สรุปสถานการณ์โลกปี 2018 และแนวโน้มปี 2019 (ตอนที่ 2)

คอลัมน์กระบวนทรรศน์ตอนที่แล้ว ผมได้สรุปสถานการณ์โลกในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาไปแล้ว สำหรับตอนที่ 2 นี้ ผมจะวิเคราะห์คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์โลกในปี 2019 ดังนี้
ความขัดแย้งจีน – สหรัฐ
ปีที่แล้ว ถือเป็นปีที่จีนกับสหรัฐขัดแย้งกันรุนแรงที่สุด นับตั้งแต่สงครามเย็นสิ้นสุดลง สำหรับในปีนี้ ปี 2019 ความขัดแย้งระหว่าง 2 มหาอำนาจ มีแนวโน้มจะลุกลามบานปลาย และน่าจะเป็นสถานการณ์โลกเรื่องที่สำคัญที่สุด และจะส่งผลกระทบต่อโลกมากที่สุดในปีนี้
ปีนี้ รัฐบาล Trump จะดำเนินนโยบายเปิดแนวรบกับจีนในทุก ๆ ด้าน โดยเป้าหมายหลักของสหรัฐ คือ การสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีน และการปิดล้อมจีน ทั้งทางด้านการทหารและเศรษฐกิจ
ด้านเศรษฐกิจ สงครามการค้าจะยืดเยื้อบานปลายต่อไป สหรัฐน่าจะใช้เครื่องมือทางเศรษฐกิจในทุกรูปแบบ เพื่อสกัดกั้นการผงาดขึ้นมาของจีนทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะมีทั้งมาตรการการขึ้นภาษีสินค้าจีนเพิ่มเติม การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ การป้องกันการลงทุนและการขโมยเทคโนโลยีของจีน ด้านการทหาร เวทีสำคัญของความขัดแย้งจะอยู่ในเอเชีย โดยเฉพาะไต้หวันและทะเลจีนใต้ นอกจากนี้ สหรัฐอาจเดินหน้าใช้มาตรการเพิ่มเติม ในการไล่บี้จีนในเรื่องอื่น ๆ อีก โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนของจีนต่อชนกลุ่มน้อย ประเด็นสิทธิมนุษยชนจะถูกนำมาเป็นข้ออ้างในการดำเนินนโยบายคว่ำบาตรจีนในอนาคต บวกกับนโยบายสุดโต่งของ Trump ที่มองจีนเป็นศัตรูหมายเลขหนึ่ง ก็ยิ่งจะทำให้ความสัมพันธ์จีน –สหรัฐในปีนี้ เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงเป็นอย่างยิ่ง
แต่สำหรับจีน ก็คงเตรียมรับมือกับสหรัฐไว้อย่างเต็มที่แล้ว โดยเฉพาะการเดินหน้ายุทธศาสตร์ในการแข่งกับสหรัฐในทุก ๆ มิติ ดังนั้น ในปีนี้ มีแนวโน้มที่ความขัดแย้งจะลุกลามบานปลายมากขึ้น และประเทศต่าง ๆ รวมทั้งประเทศไทย ก็คงจะตกอยู่ในสภาวะลำบากมากขึ้น ในการที่จะเดินสายกลางและไม่เลือกข้าง
สงครามการค้า
ปีที่แล้ว สถานการณ์โลกที่สำคัญที่สุด คือ สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ ซึ่งเป็นสงครามการค้าสินค้าและสงครามเทคโนโลยี ปีนี้ น่าจะแข่งขันกันดุเดือดมากขึ้น ในการแย่งกันเป็นผู้นำการค้าโลกและเทคโนโลยีโลก
แม้ว่าขณะนี้ จะมีการเจรจากันอยู่ แต่ผลการเจรจาคงจะประสบความสำเร็จได้ยาก เพราะข้อเรียกร้องของสหรัฐ เป็นสิ่งที่จีนคงจะยอมไม่ได้ สหรัฐได้ขึ้นภาษีสินค้าจีนกว่า 250,000 ล้านเหรียญไปแล้ว แต่หากการเจรจาล้มเหลว ก็คงเป็นไปได้มากว่า รัฐบาล Trump จะขึ้นภาษีสินค้าจีนทุกรายการ ซึ่งหมายถึงการขึ้นภาษีจีนอีก 260,000 ล้านเหรียญ
นอกจากนี้ สหรัฐคงจะเดินหน้าทำสงครามเทคโนโลยีอย่างเต็มที่กับจีนในปีนี้ รัฐบาล Trump จะแทรกแซงเต็มที่ ที่จะไม่ให้บริษัทเทคโนโลยีสหรัฐขายเทคโนโลยีให้กับจีน รวมทั้งการควบคุมการส่งออก chip และข้อมูลการวิจัยด้าน AI นอกจากนี้ สหรัฐจะ lobby เต็มที่ ให้พันธมิตรตะวันตกรวมทั้งญี่ปุ่น เกาหลีและไต้หวัน เดินตามสหรัฐ โดยเฉพาะการสกัดการขยายบทบาทของ Huawei และ ZTE
สงครามการค้าที่จะยืดเยื้อบานปลายต่อไปในปีนี้ จะทำให้ประเทศต่าง ๆ ได้รับผลกระทบ และต้องปรับนโยบายการค้าและโครงสร้างการค้าใหม่ แสวงหาพันธมิตรทางการค้าใหม่ ๆ และน่าจะมีการเจรจาการค้าเสรีมากขึ้น โดยเฉพาะในเอเชีย การเจรจา FTA อาเซียน+6 หรือ RCEP และ ข้อตกลงการค้าเสรี CPTTP จะได้รับความสนใจจากประเทศในภูมิภาคมากขึ้น
วิกฤตินิวเคลียร์
ปี 2019 นี้ สถานการณ์โลกที่น่าจะยังคงเป็นปัญหาใหญ่อยู่ต่อไป และอาจลุกลามบานปลายมากขึ้น คือ วิกฤตินิวเคลียร์อิหร่านและเกาหลีเหนือ
ปีที่แล้ว รัฐบาล Trump ได้ประกาศมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน และฉีกข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่าน Trump ประกาศว่า จะใช้ไม้แข็งกับอิหร่าน ด้วยการใช้มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจและทางทหาร ต่อมา รัฐบาล Trump ได้คว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันของอิหร่าน จากที่เคยส่งออก 2,500,000 บาเรลต่อวัน เหลือเพียง 1,000,000 บาเรลต่อวัน ทำให้เศรษฐกิจอิหร่านทรุดหนัก
ปีนี้ อิหร่านคงจะไม่อยู่นิ่งเฉย และอาจจะมีมาตรการตอบโต้สหรัฐในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงการแอบกลับไปพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ใหม่ การทดลองขีปนาวุธพิสัยไกล การเพิ่มแสนยานุภาพทางทะเลในอ่าวเปอร์เชีย การโจมตีทางอินเตอร์เน็ต และการส่งเสริมกลุ่มก่อการร้ายนิกายชีอะห์ทั่วภูมิภาคตะวันออกกลาง
แม้ว่าอิหร่านจะพยายามหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าทางทหารกับสหรัฐ แต่โอกาสของการเกิดสงครามก็มีมากขึ้น อิหร่านอาจกลับไปพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งทั้งสหรัฐและอิสราเอลก็คงจะไม่รอให้อิหร่านพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์สำเร็จ อิสราเอลได้เคยขู่หลายครั้งแล้วว่า จะโจมตีโรงงานนิวเคลียร์ของอิหร่านก่อนที่จะสายเกินไป ยุทธศาสตร์ก้าวร้าวสุดขั้วของ Trump ต่ออิหร่าน การปิดล้อมอิหร่าน สกัดกั้นการขยายอิทธิพลของอิหร่าน และการบีบให้ยุติการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ จะยิ่งทำให้ในปีนี้ ช่องทางทางการทูตจะแคบลงทุกที ซึ่งล่อแหลมที่จะเกิดการเผชิญหน้าทางทหารได้ง่ายขึ้น
สำหรับในกรณีของเกาหลีเหนือ แม้ว่าจะมีการประชุมครั้งประวัติศาสตร์ระหว่าง Trump กับ Kim เมื่อกลางปีที่แล้ว และเกาหลีเหนือยอมยุติการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ แต่ก็ไม่มีท่าทีว่าจะยอมปลดอาวุธนิวเคลียร์ของตน ดังนั้น วิกฤตินิวเคลียร์เกาหลีเหนือจะยังเป็นประเด็นร้อนและคุกรุ่นต่อไปในปีนี้ ถึงแม้ว่าอาจจะมีการพบปะครั้งที่ 2 ระหว่าง Trump กับ Kim ในช่วงต้นปีนี้ แต่ก็ไม่มีหลักประกันว่า การประชุมจะประสบความสำเร็จ และหากไม่มีความคืบหน้าโดยเฉพาะในประเด็นที่เกาหลีเหนือเรียกร้อง เกาหลีเหนือก็อาจจะกลับไปมีพฤติกรรมก้าวร้าวครั้งใหม่ ซึ่งจะนำไปสู่ความตึงเครียดครั้งใหม่ในคาบสมุทรเกาหลีได้
รัสเซีย
อีกเรื่องที่ต้องจับตามองในปีนี้ คือ ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับตะวันตกและยูเครน
ในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว รัสเซียได้มีท่าทีแข็งกร้าวมากขึ้นเรื่อย ๆ ต่อยูเครน และมีแนวโน้มที่จะเกิดการปะทะกันทางทหารระหว่างรัสเซียกับยูเครน
รัสเซียภายใต้การนำของ Putin มองว่า สหรัฐและตะวันตกกำลังปิดล้อมรัสเซีย ดังนั้น ในช่วงที่ผ่านมารัสเซียจึงได้มาตรการตอบโต้ ด้วยการทำสงครามกับจอร์เจีย ผนวกคาบสมุทรไครเมีย และสนันสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนทางตะวันออกของยูเครน ในขณะที่รัฐบาล Trump นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่สงครามเย็นสิ้นสุดลง ที่เอกสารความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ ระบุว่า รัสเซียคือภัยคุกคาม และประกาศยุทธศาสตร์ปิดล้อมรัสเซียอย่างเต็มที่
ท่ามกลางสภาวะการณ์เช่นนี้ จะทำให้ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับสหรัฐและตะวันตก ทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ที่อาจกลายเป็นสงคราม และอาจลุกลามบานปลายกลายเป็นสงครามระหว่างรัสเซียกับ NATO ได้
เอเชีย
สำหรับสถานการณ์ในภูมิภาคเอเชียในปีนี้ จะเป็นรูปแบบเดียวกับสถานการณ์โลก คือ การแข่งขันระหว่างสหรัฐกับจีน ในการขยายอิทธิพลเพื่อครอบงำภูมิภาค
ปีที่แล้ว จีนผลักดันโครงการ Belt and Road Initiative หรือ BRI อย่างเต็มที่ แต่ BRI ก็เริ่มสะดุดครั้งใหญ่ ประเทศต่าง ๆ ที่เข้าร่วม BRI เริ่มหวาดระแวงจีน กลัวว่าจีนจะครอบงำทางเศรษฐกิจ จะตกกับดักหนี้ของจีน ซึ่งอาจทำให้สูญเสียอำนาจอธิปไตยทางเศรษฐกิจ และกลายเป็นเมืองขึ้นทางเศรษฐกิจของจีนได้
ปีนี้ จึงเป็นปีที่ต้องจับตามองความเคลื่อนไหวของมหาอำนาจต่าง ๆ ในภูมิภาค ที่จะถ่วงดุลจีนและถ่วงดุล BRI ประเทศต่าง ๆ จะมีปฏิกิริยาในทางลบต่อ BRI มากขึ้น และปีนี้ จะเห็นความเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ของมหาอำนาจต่าง ๆ ในการผลักดันโครงการโครงสร้างพื้นฐานเพื่อแข่งกับ BRI
สำหรับสหรัฐ รัฐบาล Trump ได้ประกาศ ยุทธศาสตร์ Indo-Pacific ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ปิดล้อมจีนอย่างเต็มที่
ด้านการทหาร Trump ได้เดินหน้าเผชิญหน้าทางทหารกับจีนในทะเลจีนใต้ ปีนี้ สหรัฐน่าจะเดินหน้าเผชิญหน้ากับจีนต่อ ทั้งในทะเลจีนใต้และไต้หวัน สหรัฐได้เพิ่มความเคลื่อนไหวทางทหารในทะเลจีนใต้ ไม่เชิญจีนเข้าร่วมการซ้อมรบ RIMPAC และเพิ่มความเคลื่อนไหวในช่องแคบไต้หวัน ซึ่งจีนก็มีปฏิกิริยาตอบโต้ด้วยการเพิ่มแสนยานุภาพทางทหารในทะเลจีนใต้ และประกาศเตือนสหรัฐว่า อย่าละเมิดหลักการจีนเดียวในกรณีไต้หวัน แนวโน้มเหล่านี้ น่าจะยืดเยื้อและรุนแรงมากขึ้น ทำให้ความเสี่ยงในการเผชิญหน้าทางทหารมีมากขึ้นในปีนี้
สำหรับทางด้านเศรษฐกิจ สงครามการค้าจีน-สหรัฐจะมีผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจในภูมิภาคดังที่ได้วิเคราะห์ไปแล้ว นอกจากนี้ ในปีนี้ ก็น่าเป็นห่วงที่สหรัฐอาจเดินหน้าเจรจาทวิภาคีกับคู่ค้าต่าง ๆ โดยกำลังจะเริ่มเจรจาข้อตกลงการค้ากับญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงการค้าสหรัฐ-เม็กซิโก-แคนาดา ที่เป็นข้อตกลงใหม่ที่มาแทน NAFTA นั้น ได้ห้ามเม็กซิโกและแคนาดาทำข้อตกลงการค้ากับจีน ซึ่งเป็นมาตรการโดดเดี่ยวจีนทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจน จะกระทบต่อประเทศที่มี FTA กับจีน รวมทั้ง FTA อาเซียน+6 หรือ RCEP ด้วย
ดังนั้น ประเทศต่าง ๆ ต้องเตรียมรับมือกับการที่รัฐบาล Trump จะมาไล่บี้ เพื่อกดดันประเทศคู่ค้าต่าง ๆ ให้ยอมอ่อนข้อให้กับสหรัฐ ซึ่งคงจะเป็นเรื่องหนักหนาสาหัสทีเดียวสำหรับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค ที่จะต้องถูกบีบให้ต้องเจรจาข้อตกลงการค้าทวิภาคีกับสหรัฐ
ยุทธศาสตร์ Indo-Pacific ของ Trump จึงเป็นยุทธศาสตร์ที่มีลักษณะแข็งกร้าวและก้าวร้าวมาก เน้นการปิดล้อมจีน การครองความเป็นเจ้าของสหรัฐ และดำเนินนโยบายไล่บี้ฝ่ายเดียว ซึ่งยุทธศาสตร์นี้ จะนำไปสู่ปัญหา ความขัดแย้ง และการเผชิญหน้าในภูมิภาคได้ในปีนี้
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 17 มกราคม 2562