Logo
  • หน้าหลัก
  • ประวัติ
  • ผลงานวิชาการ
  • ผลงานอื่นๆ
    • หนังสือ
    • Powerpoint
    • สัมภาษณ์รายการต่างๆ
    • บทความอื่นๆ
  • Blog
  • Gallery ภาพส่วนตัว
  • ติดต่อ
Copyright, 2015 : drprapat.com - All rights reserved.
April 25, 2018
drprapat
บทความ
0

สงครามการค้าโลก (ตอนที่2)

PreviousNext
pic

คอลัมน์กระบวนทรรศน์ตอนที่แล้ว ผมได้วิเคราะห์ถึงแนวโน้มสงครามการค้าโลกไปบ้างแล้ว คอลัมน์ในวันนี้ จะมาวิเคราะห์ต่อเป็นตอนที่ 2 โดยจะวิเคราะห์ถึงสถานการณ์สงครามการค้าโลก ที่ทำท่าจะลุกลามบานปลาย โดยเฉพาะระหว่างสหรัฐกับจีน โดยมีรายละเอียดดังนี้

นโยบายของ Trump ต่อจีน

Trump มีนโยบายต่อต้านโลกาภิวัฒน์และการค้าเสรี โดยมองว่า FTA เป็นหายนะ ทำให้คนอเมริกันตกงาน Trump จึงมีนโยบายกีดกันทางการค้าอย่างหนัก และจะใช้มาตรการทางเศรษฐกิจเล่นงานประเทศต่างๆ

สำหรับจีน คือผู้ร้ายทางเศรษฐกิจหมายเลข 1 ของ Trump ซึ่งมีนโยบายเป็นปฏิปักษ์ต่อจีนเป็นอย่างมาก โดยมองว่า สินค้าราคาถูกจากจีนเข้ามาตีตลาด ทำให้โรงงานอเมริกันต้องปิดไปกว่า 5 หมื่นโรง คนอเมริกันต้องตกงานกว่า 10 ล้านคน เพราะสินค้าราคาถูกจากจีน ในขณะที่สหรัฐเปิดตลาดให้กับจีน แต่จีนกับปิดตลาดและกีดกันสินค้าจากสหรัฐ  จีนละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา จีนบีบให้บริษัทอเมริกันต้องถ่ายโอนเทคโนโลยีให้กับบริษัทของจีน จีนอุดหนุนการส่งออกอย่างผิดกฎหมาย ดังนั้น Trump จึงมีนโยบายจะตอบโต้นโยบายที่ไม่เป็นธรรมของจีนในทุกรูปแบบ

สงครามการค้า

และมาตรการแรกที่ Trump เอามาเล่นงานจีน ก็เกิดขึ้นในช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดย Trump ได้ประกาศขึ้นภาษีนำเข้า สินค้าเหล็กกล้าและอะลูมิเนียม ซึ่งมาตรการดังกล่าวกระทบต่อการส่งออกสินค้าดังกล่าวของจีน ที่ส่งไปสหรัฐประมาณ 3 พันล้านเหรียญ รัฐมนตรีต่างประเทศของจีนบอกว่า ถ้าสหรัฐขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กกล้าและอะลูมิเนียม รัฐบาลจีนก็พร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของจีน แม้ว่าสงครามการค้าจะเกิดขึ้นก็ตาม

ต่อมา จีนได้ประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐ มูลค่า 3 พันล้านเหรียญ เพื่อเป็นการตอบโต้สหรัฐ

และเพื่อเป็นการตอบโต้มาตรการของจีน Trump ได้ประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีน จำนวน 1300 รายการ มูลค่าประมาณ 5 หมื่นล้านเหรียญ โดยจะขึ้นภาษี 25 %

และเมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา จีนได้ตอบโต้ ด้วยการประกาศขึ้นภาษีสินค้าจากสหรัฐจำนวนกว่า 100 รายการ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 5 หมื่นล้านเหรียญ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตรที่สหรัฐส่งไปจีน

ซึ่ง Trump ก็ตอบโต้ทันควัน โดยได้สั่งให้คิดภาษีสินค้าจีน เพิ่มขึ้นอีกเป็นมูลค่าถึง 1 แสนล้านเหรียญ ซึ่งมาตรการครั้งล่าสุดของ Trump นี้ ครอบคลุมสินค้าจากจีนที่ส่งออกไปสหรัฐ โดยสหรัฐนำเข้าจากจีนเมื่อปีที่แล้วมีมูลค่าประมาณ 5 แสนล้านเหรียญ

สรุปแล้ว ในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สหรัฐได้ประกาศขึ้นภาษีสินค้าจีนถึง 3 ครั้ง โดยมีมูลค่ารวมทั้งสิ้นสูงถึง 153,000 ล้านเหรียญ ซึ่งมูลค่ามากมายมหาศาลเช่นนี้ ทำให้จีนไม่รู้จะตอบโต้สหรัฐเพิ่มเติมอย่างไร เพราะปีที่แล้ว จีนนำเข้าจากสหรัฐมีมูลค่าเพียง 130,000 ล้านเหรียญเท่านั้น

ผลกระทบต่อไทย

สำหรับประเทศไทย หากสงครามการค้าจีน – สหรัฐลุกลามบานปลาย จะกระทบต่อไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งจะมีทั้งผลกระทบทั้งในด้านบวก และผลกระทบในด้านลบ

สำหรับผลกระทบในทางลบนั้น ไทยอาจได้รับผลกระทบทางอ้อม ไทยเป็นผู้ส่งออกชิ้นส่วนต่างๆ รายใหญ่ไปยังจีน สินค้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ จากการส่งออกไปจีนที่จะลดลง ได้แก่ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า และชิ้นส่วนยานยนต์ สินค้าเหล่านี้ เป็นสินค้าที่จีนถูกสหรัฐเรียกเก็บภาษีเพิ่มขึ้น ดังนั้น จะมีผลต่อการลดการนำเข้าสินค้าของจีนจากไทย ในหมวดสินค้าดังกล่าว

นอกจากนี้ ผลกระทบทางลบทางอ้อมอีกประการ คือ หากสินค้าจากจีนส่งออกไปยังสหรัฐได้ลดลง จีนอาจใช้มาตรการทุ่มตลาด ส่งสินค้าดังกล่าวเข้ามาไทยเพิ่มมากขึ้น สินค้าจีนที่จะทะลักเข้ามา ได้แก่ เหล็ก อะลูมิเนียม เครื่องใช้ไฟฟ้า เสื้อผ้า สิ่งทอ เป็นต้น

สำหรับผลกระทบในแง่บวก คือ สินค้าไทยบางรายการจะมีโอกาสส่งออกไปสหรัฐได้เพิ่มขึ้น เพื่อทดแทนสินค้าจีน ในกรณีผู้นำเข้าสหรัฐลดการนำเข้าจากจีนลง อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ยางพารา และ สิ่งทอ

แนวโน้มสงครามการค้าจีน – สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่สำคัญที่สุด คือ การวิเคราะห์ว่า สงครามการค้าจีน – สหรัฐจะเกิดขึ้นจริงๆหรือไม่ เพราะขณะนี้ ยังเป็นแค่การประกาศว่าจะขึ้นภาษี แต่ยังไม่ได้มีการขึ้นภาษีจริงๆ ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้หลาย scenario ที่แนวโน้มความขัดแย้งทางการค้าจีน – สหรัฐจะจบลงอย่างไร ซึ่งผมมองว่า น่าจะมีความเป็นไปได้หรือ scenario อยู่ 3 scenario ด้วยกันดังนี้

Scenario ที่ 1: สงครามการค้าไม่เกิดขึ้น เพราะ Trump ถอย

ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เราได้เห็นหลายครั้งว่า Trump มักจะประกาศนโยบาย ท่าที ที่ก้าวร้าวรุนแรง เพื่อหยั่งเชิง หยั่งท่าที และถ้าเห็นท่าไม่ดี ก็จะถอย และยกเลิกมาตรการดังกล่าว

ตัวอย่างมีให้เห็นหลายกรณี กรณีแรกคือ เรื่องไต้หวัน ในช่วงที่เป็นประธานาธิบดีใหม่ๆ Trump โทรศัพท์ไปคุยกับผู้นำไต้หวัน และบอกว่าจะไม่ยึดนโยบายจีนเดียวอีกต่อไป แต่หลังจากที่จีนมีท่าที ไม่พอใจมาก Trump ก็เลยถอย และในตอนหลังก็กลับมาบอกว่าจะยึดนโยบายจีนเดียวเหมือนเดิม ในกรณี NATO ตอนแรกก็บอกจะถอนตัวออกจาก NATO ตอนหลังก็สนับสนุน NATO ดังนั้น ในกรณีนี้ ก็มีความเป็นไปได้ว่า หากจีนมีท่าทีแข็งกร้าว Trump ก็อาจจะถอยได้

Scenario ที่ 2: สงครามการค้าไม่เกิดขึ้น เพราะสามารถเจรจาตกลงกันได้

หลายฝ่ายเชื่อว่า เป้าหมายของ Trump ในการประกาศขึ้นภาษีสินค้าจีนในครั้งนี้ เพื่อบีบให้จีนยอมเจรจาและยอมในสิ่งที่ Trump ต้องการ ซึ่งมีอยู่ 3 เรื่อง คือ ให้จีนลดการขาดดุลการค้าลง 1 แสนล้านเหรียญ  เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา และ เรื่องการที่จีนบีบให้บริษัทสหรัฐต้องถ่ายโอนเทคโนโลยีให้กับบริษัทของจีน

หลายฝ่ายเชื่อว่า ในที่สุดแล้ว จีนกับสหรัฐน่าจะตกลงกันได้ เพื่อหลีกเลี่ยงสงครามการค้าที่จะทำให้ทั้งสองฝ่ายเสียหาย

นอกจากนี้ ตามกฎหมายสหรัฐ การประกาศขึ้นภาษี จะประกาศออกมาเป็นกฎหมายได้ ต้องผ่านกระบวนการอีกหลายขั้นตอน โดยในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม จะต้องมีการจัดทำประชาพิจารณ์ ดังนั้นจะต้องใช้เวลาอีกหลายเดือน กว่าที่รัฐบาลจะตัดสินใจขึ้นภาษีอย่างเป็นทางการ ซึ่งน่าจะมีเวลาเพียงพอ สำหรับจีนกับสหรัฐที่จะเจรจาตกลงกัน เพื่อหลีกเลี่ยงสงครามการค้าดังกล่าว

มีความเป็นไปได้ว่า จีนอาจจะยอมประนีประนอม ด้วยการประกาศที่จะซื้อสินค้าจากสหรัฐเพิ่มขึ้นเพื่อลดปัญหาการขาดดุลการค้า รวมทั้งจีนอาจจะยอมถอยในเรื่องของการแก้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา และลดเงื่อนไขการถ่ายโอนเทคโนโลยีลงก็เป็นไปได้

Scenario ที่ 3: สงครามการค้าเกิดขึ้นและลุกลามบานปลาย

อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ว่า scenario ที่ 1 และ 2 อาจจะไม่เกิดขึ้น คือ Trump ไม่ยอมถอย ในขณะที่การเจรจาไม่เกิดขึ้น หรือการเจรจาอาจล้มเหลว ซึ่งจะนำไปสู่ scenario ที่ 3 คือการเกิดสงครามการค้าอย่างเต็มรูปแบบ

ปัจจัยที่จะนำไปสู่สงครามการค้า ตาม scenario ที่ 3 คือ ปัจจัยทางการเมือง ที่ทั้งสองฝ่ายไม่อาจจะยอมถอยได้ ทั้ง Trump และ Xi Jinping ไม่อาจจะยอมให้ถูกมองว่า เป็นผู้แพ้ในความขัดแย้งครั้งนี้ได้

ทางออกของการเจรจาคือ จะต้องมีการประนีประนอม ที่ทั้งสองฝ่ายจะไม่เสียหน้า แต่ขณะนี้ ดูค่อนข้างจะยากลำบาก เพราะได้มีขู่ว่าจะขึ้นภาษีไปแล้ว

ถ้าจะวิเคราะห์จากท่าทีของรัฐบาลจีน จะเห็นได้ว่า จีนมีท่าทีที่แข็งกร้าวมาก โฆษกกระทรวงต่างประเทศของจีน บอกว่า จีนพร้อมจะเจรจา แต่ความพยายามที่จะบีบจีนให้ยอมสหรัฐด้วยการข่มขู่ จะไม่มีทางสำเร็จ เช่นเดียวกับรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ของจีน ก็ได้ให้สัมภาษณ์ว่า จีนจะไม่มีทางยอมที่จะลดการได้ดุลการค้ากับสหรัฐ เป็นมูลค่า 1 แสนล้านเหรียญ ซึ่งจีนมองว่าเป็นไปไม่ได้

ท่าทีของ Trump ที่แข็งกร้าว ทำให้ผู้นำจีนตกอยู่ในสถานะลำบากที่จะยอมถอย เพราะการถอยของรัฐบาลจีน ก็เท่ากับความอ่อนแอ ซึ่งจะเป็นผลเสียทางการเมืองเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ สงครามการค้าจีน – สหรัฐ อาจลุกลามบานปลายไม่จำกัดเฉพาะเรื่องการขึ้นภาษี โดยจีนอาจจะใช้วิธีการอื่นๆตอบโต้สหรัฐ ที่ไม่ใช่ภาษี อาทิ การบีบบริษัทของสหรัฐและธุรกิจของสหรัฐในจีน รัฐบาลอาจบังคับให้ชาวจีนไม่ซื้อสินค้านำเข้าจากสหรัฐ รัฐบาลจีนอาจสั่งห้ามชาวจีนให้เดินทางท่องเที่ยวในสหรัฐ

ความขัดแย้งอาจลุกลามบานปลายไปถึงเรื่องการเมือง ความมั่นคง และ ทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ด้วย อาโดยจีนอาจตีรวนเรื่องเกาหลีเหนือ เรื่องทะเลจีนใต้ และปัญหาอีกหลายเรื่อง ที่สหรัฐต้องการความร่วมมือจากจีน

กล่าวโดยสรุป ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ ซึ่งยังไม่แน่ว่า จะลุกลามบานปลายเป็นสงครามการค้าแบบเต็มรูปแบบหรือไม่ แต่ผมมองว่า ความขัดแย้งทางการค้าและสงครามการค้าจีน – สหรัฐในครั้งนี้ น่าจะเป็นเพียงสมรภูมิย่อยของความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีน สมรภูมิใหญ่นั้นคือการแข่งกันระหว่างจีนกับสหรัฐในการครองความเป็นเจ้าในโลก ซึ่งก็คงจะเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งต่อโลกในอนาคตต่อไป

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 11 เมษายน 2561

trade warจีนสงครามการค้าสหรัฐฯ
Share this

The Author drprapat

ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

More Posts Like This One

2455543

Ties with Beijing cast into doubt

September 5, 2017
115536

การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐ ที่แคลิฟอร์เนีย

February 13, 2016
ประภัสสร์-เทพชาตรี-02-768x589

link ให้สัมภาษณ์กับ Business Today เรื่อง การถอดถอนประธานาธิบดี Trump

January 20, 2020
0 Comments General

Leave A Comment Cancel reply

+ 4 = 7

 
รศ.ดร.ประภัสสร์ เทพชาตรี ศ.ดร.ประภัสสร์ เทพชาตรี ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้บรรยายพิเศษในสถาบันต่างๆ อาทิ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สถาบันพระปกเกล้า มีงานเขียน งานวิจัย ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และมีคอลัมน์ประจำ "กระบวนทรรศน์" ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์และคอลัมน์ประจำ "โลกทรรศน์" ในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
  • หนังสือ "ยุทศาสตร์สหรัฐฯต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้"

  • หนังสือ "ประชาคมเอเชียตะวันออก"

  • หนังสือ "ประชาคมอาเซียน"

  • หนังสือ "สถานการณ์โลกปี 2553 และแนวโน้มปี 2554"

  • ปกนโยบายต่างประเทศ-USA-แก้-2557-07-28-at-3.05.01-PM

1/4

Calendar

January 2021
M T W T F S S
« Apr    
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031

Blog

drprapat-header-3

LINKS

คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ศึกษานโยบายระหว่างประเทศ (CIPS) ศูนย์ศึกษานโยบายระหว่างประเทศ (CIPS)

Tags

AEC al-Qaeda APEC ARF ASEAN Clinton Donald Trump EAS EU eurozone FTA G-20 ISIS Obama the rise of China TPP UN UNSC WTO การก่อการร้าย การต่างประเทศของไทย การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ ความขัดแย้ง ความขัดแย้งทะเลจีนใต้ ความมั่นคง จีน ตะวันออกกลาง ประชาคมอาเซียน ประเทศมหาอำนาจ พม่า ยุทธศาสตร์สหรัฐฯ รัสเซีย วิกฤต Eurozone สงคราม สงครามการค้า สหรัฐ สหรัฐอเมริกา สหรัฐฯ อัฟกานิสถาน อาเซียน อิหร่าน เกาหลีเหนือ เศรษฐกิจ เอเชีย ไทย