วิกฤติเกาหลีเหนือ ปี 2017

ภูมิหลัง
ปัญหาเรื่องอาวุธนิวเคลียร์เกาหลีเหนือ มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า 20 ปี ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 รัฐบาล Clinton ได้เจรจากับเกาหลีเหนือ เพื่อที่จะยับยั้งโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ โดยในช่วงปลายรัฐบาล Clinton ในปี 2000 การเจรจาไปได้ดีถึงขั้น รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐได้ไปเยือนเกาหลีเหนือเพื่อเตรียมการเยือนเกาหลีเหนือของ Clinton
แต่เมื่อมีการเปลี่ยนเป็นรัฐบาล Bush ก็มีการเปลี่ยนนโยบายแบบหน้ามือเป็นหลังมือ หลังเหตุการณ์ 11 กันยายน ปี 2001 Bush ประกาศกร้าวว่า เกาหลีเหนือเป็นหนึ่งในอักษะแห่งความชั่วร้าย และได้ยุติการเจรจากับเกาหลีเหนืออย่างสิ้นเชิง ทำให้เกาหลีเหนือมีปฏิกิริยาตอบโต้อย่างรุนแรง และต่อมาในปี 2006 เกาหลีเหนือก็ได้ทดลองอาวุธนิวเคลียร์เป็นครั้งแรกสำเร็จ
หลังจากนั้น ความตึงเครียดก็เพิ่มมากขึ้น เกาหลีเหนือได้ทดลองอาวุธนิวเคลียร์อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน และได้พัฒนาขีปนาวุธพิสัยไกล ซึ่งสามารถติดอาวุธนิวเคลียร์ ยิงข้ามทวีปได้ ทำให้สหรัฐตื่นตระหนก กลัวถึงภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือเป็นอย่างมาก
ขณะนี้ เกาหลีเหนือน่าจะมีอาวุธนิวเคลียร์อยู่ในครอบครองแล้ว 10 กว่าลูก และผู้นำเกาหลีเหนือก็จะไม่มีทางยอมปลดอาวุธนิวเคลียร์ของตน เพราะ คิมจองอึน คงจะเห็นตัวอย่าง ชะตากรรมของ Saddam Hussain อดีตผู้นำอิรัก และ Gadhafi อดีตผู้นำลิเบีย หลังจากทั้ง 2 ประเทศยอมยุติการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ก็ถูกสหรัฐโจมตี และผู้นำทั้ง 2 ก็ถูกสังหารไปแล้ว
ทางเลือกที่ 1 การคว่ำบาตร
ขณะนี้ จึงเป็นประเด็นสำคัญว่า สหรัฐและประชาคมโลก จะจัดการกับปัญหาเกาหลีเหนืออย่างไร มาตรการขณะนี้ที่ใช้อยู่ คือ การคว่ำบาตรเกาหลีเหนือ อย่างไรก็ตาม ในอดีตที่ผ่านมา คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติหรือ UNSC ได้มีมาตรการคว่ำบาตรต่อเกาหลีเหนือออกมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน แต่ก็ไม่เคยประสบความสำเร็จ
ล่าสุด รัฐบาล Trump เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ได้ผลักดันให้ UNSC ออกมาตรการคว่ำบาตรล่าสุด ที่ดูจะเข้มข้นกว่าในอดีต และคงจะทำให้เกาหลีเหนือไม่สามารถส่งสินค้าออกได้ นับเป็นมูลค่าประมาณ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี และสหรัฐก็พยายามบีบประเทศต่างๆ ให้เลิกติดต่อค้าขายกับเกาหลีเหนือ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะมีมาตรการคว่ำบาตรอย่างไร แต่ในที่สุด เกาหลีเหนือก็จะไม่ยอมปลดอาวุธนิวเคลียร์ของตนอย่างแน่นอน เพราะอาวุธนิวเคลียร์ถือเป็นหลักประกันความอยู่รอดของรัฐบาล คิมจองอึน ที่ดีที่สุด
ทางเลือกที่ 2 การใช้กำลังทางทหาร
อีกทางเลือกหนึ่งที่รัฐบาล Trump กำลังคิดอยู่ คือ การใช้กำลังทางทหาร โจมตีโรงงานนิวเคลียร์ และขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ แต่ปัญหากคือ มีโรงงานนิวเคลียร์ที่หลบซ่อนอยู่มากมายหลายแห่งในเกาหลีเหนือ ที่ไม่อาจโจมตีให้หมดไปได้ แต่ความเสี่ยงที่มากกว่านั้นคือ การโจมตีเกาหลีเหนือ จะนำไปสู่การเกิดสงครามเกาหลีครั้งที่ 2 ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายที่ไม่อาจจะจินตนาการได้ ฝันร้าย คือ สงครามครั้งนี้อาจจะนำไปสู่สงครามนิวเคลียร์ครั้งแรกของโลกก็เป็นไปได้
ทางเลือกที่ 3 การป้องปราม
อีกทางเลือกหนึ่ง คือ การที่สหรัฐดำเนินยุทธศาสตร์การป้องปรามเกาหลีเหนือ ด้วยการเสริมสร้างกำลังทางทหารในเกาหลีใต้ เสริมสร้างระบบป้องกันการโจมตีจากขีปนาวุธในภูมิภาคและในสหรัฐ ซึ่งทางเลือกนี้ อาจจะไปไกลถึงขั้น การติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ในเกาหลีใต้และในญี่ปุ่น เพื่อจะได้ป้องปรามไม่ให้เกาหลีเหนือโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์
อย่างไรก็ตาม ทางเลือกนี้ ก็เท่ากับเป็นการยอมรับให้เกาหลีเหนือ พัฒนาอาวุธนิวเคลียร์อย่างไม่มีขีดจำกัด ซึ่งในอนาคต เกาหลีเหนือก็จะยิ่งเป็นภัยคุกคามหนักขึ้น นอกจากนี้ ก็มีความเป็นไปได้ว่า หากสถานการณ์ตึงเครียดมากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะทำให้ประเทศต่างๆ พัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของตน เพื่อป้องปรามเกาหลีเหนือ อาทิ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ใต้หวัน และอาจรวมไปถึงประเทศในเอเชีตะวันออกเฉียงใต้ด้วย อย่างเช่น เวียดนาม ซึ่งหากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ ก็จะทำให้ภูมิภาคนี้ ไร้เสถียรภาพมากขึ้น และล่อแหลมต่อการเกิดสงครามนิวเคลียร์มากขึ้นในอนาคต
ทางเลือกที่ 4 การเจรจา
ดังนั้น สหรัฐและประชาคมโลก ก็คงจะไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากการเจรจากับเกาหลีเหนือ แต่คำถามที่จะตามมาคือ เป้าหมายของการเจรจาคืออะไร จะเจรจาเพื่อปลดอาวุธนิวเคลียร์เกาหลีเหนือ หรือจะทำให้คาบสมุทรเกาหลีปลอดอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งคงจะเป็นไปได้ยากมาก ที่เกาหลีเหนือจะยอมปลดอาวุธนิวเคลียร์ของตน เพราะอาวุธนิวเคลียร์จะเป็นหลักประกันที่ดีที่สุดต่อความมั่นคงปลอดภัยของเกาหลีเหนือ โดยเฉพาะ จากการถูกโจมตีจากสหรัฐ และอาวุธนิวเคลียร์ยังเป็นเครื่องมือต่อรองที่ดีมาก
ดังนั้น เป้าหมายการเจรจากับเกาหลีเหนือ น่าจะไม่ใช่การทำให้เกาหลีเหนือปลดอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งมันสายไปแล้ว แต่เป้าหมายสำคัญ คือ ไม่ให้เกาหลีเหนือพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์เพิ่มเติม
โดยทางฝ่ายเกาหลีเหนือ จะต้องยอมปิดหรือยุติการพัฒนาโรงงานนิวเคลียร์ที่เมือง Yongbyon รวมถึงยุติการพัฒนานิวเคลียร์ในสถานที่ต่างๆ ที่เกาหลีเหนือแอบซ่อนอยู่
ในขณะเดียวกัน ทางฝ่ายสหรัฐ ก็คงจะต้องดำเนินมาตรการ เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกับการถอยหนึ่งก้าวของเกาหลีเหนือ คือที่เรียกว่า “freeze for freeze” คือการที่เกาหลีเหนือยอม freeze โครงการนิวเคลียร์ ในขณะเดียวกัน สหรัฐก็ยอม freeze การกระทำต่างๆ ที่เกาหลีเหนือมองว่า เป็นภัยคุกคาม
การเจรจาเพื่อแก้ปัญหานิวเคลียร์เกาหลีเหนือนั้น ที่สำคัญที่สุด จะต้องเป็นการเจรจา 2 ฝ่าย ระหว่างคู่กรณีที่สำคัญ คือ สหรัฐกับเกาหลีเหนือเท่านั้น การเจรจาหลายฝ่าย อย่างเช่นการเจรจา 6 ฝ่าย ที่เกิดขึ้นในอดีต คงจะไม่ได้ผล
โดยทางสหรัฐอาจจะต้องยอมถอยหลายก้าว เพื่อแลกเปลี่ยนกับการถอยของเกาหลีเหนือ คือ สหรัฐจะต้องยุติการซ้อมรบกับเกาหลีใต้ ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร สหรัฐจะต้องยอมที่จะเจรจาสนธิสัญญาสันติภาพกับเกาหลีเหนือ สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับเกาหลีเหนือ ให้หลักประกันความมั่นคง โดยจะต้องไม่ขู่ว่าจะโจมตี หรือโค่นล้มรัฐบาลเกาหลีเหนือ รวมทั้งอาจจะต้องยอมรับสถานะของเกาหลีเหนือในฐานะเป็นประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์อยู่ในครอบครอง
กล่าวโดยสรุป หากสหรัฐและเกาหลีเหนือ สามารถที่จะเจรจากันได้ และสามารถที่จะประนีประนอมในข้อเรียกร้องของอีกฝ่ายหนึ่ง และหาสูตรการเจรจาที่ลงตัวกันได้ ก็อาจจะทำให้วิกฤตินิวเคลียร์เกาหลีเหนือคลี่คลายลงไปได้ในอนาคตได้
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 24 สิงหาคม 2560