สถาปัตยกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาค

ขณะนี้ กำลังมีความพยายามของหลายประเทศ ในการขับเคลื่อนสถาปัตยกรรมทางเศรษฐกิจใน ภูมิภาค ซึ่งแต่ละประเทศก็พยายามที่จะให้ตน เป็นแกนกลางของระบบเศรษฐกิจในภูมิภาค คอลัมน์กระบวน ทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์ความเป็นไปได้ หรือ scenario ต่างๆ ซึ่งมีอยู่ 5 scenario ดังนี้
scenario ที่ 1: TPP
ในสมัยรัฐบาล Obama สหรัฐได้พยายามผลักดัน TPP เป็นอย่างมาก โดยจะขยายจำนวนสมาชิกให้ครอบคลุมประเทศต่างๆในภูมิภาค TPP จะเป็น FTA ที่มีมาตรฐานสูงและก้าวหน้ามากที่สุด ในระยะยาว จะเป็น FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งจะทำให้สหรัฐกลายเป็นแกนกลางหรือศูนย์กลางของสถาปัตยกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาค
อย่างไรก็ตาม TPP จะเป็นคู่แข่งสำคัญของอาเซียน ซึ่งกำลังเจรจา FTA อาเซียน + 6 หรือ RCEPนอกจากนี้ TPP ยังแบ่งแยกอาเซียน ทำให้อาเซียนแตก เพราะ 4 ประเทศอาเซียนได้โดดเข้าร่วม TPP ไปแล้วในขณะที่อีก 6 ประเทศไม่เข้าร่วม
แต่สถานการณ์ล่าสุดคือ ประธานาธิบดี Donald Trump ได้ตัดสินใจให้สหรัฐถอนตัวออกจาก TPP ไปแล้ว ขณะนี้ จึงเหลือสมาชิกแค่ 11 ประเทศโดยไม่มีสหรัฐ TPP ที่ไม่มีสหรัฐ ก็คงจะไม่มีความหมายอีกต่อไป และคงจะไม่สามารถพัฒนาไปเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาคได้อีกต่อไป
scenario ที่ 2: ระบบทวิภาคีนิยม
ดังนั้น ความเป็นไปได้ที่ 2 ของระบบเศรษฐกิจในภูมิภาคคือ การผลักดันแนวคิดของ Trump ในการเจรจาการค้าแบบทวิภาคี Trump เสนอว่า จะทำข้อตกลงทวิภาคีกับประเทศต่างๆในภูมิภาค และสหรัฐจะไม่เจรจาการค้าแบบพหุภาคีอีก
ที่ผ่านมา Trump ได้เจราจาข้อตกลง NAFTA ใหม่ และต้องการ จะเจรจาข้อตกลง FTA สหรัฐกับเกาหลีใต้ใหม่ โดยเป้าหมายหลักคือ การแก้ไขการขาดดุลการค้าของสหรัฐ Trump พูดชัดว่า สหรัฐเปิดตลาดให้กับคู่ค้า ในขณะที่ประเทศอื่นไม่เปิดตลาดให้กับสหรัฐ ท่าทีหลักของสหรัฐในการเจรจาคือ จะบีบให้ประเทศต่างๆเปิดตลาดให้สหรัฐ ซึ่งจะทำให้การเจรจาเป็นไปได้ด้วยความยากลำบากมาก มีข่าวว่า สหรัฐต้องการเจรจา FTA กับญี่ปุ่น แต่ ญี่ปุ่นก็ปฏิเสธ เพราะจะต้องถูกบีบให้เปิดเสรีภาคเกษตร
ดังนั้น แนวโน้มคือ การเจรจาทวิภาคีของ Trump และการที่ Trump จะทำให้เกิดระบบการค้าในภูมิภาค ที่เรียกว่า ระบบ hub and spokes คือสหรัฐเป็นดุมล้อ และประเทศต่างๆเป็นซี่ล้อนั้น ในที่สุดคงจะไม่เกิดขึ้น และสหรัฐก็คงไม่สามารถกลับมาเป็นศูนย์กลางของสถาปัตยกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาคได้
scenario ที่ 3: จีนเป็นศูนย์กลาง
ความเป็นไปได้ที่ 3 คือ ระบบเศรษฐกิจของภูมิภาค จะมีจีนเป็นศูนย์กลาง โดย grand strategy ของจีนคือ ยุทธศาสตร์ One Belt One Road หรือ OBOR ที่จีนจะลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เชื่อมจีนกับประเทศต่างๆ ถึง 65 ประเทศ มูลค่าลงทุน 1 – 4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจะทำให้จีนกลายเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจโลก และจะกลายเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาค
อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของ OBOR ก็ไม่ง่าย เพราะประเทศต่างๆ ในภูมิภาค กำลังมีความหวาดระแวงจีนมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างเช่นในภูมิภาคอาเซียน จากการที่จีนจะเข้ามาลงทุนมหาศาลในโครงสร้างพื้นฐานของอาเซียน ก็จะทำให้จีนครอบงำเศรษฐกิจในภูมิภาคได้ ประเทศอาเซียนเริ่มมีความกังวลที่จะต้องพึ่งพาทางเศรษฐกิจกับจีนมากเกินไป เริ่มมียุทธศาสตร์ดึงมหาอำนาจต่างๆมาถ่วงดุลจีน เพื่อไม่ให้จีนผูกขาดและผงาดขึ้นมา เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในภูมิภาคแต่เพียงผู้เดียว มหาอำนาจอื่นๆ โดยเฉพาะสหรัฐ ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเรีย และยุโรป ก็กำลังหวาดระแวงการผงาดขึ้นมาของจีนมากเรื่อยๆ และกำลังมีการก่อตัวขึ้นของแนวร่วมของประเทศเหล่านี้ ที่ต้องการสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีน และสกัดกั้นการผงาดขึ้นมาเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาคของจีน
ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จีนจะเป็นศูนย์กลางของระบบเศรษฐกิจในภูมิภาคได้
scenario ที่ 4: RCEP
ดังนั้น จากการวิเคราะห์ 3 scenario ข้างต้น จึงเปิดทางให้ scenario ที่ 4 คือ FTA อาเซียน + 6 หรือ RCEP ที่จะพัฒนาไปเป็นแกนกลางของระบบเศรษฐกิจในภูมิภาคได้
RCEP คือ FTA ระหว่าง 16 ประเทศ โดยมีอาเซียน 10 ประเทศ และจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเรีย และนิวซีแลนด์ โดย RCEP จะกลายเป็น FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ประชากรรวมกันกว่า 3พันล้านคน GDP รวมกันประมาณ 20 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1 ใน 3 ของ GDP โลก
RCEP จะทำให้อาเซียนมีบทบาทนำ ในบูรณาการทางเศรษฐกิจในภูมิภาค จะทำให้อาเซียนเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาค และจะทำให้ศูนย์กลางเศรษฐกิจโลกย้ายฐานจากตะวันตกมาตะวันออก
อย่างไรก็ตาม การเจรจา RCEP ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ การเจรจาเป็นไปด้วยความยากลำบาก มีการเจรจากันไปแล้ว 20 ครั้ง แต่ก็ยังติดขัด ทั้งนี้เพราะ มีช่องว่างรวยจน ระหว่างประเทศสมาชิกเป็นอย่างมาก บางประเทศก็ยังมีนโยบายปกป้องทางการค้า โดยเฉพาะอินเดียที่ไม่ยอมลดภาษีศุลกากรลง ประเทศใหญ่ๆใน RECP ก็ยังไม่มี FTA ระหว่างกัน โดยเฉพาะ อินเดียกับจีน ญี่ปุ่นกับจีน และญี่ปุ่นกับเกาหลี และประเทศเหล่านี้ ความสัมพันธ์ระหว่างกันก็ไม่ราบรื่น นับเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งในการเจรจา
ดังนั้น จึงมีความไม่แน่นอนว่า จะสามารถบรรลุการเจรจาได้หรือไม่ และเมื่อไหร่ แต่ก็ยังมีความเป็นไปได้ไม่น้อย ที่จะบรรลุการเจรจากันได้ ซึ่งก็จะทำให้ RCEP กลายเป็นศูนย์กลางของระบบเศรษฐกิจในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องเผื่อใจไว้ หากการเจรจา RCEP ล้มเหลว ซึ่งก็นำไปสู่ scenario ที่ 5
scenario ที่ 5: AEC+
หาก scenario ทั้ง 4 ดังกล่าวข้างต้นไม่ประสบความสำเร็จ ระบบเศรษฐกิจหรือสถาปัตยกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ก็จะเป็นเหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน นั่นก็คือ การกระจัดกระจายของมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ โดยไม่มีประเทศไหนสามารถเป็นแกนกลางของระบบได้
ซึ่งก็จะกลายเป็นว่า ก็จะมีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC รวมทั้งระบบ FTA อาเซียน +1 ที่มีอยู่ คือ FTA อาเซียนกับจีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย ออสเตรเรีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งก็จะเป็นโครงสร้างของสถาปัตยกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และก็คงจะเป็นอย่างนี้ต่อไปในอนาคต โดยในที่สุด อาเซียนก็อาจจะมีบทบาทนำ และกลายเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมทางเศรษฐกิจของในภูมิภาคได้
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 30 พฤศจิกายน 2560