สงครามการค้าโลก (ตอนที่ 6)

สงครามการค้าโลกระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ยังเป็นปัญหาทางการค้า ที่ส่งผลกระทบต่อไทยเป็นอย่างมาก แม้ว่าในการประชุม G20 ที่ผ่านมา ผู้นำสหรัฐฯกับจีนจะสามารถตกลงกันได้ว่า จะสงบศึกชั่วคราวก็ตาม ก็ยังไม่มีสัญญาณใดๆว่า สงครามการค้าจะยุติลงได้เมื่อไร ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยได้เกิดขึ้นในหลายด้านด้วยกัน ซึ่งคอลัมน์กระบวนทรรศในวันนี้ จะวิเคราะห์ผลกระทบในรายละเอียดดังนี้
● การค้า
สงครามการค้าได้ทำให้การส่งออกของไทยลดลง และติดลบ 2.7% ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ซึ่งถือเป็นการถดถอยของการส่งออก ที่ต่ำที่สุดในรอบ 4 ปี และหากสหรัฐฯเพิ่มมาตรการเก็บภาษีสินค้าจีนเพิ่มอีก 300,000 ล้านเหรียญ จากที่ได้เก็บภาษีจีนไปแล้วกว่า 200,000 ล้านเหรียญ และหากจีนตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯเพิ่มเติม ก็จะทำให้การส่งออกของไทยทรุดหนักลงไปกว่านี้
สินค้าไทยที่ส่งไปประกอบในจีน และเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิต ที่จะส่งต่อไปยังตลาดสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบอย่างหนัก สินค้าที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก มีทั้งชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ ซึ่งไทยส่งออกไปจีนถึง 20% ของการส่งออกไปทั่วโลก นอกจากนี้ ยังมีชิ้นส่วนที่ผลิตจากพลาสติก ซึ่งไทยส่งออกไปจีน 10% และจีนยังเป็นผู้นำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์รายใหญ่ของไทย สงครามการค้าทำให้ยอดสั่งซื้อสินค้าเหล่านี้จากไทยลดลงไปอย่างมาก
การส่งออกชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์จากไม้ และเคมีภัณฑ์ ยอดการส่งออกลดลงมาก โดยเฉพาะการส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ไปจีนลดลงถึง 45% และการส่งออกชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ลดลงเกือบ 40% ยอดรวมการส่งออกของไทยไปจีน ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ลดลงกว่า 20%
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบในเชิงบวก จากสงครามการค้าคือ สินค้าไทยบางรายการ มีโอกาสส่งออกไปสหรัฐฯและจีนเพิ่มขึ้น เพื่อทดแทนสินค้าที่จีนไม่ซื้อจากสหรัฐฯ และที่สหรัฐฯไม่ซื้อจากจีน
สินค้าไทยที่ส่งออกไปจีนได้มากขึ้น คือสินค้าเกษตรที่จีนไม่นำเข้าจากสหรัฐฯ จากการที่จีนขึ้นภาษีสินค้าข้าวโพดจากสหรัฐฯ จึงทำให้จีนหันมานำเข้ามันสำปะหลังจากไทยเพิ่มขึ้น การส่งออกสินค้าอาหารทะเลจากไทยไปสหรัฐฯและจีน ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สินค้าไทย ที่ส่งออกไปสหรัฐฯได้เพิ่มขึ้น เพื่อทดแทนสินค้าจีน ที่ผู้นำเข้าสหรัฐฯลดการนำเข้าจากจีนลงคือ เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ยางพารา สิ่งทอ ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ และยางรถยนต์
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องการที่จีนจะวิธีสวมสิทธิ์ โดยการส่งสินค้าจีนมาไทย และดัดแปลงเพียงเล็กน้อย ให้กลายเป็นสินค้าที่ผลิตในไทย และส่งออกไปสหรัฐฯ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯเชื่อว่า สินค้าที่ผลิตจากจีนที่สหรัฐฯขึ้นภาษีนำเข้า สินค้าเหล่านี้ได้ถูกขนย้ายไปพักพิงในประเทศต่างๆ เช่น เวียดนาม ไต้หวัน มาเลเซีย และไทย ทางการสหรัฐฯจึงแจ้งเตือนมายังทางการไทย ให้เพิ่มความเข้มงวดในการสอดส่องดูแลสินค้าจีน ที่อาจเข้ามาสวมสิทธิ์ หรือปลอมแปลงเอกสารรับรอง ถิ่นกำเนิดสินค้า และส่งออกไปสหรัฐฯ
ผลกระทบทางลบอีกประการคือ หากสินค้าจากจีนส่งออกไปยังสหรัฐฯได้ลดลง จีนอาจใช้มาตรการทุ่มตลาด ส่งสินค้าดังกล่าวมาไทย สินค้าจีนที่จะทะลักเข้ามาได้แก่ เหล็ก อลูมิเนียม เครื่องใช้ไฟฟ้า เสื้อผ้า สิ่งทอ กระทรวงพาณิชย์ของไทย จึงได้ประกาศมาตรการป้องกันการทุ่มตลาด โดยจะมีมาตรการปกป้องธุรกิจและอุตสาหกรรมของไทย ที่อาจจะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสินค้าจีนที่จะทะลักเข้ามา
● การลงทุน
จากสงครามการค้าที่ยืดเยื้อ ส่งผลให้จีนได้ย้ายฐานการผลิตมายังภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น รวมถึงมาไทย เป้าหมายหลักก็เพื่อเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ BOI ได้อนุมัติส่งเสริมโครงการลงทุนจากจีนถึง 33 โครงการ มูลค่ากว่า 30,000 ล้านบาท โครงการลงทุนจากจีน ที่ได้รับการส่งเสริมจาก BOI มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเท่าตัวในปีที่แล้ว
ที่ตั้งของไทยมีความได้เปรียบในเชิงภูมิศาสตร์ เพราะเป็นศูนย์กลางของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสามารถเป็นศูนย์กลางของการขนถ่ายสินค้า สำหรับประเทศในกลุ่ม CLMV อย่างไรก็ตาม คู่แข่งที่สำคัญของไทยคือเวียดนาม ซึ่งมีข้อได้เปรียบในเรื่องค่าจ้างแรงงานที่ต่ำกว่าไทยมาก และมีพรมแดนติดกับจีน ทำให้ค่าขนส่งสินค้าถูกกว่าไทย และความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองของไทย ก็เป็นจุดอ่อนที่ทำให้นักลงทุนจากจีนย้ายฐานการผลิตไปเวียดนาม ดังนั้น ไทยต้องใช้จุดแข็งของไทยแข่งกับเวียดนาม ในการเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์ และฐานการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
จุดแข็งของไทยอีกประการคือ โครงการระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก หรือ EEC จากนโยบายรัฐบาลที่ส่งเสริมให้ทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนใน EEC จึงเป็นตัวเลือกหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนจีนสนใจ ปีที่แล้วโครงการลงทุนจากจีน ใน EEC มี 11 โครงการ มูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท ข้อได้เปรียบของ EEC คือเน้นอุตสาหกรรมไฮเทค และอุตสาหกรรม S-Curve โครงการ EEC ได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ โลจิสติกส์ ความพร้อมเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน และการอำนวยความสะดวกด้านการขนส่ง ที่จะรองรับการลงทุนและการย้ายฐานการผลิตจากจีน ยอดรวมการลงทุนของจีนใน EEC มีมูลค่ากว่า 50,000 ล้านบาท เป็นลำดับ 3 รองจาก ญี่ปุ่นและสิงคโปร์
นอกจากนี้ บริษัทยักษ์ใหญ่ในด้านการโลจิสติกส์ของโลก อาทิ Nippon Express และDeutsche Post DHL group ของเยอรมนี ก็กำลังจะย้ายฐานการผลิตจากจีนมาไทย เพื่อที่จะหนีผลกระทบจากสงครามการค้า DHL กำลังจะขยายเครือข่ายการขนส่งทางบกในภูมิภาคอาเซียน โดยมีไทยเป็นศูนย์กลาง โดยบริษัทจะร่วมมือกับบรรษัทข้ามชาติที่จะย้ายฐานการผลิตออกจากจีน DHL ด้วยการเสนอบริการขนส่งสินค้าไปยังประเทศเพื่อนบ้านของไทย
สำหรับบริษัทอเมริกันที่ทำธุรกิจในจีน ก็กำลังคิดจะย้ายฐานการผลิตมายังภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งไทยเช่นกัน บริษัทอเมริกันในจีนขณะนี้ประสบปัญหาอย่างหนัก จากมาตรการตอบโต้ของรัฐบาลจีน
กล่าวโดยสรุป สงครามการค้าโลกระหว่างสหรัฐฯกับจีน ที่กำลังยืดเยื้ออยู่ในขณะนี้ ได้ส่งผลกระทบในเชิงลบต่อไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในด้านการส่งออก อย่างไรก็ตาม ผลกระทบในเชิงบวก ก็คือโอกาสของไทยที่จะเป็นฐานการผลิตและการลงทุน ทั้งจากบริษัทของจีน บริษัทของสหรัฐฯ และบรรษัทข้ามชาติต่างๆ ที่จะย้ายฐานการผลิตจากจีนมาไทย
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ คอลัมน์กระบวนทรรศ วันที่ 18 กรกฎาคม 2562
ที่มารูปภาพ : https://www.kwch.com/content/news/Escalating-trade-war-could-mean-higher-prices-for-appliances-furniture-509918551.html