Logo
  • หน้าหลัก
  • ประวัติ
  • ผลงานวิชาการ
  • ผลงานอื่นๆ
    • หนังสือ
    • Powerpoint
    • สัมภาษณ์รายการต่างๆ
    • บทความอื่นๆ
  • Blog
  • Gallery ภาพส่วนตัว
  • ติดต่อ
Copyright, 2015 : drprapat.com - All rights reserved.
September 22, 2017
drprapat
บทความ
0

วิกฤตโรฮิงญา

PreviousNext
PPT

            ภูมิหลัง

ชาวโรฮิงญาเป็นชนกลุ่มน้อย นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งน่าจะมีจำนวนกว่า 1 ล้านคน อาศัยอยู่ในรัฐยะไข่ของพม่า ชาวโรฮิงญาน่าจะอพยพเข้าไปในบริเวณดังกล่าว ตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 15 ต่อมา ในศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 รัฐยะไข่ได้ถูกปกครองโดยจักรวรรดินิยมอังกฤษ ในช่วงนี้เอง ได้มีชาวโรฮิงญาอพยพเพิ่มเติมเข้ามาอีกเป็นจำนวนมาก

ต่อมา เมื่อพม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษ ในปี ค.ศ.1948 รัฐบาลพม่าได้ปฏิเสธที่จะรับรองชาวโรฮิงญาว่า เป็นหนึ่งในชนเผ่าของประเทศพม่าซึ่งมีทั้งหมด 135 ชนเผ่า ดังนั้น ชาวโรฮิงญาจึงกลายเป็นผู้อพยพผิดกฎหมายที่อพยพมาจากบังกลาเทศ รัฐบาลพม่าปฏิเสธที่จะยอมรับชาวโรฮิงญาเป็นชาวพม่า และไม่ให้สัญชาติพม่าแก่ชาวโรฮิงญา จึงทำให้ชาวโรฮิงญากลายเป็นบุคคลไร้สัญชาติ และไม่มีสิทธิทางกฎหมายใดๆทั้งสิ้น

รัฐบาลพม่าได้ทอดทิ้งชาวโรฮิงญาและรัฐยะไข่มาอย่างยาวนาน จนทำให้ขณะนี้ รัฐยะไข่กลายเป็นรัฐที่ยากจนที่สุดของพม่า โดยมีคนจนอยู่ถึง 78 % ของประชากร และปราศจากโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งโอกาสในการทำงาน ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างชาวพม่าพุทธ และชาวโรฮิงญา ที่นับถือศาสนาอิสลามมากขึ้นเรื่อยๆ

วิกฤตโรฮิงญา

วิกฤตการณ์โรฮิงญาได้เริ่มรุนแรงขึ้นในปี 2012 ความรุนแรงได้เกิดขึ้นเมื่อชาวโรฮิงญาถูกกล่าวหาว่า สังหารสตรีชาวพม่า หลังจากนั้น กลุ่มหัวรุนแรงชาตินิยมจากชาวพม่า ได้ตอบโต้ด้วยการเผาบ้านเรือนของชาวโรฮิงญา และได้สังหารชาวโรฮิงญาไปเกือบ 300 คน ทำให้ชาวโรฮิงญาหลายหมื่นคนได้อพยพย้ายถิ่นฐานเข้าไปในบังกลาเทศ

ต่อมา ในเดือนตุลาคมปี 2016 ได้เกิดการปะทะกัน ในบริเวณพรมแดนพม่ากับบังกลาเทศ ซึ่งได้ก่อให้เกิดคลื่นอพยพระลอกใหม่ ของชาวโรฮิงญาหลายหมื่นคนเข้าไปในบังกลาเทศ

และสถานการณ์ล่าสุดเมื่อช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ได้เกิดความรุนแรงครั้งใหญ่ขึ้น เมื่อกลุ่มหัวรุนแรงติดอาวุธชาวโรฮิงญา ที่เรียกตัวเองว่า Arakan Rohingya Salvation Army (ARSA) ได้อ้างความรับผิดชอบ ในการโจมตีค่ายทหารและตำรวจของพม่า ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 100 คน หลังจากนั้น ได้เกิดความวุ่นวายครั้งใหญ่ มีการเผาบ้านเรือน และสังหารชาวโรฮิงญาเป็นจำนวนมาก จึงนำไปสู่การอพยพครั้งใหญ่สุดของชาวโรฮิงญาเข้าไปในบังกลาเทศ จำนวนเกือบ 400,000 คน ซึ่งประมาณ 1 ใน 3 ของชาวโรฮิงญาที่อาศัยอยู่ในพม่าทั้งหมด

สำหรับประเทศที่ชาวโรฮิงญาได้อพยพย้ายถิ่นฐานเข้าไปนั้น มีหลายประเทศ ดังนี้

บังกลาเทศ : เป็นประเทศที่ชาวโรฮิงญาได้อพยพเข้าไปมากที่สุด จำนวนหลายแสนคน และได้มีการจัดค่ายผู้ลี้ภัยขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่สภาวะความเป็นอยู่ของค่ายผู้ลี้ภัยเหล่านี้ก็ย่ำแย่มาก ทำให้ชาวโรฮิงญาเป็นจำนวนมาก ดิ้นรนหนีอพยพออกจากบังกลาเทศ มายังประเทศในเอเชียตะวันออกฉียงใต้ ส่วนใหญ่อพยพทางทะเล มายังประเทศไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย

มาเลเซีย : มีผู้ลี้ภัยจดทะเบียนอยู่ประมาณ 150,000 คน ในจำนวนนี้ 90 % เป็นผู้ลี้ภัยจากพม่า ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญานั่นเอง

ไทย : สำหรับประเทศไทย ซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้ามนุษย์ในภูมิภาค เป็นทางผ่านของชาวโรฮิงญา ที่ส่วนใหญ่อพยพมาทางทะเลจากบังกลาเทศหรือพม่า และมาขึ้นฝั่งที่ประเทศไทย แล้วเดินทางต่อทางบกเข้าไปในมาเลเซีย หรือไม่ก็เดินทางต่อทางทะเลไปยังอินโดนีเซียและมาเลเซีย

อินโดนีเซีย : เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ชาวโรฮิงญาเดินทางไปอาศัยอยู่ อย่างไรก็ตาม โดยที่อินโดนีเซียอยู่ไกลจากพม่า จึงทำให้มีชาวโรฮิงญาที่อพยพไปอยู่ในอินโดนีเซียไม่มากนัก

และเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ได้มีวิกฤตใหม่เกิดขึ้น ที่ทำให้ปัญหาโรฮิงญา ดูจะยิ่งน่ากังวลมากขึ้น คือ ปัญหาการก่อการร้ายสากล โดยกลุ่มก่อการร้ายอัลกออิดะห์ ได้เรียกร้องเมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้ว ให้กลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงทั่วโลก เดินทางมาให้ช่วยเหลือชาวโรฮิงญา ขณะนี้ ยังไม่มีความแน่นอนว่า จะมีกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงที่ขานรับคำเรียกร้องของอัลกออิดะห์มากน้อยเพียงใด

นอกจากนี้ ยังมีบุคคลสำคัญในระดับสูงของอิหร่าน ได้เรียกร้องให้ชาวมุสลิมทั่วโลก จัดตั้งกองกำลังเพื่อที่จะมาช่วยเหลือชาวโรฮิงญา โดยได้เสนอให้มีการจัดตั้งกองกำลังในลักษณะแบบกองกำลังของนาโต้ ซึ่งจะประกอบด้วยกองกำลังทหารจากหลายๆประเทศ ทั้งจากอิหร่าน ซีเรีย อิรัก และตุรกี เป็นต้น

สำหรับรัฐบาลพม่า ได้ปฏิเสธมาโดยตลอด ถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรัฐยะไข่ นาง ออง ซาน ซูจี ผู้นำของพม่า ได้ปฏิเสธมาโดยตลอดว่า ไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เกิดขึ้น และได้กล่าวตอบโต้กระแสวิพากวิจารณ์จากนานาชาติว่า ข้อกล่าวหาดังกล่าว ไม่เป็นความจริง

 

ประชาคมโลก

จากวิกฤตการณ์ดังกล่าว ได้เกิดปฏิกิริยาขึ้นในหลาย ๆประเทศทั่วโลก ดังนี้

รัฐมนตรีต่างประเทศของบังกลาเทศ ในช่วงต้นเดือนกันยายน ได้กล่าวประณามว่า ความรุนแรงในรัฐยะไข่ เป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหประชาชาติ ที่ดูแลเรื่องสิทธิมนุษยชน ได้กล่าวถึงวิกฤตโรฮิงญาว่า เป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธ์เช่นเดียวกัน

และเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา เลขาธิการสหประชาชาติ นาย Antonio Guterres ได้เรียกร้องให้รัฐบาลพม่ายุติความรุนแรงในรัฐยะไข่ โดยเฉพาะเรียกร้องให้ นาง ออง ซาน ซูจี ตัดสินใจยุติความรุนแรงดังกล่าว เพื่อที่จะหยุดยั้ง ไม่ให้ความรุนแรงลุกลามบานปลาย ซึ่งจะทำให้เกิดการไร้เสถียรภาพในภูมิภาค

สำหรับรัฐบาลสหรัฐ เมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้ว ทำเนียบขาวได้ออกแถลงการณ์ ประณามการโจมตีชาวโรฮิงญาและความรุนแรงที่เกิดขึ้น โดยรัฐบาลสหรัฐได้กล่าวว่า รู้สึกห่วงกังวลเป็นอย่างยิ่ง ต่อวิกฤตการณ์รวมถึงข้อกล่าวหาในการละเมิดสิทธิมนุษยชน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าวิกฤตการณ์ดังกล่าว จะเกิดขึ้นในภูมิภาคอาเซียน และในประเทศสมาชิกอาเซียน แต่อาเซียนก็ไม่ได้มีปฏิกิริยาและท่าทีแต่อย่างใดออกมาเลย โดยประเทศสมาชิกยังคงมองว่า เรื่องดังกล่าว และวิกฤตการณ์โรฮิงญา เป็นเรื่องภายในประเทศพม่า และประเทศสมาชิกอาเซียนก็ยังคงยึดกฎเหล็กของอาเซียนอย่างเหนียวแน่น นั่นก็คือ การไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิก

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 21 กันยายน 2560

พม่าโรฮิงญา
Share this

The Author drprapat

ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

0 Comments General

Leave A Comment Cancel reply

+ 81 = 84

 
รศ.ดร.ประภัสสร์ เทพชาตรี ศ.ดร.ประภัสสร์ เทพชาตรี ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้บรรยายพิเศษในสถาบันต่างๆ อาทิ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สถาบันพระปกเกล้า มีงานเขียน งานวิจัย ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และมีคอลัมน์ประจำ "กระบวนทรรศน์" ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์และคอลัมน์ประจำ "โลกทรรศน์" ในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
  • หนังสือ "ยุทศาสตร์สหรัฐฯต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้"

  • หนังสือ "ประชาคมเอเชียตะวันออก"

  • หนังสือ "ประชาคมอาเซียน"

  • หนังสือ "สถานการณ์โลกปี 2553 และแนวโน้มปี 2554"

  • ปกนโยบายต่างประเทศ-USA-แก้-2557-07-28-at-3.05.01-PM

1/4

Calendar

January 2021
M T W T F S S
« Apr    
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031

Blog

drprapat-header-3

LINKS

คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ศึกษานโยบายระหว่างประเทศ (CIPS) ศูนย์ศึกษานโยบายระหว่างประเทศ (CIPS)

Tags

AEC al-Qaeda APEC ARF ASEAN Clinton Donald Trump EAS EU eurozone FTA G-20 ISIS Obama the rise of China TPP UN UNSC WTO การก่อการร้าย การต่างประเทศของไทย การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ ความขัดแย้ง ความขัดแย้งทะเลจีนใต้ ความมั่นคง จีน ตะวันออกกลาง ประชาคมอาเซียน ประเทศมหาอำนาจ พม่า ยุทธศาสตร์สหรัฐฯ รัสเซีย วิกฤต Eurozone สงคราม สงครามการค้า สหรัฐ สหรัฐอเมริกา สหรัฐฯ อัฟกานิสถาน อาเซียน อิหร่าน เกาหลีเหนือ เศรษฐกิจ เอเชีย ไทย