Logo
  • หน้าหลัก
  • ประวัติ
  • ผลงานวิชาการ
  • ผลงานอื่นๆ
    • หนังสือ
    • Powerpoint
    • สัมภาษณ์รายการต่างๆ
    • บทความอื่นๆ
  • Blog
  • Gallery ภาพส่วนตัว
  • ติดต่อ
Copyright, 2015 : drprapat.com - All rights reserved.
September 1, 2019
drprapat
บทความ
0

วิกฤติฮ่องกง

PreviousNext
photo.postjung.com-ttg4rc

   สถานการณ์ความวุ่นวายในฮ่องกงกำลังเข้าสู่จุดวิกฤติ โดยมีแนวโน้มว่า รัฐบาลจีนอาจใช้กำลังทหารเข้าปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วง ซึ่งจะส่งผลกระทบไปทั่วโลก คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์สถานการณ์วิกฤติในฮ่องกง ปัจจัยที่จีนจะใช้กำลังทางทหารหรือไม่ และผลกระทบต่อโลกและต่อภูมิภาค ดังนี้

  สถานการณ์วิกฤติฮ่องกง
   นับเป็นเวลากว่า 2 เดือนแล้ว ที่ได้มีการเดินขบวนประท้วงต่อต้านรัฐบาล จุดเริ่มต้นมาจากการต่อต้านกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน แต่ต่อมา การชุมนุมประท้วงได้ขยายตัว มีจำนวนผู้เข้าร่วมเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ถึงกว่า 2 ล้านคน และข้อเรียกร้องก็เปลี่ยนไป กลายเป็นเรียกร้องประชาธิปไตย
   ในขณะที่สถานการณ์ลุกลามบานปลายเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ความอดทนอดกลั้นของรัฐบาลจีนก็ลดลงเรื่อย ๆ ได้มีการส่งสัญญานให้เห็นถึงความแข็งกร้าวมากขึ้น ผู้บัญชาการกองทัพของจีนได้ประกาศกร้าวว่า กองทัพมีความมุ่งมั่น ที่จะปกป้องอำนาจอธิปไตยและความมั่นคงของฮ่องกง และโฆษกรัฐบาลจีนก็ได้ประกาศเตือนผู้ประท้วง ซึ่งถูกมองว่าเป็นพวกอาชญากร และตอกย้ำความมุ่งมั่น ที่จะปกป้องเสถียรภาพของฮ่องกง
   อย่างไรก็ตาม ผู้ประท้วงก็ไม่ได้หวาดเกรงคำขู่ของรัฐบาลจีนแต่อย่างใด กลับเพิ่มความรุนแรงของการประท้วงมากขึ้นเรื่อย ๆ ในเดือนกรกฎาคม ผู้ประท้วงได้เข้าทำลายสำนักงานของรัฐบาลจีน และในช่วงต้นเดือนสิงหาคม ได้มีการประท้วงใหญ่ ทำให้ฮ่องกงเป็นอัมพาต และยึดปิดสนามบินฮ่องกงเป็นเวลา 2 วัน
   สถานการณ์เช่นนี้ที่รัฐบาลจีนมองว่า คำขู่และคำเตือนไม่ได้ผล จึงทำให้ผู้นำจีนมองว่า หนทางเดียวเท่านั้น ที่จะยุติวิกฤติในครั้งนี้ได้ คือการใช้กำลังทางทหาร ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง อาจจะกำลังรอจังหวะในการบุกฮ่องกง โดยอาจจะเป็นช่วงหลังวันครบรอบ 70 ปี ของการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน คือ วันที่ 1 ตุลาคม และหลังจากนั้น ก็คงจะส่งกองกำลังทหารเข้าปราบปรามผู้ประท้วง

  แนวโน้ม
  ดังนั้น คำถามสำคัญในขณะนี้ คือ จีนจะใช้กำลังบุกฮ่องกงหรือไม่ และอะไรเป็นปัจจัยว่า จีนจะบุกหรือไม่บุก ซึ่งปัจจัยสำคัญน่าจะมี ดังนี้

  • ความมั่นคงปลอดภัยของรัฐบาลจีน
  ปัจจัยสำคัญที่สุด คือ การที่รัฐบาลจีนจะมองว่า สถานการณ์ในฮ่องกง จะเป็นภัยคุกคามต่อระบอบการปกครองเผด็จการภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์หรือไม่
  รัฐบาลจีนมองว่า ข้อเรียกร้องของฝ่ายประท้วงในเรื่องประชาธิปไตยนั้น เป็นสิ่งที่รัฐบาลยอมรับไม่ได้ ถือเป็นภัยคุกคามอย่างยิ่งต่อระบอบการปกครองเผด็จการภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์ โดยสิ่งที่รัฐบาลจีนกลัวมากที่สุดคือ การแพร่ขยายแนวคิดประชาธิปไตยเข้าสู่จีนแผ่นดินใหญ่
  รัฐบาลจีนให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่ออำนาจอธิปไตยและแนวคิดชาตินิยม การที่จีนได้ฮ่องกงกลับคืนมาจากอังกฤษ ในปี 1997 ถือเป็นสัญลักษณ์อันสำคัญยิ่ง ต่อแนวคิดเรื่องอำนาจอธิปไตยและลัทธิชาตินิยม ดังนั้น รัฐบาลจีนจะไม่ยอมสูญเสียอำนาจอธิปไตยในการเข้าควบคุมฮ่องกงอย่างเด็ดขาด

  • ภาพลักษณ์
  อาจกล่าวได้ว่า ปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะทำให้จีนไม่กล้าบุกฮ่องกง คือฮ่องกงเป็นประเทศที่เปิดกว้าง และมีการติดต่อสื่อสารกับทั้งโลก รวมถึงในเรื่องของการใช้สื่อสังคมออนไลน์ ดังนั้น ภาพการปราบปรามประชาชนโดยทหารในฮ่องกงจะถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก ซึ่งจะทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลจีนเสียหายอย่างหนัก
  อย่างไรก็ตาม ปัจจัยนี้ ในที่สุดแล้ว เมื่อใดที่รัฐบาลจีนมองเห็นว่า ความมั่นคงปลอดภัยมีความสำคัญกว่าภาพลักษณ์ รัฐบาลจีนก็คงจะตัดสินใจบุกฮ่องกงอยู่ดี รัฐบาลจีนอาจจะมองว่า ภาพลักษณ์ที่เสียไปในระยะยาวอาจจะสามารถกอบกู้กลับมาได้ แต่การสูญเสียอำนาจอธิปไตยที่มีต่อฮ่องกงคงไม่สามารถกอบกู้กลับมาได้

  • เศรษฐกิจ
  ปัจจัยด้านเศรษฐกิจก็อาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ที่อาจจะป้องปรามไม่ให้จีนบุกฮ่องกงได้ เพราะฮ่องกงเป็นศูนย์กลางด้านการเงินของโลก
  อย่างไรก็ตาม ปัจจัยนี้ในสายตาของรัฐบาลจีน ในอดีต อาจจะสำคัญ แต่ในปัจจุบัน อาจจะไม่สำคัญแล้ว เพราะในปัจจุบัน เซี่ยงไฮ้กำลังจะผงาดขึ้นมาเป็นศูนย์กลางทางการเงินแทนที่ฮ่องกง และเสินเจิ้นก็กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็วเพื่อมาแทนที่ฮ่องกง ในอดีต ฮ่องกงเป็นประตูสู่จีนด้านการค้าและการเงิน ในอนาคต เสินเจิ้นจะมาทำหน้าที่นี้แทน
  ปัจจัยด้านเศรษฐกิจอีกปัจจัยหนึ่งคือ การบุกฮ่องกงอาจจะทำให้สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐลุกลามบานปลายมากขึ้น ซี่งจะไม่เป็นผลดีต่อจีน หากมีการใช้กำลัง สหรัฐและตะวันตกคงจะตอบโต้จีนอย่างหนัก และการเจรจาทางการค้าคงจะยุติลงอย่างถาวร อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจีนอาจจะมองว่า สหรัฐมียุทธศาสตร์การปิดล้อมจีนและโดดเดี่ยวจีนทางเศรษฐกิจในระยะยาวอยู่แล้ว ดังนั้น การเจรจาเพื่อยุติสงครามการค้า อาจจะไม่ใช้เรื่องที่สำคัญที่สุดต่อจีน

  • ท่าทีของสหรัฐ
  อีกปัจจัยที่อาจจะป้องปรามไม่ให้จีนบุกฮ่องกง คือท่าทีของสหรัฐ ซึ่งในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา Trump มีท่าทีที่อ่อนมาก ในตอนแรกก็ไม่ได้มีท่าทีสนันสนุนผู้เรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกงเลย ซึ่งTrump มีแนวคิดว่าเรื่องเศรษฐกิจสำคัญกว่าประชาธิปไตย แต่หลังจากถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างหนัก จากหลายฝ่าย โดยเฉพาะจากสภา Congress จึงทำให้ Trump มีท่าทีแข็งกร้าวมากขึ้น ในช่วงกลางเดือนสิงหาคมนี้ Trumpได้เริ่มส่งสัญญานว่า ไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลจีนจะใช้ความรุนแรง และบอกว่า อาจจะกระทบต่อการเจรจาเพื่อยุติสงครามการค้า แต่ท่าทีดังกล่าวก็ยังถือว่าอ่อนมาก ในแง่ที่จะไปป้องปรามการบุกฮ่องกงของจีนได้
  ดังนั้น จากการวิเคราะห์ปัจจัยต่าง ๆ ทั้งหมด จึงอาจคาดการณ์ได้ว่า โอกาสที่จีนจะบุกฮ่องกงนั้นมีอยู่ไม่น้อยทีเดียว

  ผลกระทบ
  หากจีนบุกฮ่องกง จะส่งผลกระทบหลายเรื่อง ทั้งต่อฮ่องกง ต่อภูมิภาค และต่อโลก

  • ผลกระทบต่อฮ่องกง
  การบุกฮ่องกงของทหารจีน จะได้รับการต่อต้านอย่างหนักจากผู้ประท้วง และคงจะนำไปสู่การสูญเสียจำนวนมาก เท่ากับเป็นการล่มสลายของตัวแบบหนึ่งประเทศสองระบบ การบุกฮ่องกงของจีนจะนำไปสู่การอพยพออกนอกประเทศของทั้งชาวต่างชาติและชาวฮ่องกงเป็นจำนวนมหาศาล บริษัทธุรกิจการเงินข้ามชาติจะย้ายออกจากฮ่องกงเป็นจำนวนมาก และระบบเศรษฐกิจของฮ่องกงก็คงจะล่มสลาย

  • ผลกระทบต่อภูมิภาค
  การใช้กำลังทหารบุกยึดฮ่องกง จะส่งผลกระทบไปทั่วภูมิภาค ทำให้ประเทศต่าง ๆ หวาดกลัวและไม่ไว้วางใจจีนมากขึ้น สโลแกนที่จีนพยายามจะบอกกับประเทศเพื่อนบ้านว่า จีนจะผงาดขึ้นมาอย่างสันติ (peaceful rise) ก็คงจะไม่มีใครเชื่ออีกต่อไป จีนจะกลายเป็นเเกะดำเป็นผู้ร้ายในสายตาประชาคมโลก ความร่วมมือกับประเทศต่างๆคงจะประสบกับความยากลำบาก
  ในขณะที่จีนเอง ก็คงจะฮึกเฮิมมากขึ้นในการใช้กำลังเพื่อยุติความขัดแย้งต่างๆ เช่น ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ ความขัดแย้งกับญี่ปุ่นในกรณีเกาะเซ็นกากุ และแน่นอนว่า การบุกฮ่องกงเช่นนี้คงจะทำให้ไต้หวันต้องคิดหนักในเรื่องความสัมพันธ์กับจีน และคงจะไม่มีความเชื่อมั่นอีกต่อไปในสโลแกนหนี่งประเทศสองระบบ

  • ผลกระทบต่อโลก
  การใช้กำลังบุกฮ่องกงของจีน จะนำไปสู่การเกิดสงครามเย็นครั้งใหม่ ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีนจะลุกลามบานปลายหนักขึ้น การบุกฮ่องกงจะยิ่งทำให้จีนถูกปิดล้อมและถูกโดดเดี่ยวทางเศรษฐกิจมากขึ้น ทั้งจากโลกตะวันตกและสหรัฐ เมื่อฮ่องกงกลายเป็นเมืองหนึ่งของจีน นักลงทุนก็คงจะหนีออกจากฮ่องกงกันหมด

  กล่าวโดยสรุป วิกฤติฮ่องกงในครั้งนี้ ล่อแหลมที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ต่อจีน ต่อฮ่องกง ต่อภูมิภาค และต่อโลกด้วย ซึ่งเราคงจะต้องจับตาดูสถานการณ์ต่อไปว่า จะพัฒนาไปในทิศทางใด

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ คอลัมน์กระบวนทรรศน์ วันที่ 28 สิงหาคม 2562
ที่มารูปภาพ :https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/843531

ประท้วงฮ่องกงวิกฤติฮ่องกงฮ่องกง
Share this

The Author drprapat

ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

More Posts Like This One

Screenshot_2019-10-01-18-41-48-89

link youtube บทสัมภาษณ์ Nation TV เรื่อง วิกฤติฮ่องกง

October 1, 2019
0 Comments General

Leave A Comment Cancel reply

− 1 = 1

 
รศ.ดร.ประภัสสร์ เทพชาตรี ศ.ดร.ประภัสสร์ เทพชาตรี ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้บรรยายพิเศษในสถาบันต่างๆ อาทิ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สถาบันพระปกเกล้า มีงานเขียน งานวิจัย ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และมีคอลัมน์ประจำ "กระบวนทรรศน์" ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์และคอลัมน์ประจำ "โลกทรรศน์" ในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
  • หนังสือ "ยุทศาสตร์สหรัฐฯต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้"

  • หนังสือ "ประชาคมเอเชียตะวันออก"

  • หนังสือ "ประชาคมอาเซียน"

  • หนังสือ "สถานการณ์โลกปี 2553 และแนวโน้มปี 2554"

  • ปกนโยบายต่างประเทศ-USA-แก้-2557-07-28-at-3.05.01-PM

1/4

Calendar

December 2019
M T W T F S S
« Nov    
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031  

Blog

drprapat-header-3

LINKS

คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ศึกษานโยบายระหว่างประเทศ (CIPS) ศูนย์ศึกษานโยบายระหว่างประเทศ (CIPS)

Tags

AEC al-Qaeda APEC ARF ASEAN Clinton Donald Trump EAS EU eurozone FTA G-20 IMF ISIS Obama the rise of China TPP UN UNSC WTO การก่อการร้าย การต่างประเทศของไทย การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ ความขัดแย้ง ความขัดแย้งทะเลจีนใต้ ความมั่นคง จีน ตะวันออกกลาง ประชาคมอาเซียน ประเทศมหาอำนาจ พม่า ยุทธศาสตร์สหรัฐฯ รัสเซีย วิกฤต Eurozone สงคราม สงครามการค้า สหรัฐอเมริกา สหรัฐฯ อัฟกานิสถาน อาเซียน อิหร่าน เกาหลีเหนือ เศรษฐกิจ เอเชีย ไทย