่งแล้ว อิหร่านยังมีขีปนาวุธมากที่สุดในตะวันออกกลางที่พร้อมโจมตี เรือ ฐานทัพ และโครงสร้างพื้นฐานของสหรัฐและพันธมิตรทั่วตะวันออกกลาง นอกจากนี้ อิหร่านยังสามารถปลุกระดมกลุ่มติดอาวุธที่เป็นแนวร่วมของอิหร่าน เช่น กลุ่ม Houthisในเยเมน และ กลุ่ม Hizbullahในเลบานอน รวมทั้งกลุ่มก่อการร้ายนิกายชีอะห์ที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วโลกให้โจมตีสหรัฐและพันธมิตร

  นอกจากนี้ หากเกิดสงครามบานปลาย จะกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและก่อให้เกิดวิกฤตการณ์พลังงานโลก และจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งจะไม่เป็นผลดีเลยต่อ Trump อย่างมากในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปีหน้า ดังนั้น Trump คงจะพยายามหลีกเลี่ยงการทำสงครามกับอิหร่าน

  หากเปรียบเทียบกับในกรณีเกาหลีเหนือ ในตอนแรก Trump ขู่ว่าจะโจมตีเกาหลีเหนือและโจมตีคิม จอง อึน อย่างรุนแรง แต่ต่อมาเขาก็ได้พบปะหารือกับคิม จอง อึน จึงทำให้เห็นว่า ยุทธศาสตร์ของ Trump นั้น พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา

  นอกจากนี้ ในตอนหาเสียงเลือกตั้ง Trump ประกาศมาโดยตลอดว่า การทำสงครามในตะวันออกกลางเป็นสิ่งที่ทำให้อเมริกาสูญเสียทรัพยากรมหาศาลโดยไม่ได้ประโยชน์อะไร ดังนั้น เมื่อเขาเป็นประธานาธิบดี เขาจึงพยายามลดกองกำลังทหารในตะวันออกกลางลง เพื่อลดค่าใช้จ่าย เห็นได้จากการมีบทบาททางทหารในซีเรียอย่างจำกัด และความพยายามถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน Trump จึงพยายามไม่ใช้มาตรการทางทหารในโยบายการต่างประเทศของเขา ซึ่งประเด็นนี้ น่าจะเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้เกิดความแตกแยกอย่างหนักระหว่าง Trump กับอดีตที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Advisor) John Bolton ซึ่งมีนโยบายสายเหยี่ยวสุดโต้ง ที่ต้องการโจมตีอิหร่านอย่างเต็มที่ และความขัดแย้งในเรื่องนี้ น่าจะเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ Trump ปลด John Bolton ออกจากตำแหน่งที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติ

  อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแนวโน้มการเกิดสงครามอาจจะมีความเป็นไปได้น้อย แต่วิกฤติอิหร่านครั้งนี้ก็ทำให้แนวโน้มการเจรจาเป็นไปได้ยากขึ้นเช่นเดียวกัน สถานการณ์ในขณะนี้ คงจะทำให้สหรัฐไม่อยากจะเจรจากับอิหร่านอย่างแน่นอน และจะทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งยืดเยื้อไปอีกนาน Trump เองก็คงพยายามคิดหามาตรการลงโทษอิหร่านเพิ่มเติมแทนการใช้มาตรการทางทหาร ซึ่งก็จะไม่ได้ช่วยทำให้สถานการณ์ดีขึ้น ที่ผ่านมาก็เห็นได้ชัดว่า ยิ่งสหรัฐลงโทษอิหร่านมากขึ้นเท่าไหร่ อิหร่านก็จะแข็งกร้าวมากขึ้นเท่านั้น

   ประธานาธิบดี Emmanuel Macron ของฝรั่งเศส ในระหว่างการประชุม G7 เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ได้พยายามที่จะจัดให้ Trump พบปะหารือกับประธานาธิบดีอิหร่าน Hassan Rouhani โดยกะว่าจะให้มีการพบปะกันในขณะที่ Rouhani เดินทางมาเข้าร่วมประชุมสหประชาชาติที่นครนิวยอร์ก แต่หลังจากเกิดวิกฤติดังกล่าว ความหวังที่จะให้มีการพบปะกันของผู้นำทั้งสองประเทศก็ล่มสลายลง

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ คอลัมน์กระบวนทรรศน์ วันที่ 25 กันยายน 2562
ที่มารูปภาพ: https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/839433

วิกฤติอิหร่านอเมริกา-อิหร่านโรงกลั่นน้ำมันซาอุ
Share this

The Author drprapat

ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

0 Comments General

Leave A Comment Cancel reply

+ 6 = 7

 
รศ.ดร.ประภัสสร์ เทพชาตรี ศ.ดร.ประภัสสร์ เทพชาตรี ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้บรรยายพิเศษในสถาบันต่างๆ อาทิ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สถาบันพระปกเกล้า มีงานเขียน งานวิจัย ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และมีคอลัมน์ประจำ "กระบวนทรรศน์" ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์และคอลัมน์ประจำ "โลกทรรศน์" ในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
  • หนังสือ "ยุทศาสตร์สหรัฐฯต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้"

  • หนังสือ "ประชาคมเอเชียตะวันออก"

  • หนังสือ "ประชาคมอาเซียน"

  • หนังสือ "สถานการณ์โลกปี 2553 และแนวโน้มปี 2554"

  • ปกนโยบายต่างประเทศ-USA-แก้-2557-07-28-at-3.05.01-PM

1/4

Calendar

January 2021
M T W T F S S
« Apr    
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031

Blog

drprapat-header-3

LINKS

คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ศึกษานโยบายระหว่างประเทศ (CIPS) ศูนย์ศึกษานโยบายระหว่างประเทศ (CIPS)

Tags

AEC al-Qaeda APEC ARF ASEAN Clinton Donald Trump EAS EU eurozone FTA G-20 ISIS Obama the rise of China TPP UN UNSC WTO การก่อการร้าย การต่างประเทศของไทย การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ ความขัดแย้ง ความขัดแย้งทะเลจีนใต้ ความมั่นคง จีน ตะวันออกกลาง ประชาคมอาเซียน ประเทศมหาอำนาจ พม่า ยุทธศาสตร์สหรัฐฯ รัสเซีย วิกฤต Eurozone สงคราม สงครามการค้า สหรัฐ สหรัฐอเมริกา สหรัฐฯ อัฟกานิสถาน อาเซียน อิหร่าน เกาหลีเหนือ เศรษฐกิจ เอเชีย ไทย