สงครามการค้าโลก (ตอนที่ 3)

สงครามการค้าโลก (ตอนที่ 3)
ผมได้เขียนเกี่ยวกับสงครามการค้าโลกไปแล้ว 2 ตอน อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา สถานการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไปมาก สงครามการค้าโลกรุนแรงมากขึ้น คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จึงจะมาวิเคราะห์ต่อ ถึงสถานการณ์ล่าสุดของสงคราม และจะวิเคราะห์ผลกระทบต่อโลก และผลกระทบต่อไทยด้วย
สงครามการค้า จีน–สหรัฐ
สงครามการค้าโลกในขณะนี้ หลักๆเป็นการรบกันระหว่าง สหรัฐ กับ จีน พัฒนาการของความขัดแย้ง เริ่มต้นขึ้น ตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา เริ่มจาก Trump ประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้า เหล็กกล้า และอะลูมิเนียม ซึ่งกระทบต่อการส่งออกสินค้าดังกล่าวของจีน ที่ส่งไปสหรัฐ มูลค่า 3,000 ล้านเหรียญ ต่อมา จีนได้ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐ มูลค่า 3,000 ล้านเหรียญ เพื่อเป็นการตอบโต้
ต่อมา ในเดือนกรกฎาคม Trump ได้ประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีน มูลค่า 50,000 ล้านเหรียญ โดยจะขึ้นภาษี 25% ซึ่งจีนได้ตอบโต้ โดยการขึ้นภาษีสินค้าจากสหรัฐ มูลค่า 50,000 ล้านเหรียญ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตร ที่สหรัฐส่งไปจีน
ในช่วงต้นเดือนสิงหาคม สหรัฐจะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีน เพิ่มอีก 200,000 ล้านเหรียญ โดยจะขึ้นภาษี 10% และล่าสุด Trump ได้ประกาศว่า พร้อมที่จะเดินหน้าขึ้นภาษี สินค้านำเข้าจากจีนอีก 500,000 ล้านเหรียญ
โดยรวมแล้ว สหรัฐ ประกาศขึ้นภาษีสินค้าจีนหลายครั้ง มูลค่ามหาศาล จีนพยายามตอบโต้ แต่ก็มีข้อจำกัด เพราะจีนนำเข้าจากสหรัฐเพียง 130,000 ล้านเหรียญเท่านั้น จีนจึงน่าจะหันไปใช้มาตรการอื่นๆที่ไม่ใช่ภาษีเพื่อตอบโต้ เช่น การจำกัดการลงทุนของสหรัฐในจีน การห้ามนักท่องเที่ยวจีนไปสหรัฐ หรือการขายพันธบัตรของรัฐบาลสหรัฐ ที่จีนถือครองอยู่ หลายล้านล้าน เหรียญ
ผลกระทบต่อระบบการค้าโลก
มาตรการปกป้องทางการค้าของ Trump ซึ่งนำไปสู่สงครามการค้ากับจีน และกับอีกหลายประเทศทั่วโลก ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของนโยบายการค้าของสหรัฐ ที่ตลอดเวลา 70 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐเป็นตัวแสดงหลักในการจัดตั้งระบบการค้าเสรีของโลกขึ้นมา ที่เราเรียกว่า Bretten Woods System แต่นโยบายของ Trump กลับกลายเป็นนโยบายต่อต้านการค้าเสรี และการปกป้องทางการค้าอย่างหนัก ซึ่งเป็นการทำลายระบบการค้าเสรีของโลก ที่สหรัฐเป็นผู้สร้างขึ้นมา อย่างสิ้นเชิง
สงครามการค้าที่เกิดขึ้น ทำให้โครงสร้างทางการค้าระหว่างประเทศเปลี่ยนไป ประเทศต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบ กำลังแสวงหาพันธมิตรทางการค้าใหม่ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยง และรักษาเสถียรภาพในระยะยาว หลายประเทศมีนโยบายปกป้องทางการค้า ขึ้นภาษี เพื่อตอบโต้สหรัฐ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในเอเชีย ได้ผลักดัน ให้มีความพยายามเดินหน้าในการเจรจากรอบการค้าเสรีต่างๆ มากขึ้น
ญี่ปุ่น ในเดือนกรกฎาคม ได้ลงนามทำ FTA กับสหภาพยุโรป
และในเดือนกรกฎาคม รัฐมนตรีการค้า ของ 16 ประเทศในเอเชีย ซึ่งกำลังเจรจา FTA อาเซียน+6 หรือ RCEP พยายามที่จะบรรลุข้อตกลงให้ได้ภายในปีนี้
นอกจากนี้ ยังมีกรอบการค้าเสรี ที่เรียก CPTPP ซึ่งย่อมาจาก Comprehensive Progressive Trans-Pacific Partnership ซึ่งก็คือข้อตกลง TPP เก่า ซึ่งในสมัยรัฐบาล Obama พยายามผลักดันเต็มที่ แต่มาถึงในสมัยรัฐบาล Trump สหรัฐได้ถอนตัวออกจาก TPP ไป 11 ประเทศสมาชิก TPP ที่เหลือพยายามเดินหน้าต่อ และเปลี่ยนชื่อ TPP ใหม่เป็น CPTPP ขณะนี้มีหลายประเทศที่สนใจจะเข้าร่วม CPTPP อาทิ ไทย อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ และไต้หวัน
ข้อตกลงเหล่านี้ กำลังเดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ เพราะแรงกดดันจากสงครามการค้า จีน–สหรัฐ
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ FTA ต่างๆเหล่านี้ จะสามารถรักษาระบบการค้าเสรีของโลกไว้ได้ ทั้งนี้ เพราะในโลกตะวันตก ทั้งสหรัฐ และยุโรป กำลังมีกระแสต่อต้านโลกาภิวัตน์ และต่อต้านการค้าเสรีอย่างหนัก
ผลกระทบต่อไทย
สำหรับประเทศไทย สงครามการค้าโลก จะกระทบต่อไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งจะมีทั้งผลกระทบในด้านบวก และด้านลบ
- ผลกระทบในด้านลบ
สำหรับผลกระทบในด้านลบ หากระบบการค้าเสรีโลกสั่นคลอน ไทยจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน เพราะประเทศต่างๆ จะมีนโยบายปกป้องทางการค้าเพิ่มขึ้นทั่วโลก
ไทยเป็นผู้ส่งออกชิ้นส่วนต่างๆ รายใหญ่ไปจีน และไปสหรัฐ ซึ่งห่วงโซ่อุปทาน หรือ supply chain จะได้รับผลกระทบ สินค้าที่จะได้รับผลกระทบอย่างหนัก คือสินค้าส่งออกชิ้นส่วนไปจีน เพื่อไปประกอบเป็นสินค้าสำเร็จรูปส่งออกไปสหรัฐ ซึ่งมีทั้ง ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ ซึ่งไทยส่งออกไปจีนถึง 20% ของการส่งออกไปทั่วโลก นอกจากนี้ ยังมีชิ้นส่วนที่ผลิตจากพลาสติก ซึ่งไทยส่งออกไปจีนถึง 10% และจีนยังเป็นผู้นำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์รายใหญ่ของไทย เพื่อนำเข้าไปประกอบในจีนและส่งออก ซึ่งอาจทำให้ยอดสั่งซื้อสินค้าเหล่านี้จากไทยลดลง
ผลกระทบทางลบอีกประการคือ จีนและสหรัฐอาจใช้มาตรการทุ่มตลาด ส่งสินค้าที่ถูกขึ้นภาษี เข้ามาไทยเพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังจะมีปัญหาเรื่อง การที่จีนจะใช้วิธีสวมสิทธิ์ โดยการส่งสินค้าจีนมาไทย และดัดแปลงเพียงเล็กน้อย ให้กลายเป็นสินค้าที่ผลิตในไทย และส่งออกไปสหรัฐ
- ผลกระทบในด้านบวก
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบในเชิงบวกต่อสงครามการค้าในครั้งนี้ ก็มีอยู่เหมือนกัน คือ สินค้าไทยบางรายการ จะมีโอกาสส่งออกไปสหรัฐและจีนเพิ่มมากขึ้น เพื่อทดแทนสินค้าที่จีนไม่ซื้อจากสหรัฐ และที่สหรัฐไม่ซื้อจากจีน
สินค้าที่ไทยอาจจะส่งออกไปจีนได้มากขึ้น จะเป็นสินค้าเกษตร ที่จีนไม่นำเข้าจากสหรัฐ อาทิ กรณีการปรับขึ้นภาษีสินค้าข้าวโพดจากสหรัฐ มีความเป็นไปได้ว่า จีนอาจหันมานำเข้ามันสำปะหลังจากไทย เพื่อนำไปผลิตแอทานอล และอาหารสัตว์ทดแทน
การส่งออกสินค้าอาหารทะเล จากไทยไปตลาดสหรัฐและจีน มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เพราะสหรัฐจะลดการนำเข้าสินค้าอาหารทะเลจากจีนลง เช่นเดียวกัน จีนก็จะลดการนำเข้าสินค้าอาหารจากสหรัฐ ไทยเป็นประเทศที่ส่งออกสินค้าอาหารเป็นอันดับ 5 ของโลก นอกจากนี้ ไทยเป็นประเทศส่งออกปลาทูน่ากระป๋องเป็นอันดับ 1 ของโลก สงครามการค้าจะเปิดโอกาสให้ไทย ส่งออกปลาทูน่ากระป๋องไปตลาดสหรัฐ และจีนเพิ่มมากขึ้น
และผลดีอีกประการ คือ การที่จีนและสหรัฐอาจจะย้ายฐานการผลิต และย้ายมาลงทุนในไทยมากขึ้น เพื่อผลิตสินค้าในไทย และส่งออกไปสหรัฐและจีนแทน
อย่างไรก็ดี ผลดีต่อไทยจากสงครามการค้า เป็นผลดีในระยะสั้นและไม่ยั่งยืน ดังนั้นในระยะยาว ไทยจะต้องรีบปรับนโยบายการค้าใหม่ เพื่อรองรับต่อแนวโน้มสงครามการค้าโลกที่อาจจะยืดเยื้อ ด้วยการดำเนินนโยบายในเชิงรุก โดยเน้นการส่งเสริมการค้าเสรี กระจายความเสี่ยง และเปิดตลาดใหม่ ด้วยการเปิดการเจรจา FTA กับประเทศคู่ค้าสำคัญๆทั่วโลก รวมทั้งมีนโยบายในเชิงรุก ในกรอบการเจรจาการค้าพหุภาคีต่างๆ ทั้งในกรอบของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน รีบผลักดันการเจรจา RCEP ให้สำเร็จโดยเร็ว รวมทั้งอาจโดดเข้าร่วม FTA ในกรอบ CPTPP ในอนาคตด้วย
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 2 สิงหาคม 2561
ที่มารูปภาพ: https://www.toonpool.com/cartoons/Trade%20war%20on%20China_309089