สรุปสถานการณ์โลกปี 2018 และแนวโน้มปี 2019 (ตอนที่ 1)

คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ เป็นตอนต้อนรับปีใหม่ ปี 2019 ผมจึงอยากจะสรุปสถานการณ์โลกในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา และวิเคราะห์ คาดการณ์ แนวโน้มสถานการณ์โลกในปี 2019 โดยในตอนนี้ จะขอสรุปสถานการณ์โลกในรอบปีที่ผ่านมาก่อน ดังนี้
วิกฤตินิวเคลียร์อิหร่านและเกาหลีเหนือ
ปีที่แล้ว สถานการณ์โลกเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่งคือ วิกฤตินิวเคลียร์อิหร่านและเกาหลีเหนือ
ในกรณีของอิหร่าน วิกฤตินิวเคลียร์ได้ยืดเยื้อเรื้อรังมาหลายสิบปี แต่ในปี 2015 ได้มีการจัดทำข้อตกลงระหว่างสมาชิกถาวรของ UNSC กับอิหร่าน ซึ่งข้อตกลงดังกล่าว อิหร่านยอมที่จะยุติการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ และยอมให้ IAEA เข้าไปตรวจสอบ ในขณะที่สหรัฐ สหภาพยุโรป UN จะยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน
อย่างไรก็ตาม ทุกสิ่งทุกอย่างได้เปลี่ยนไปหมด เมื่อ Donald Trump ได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐ โดย Trump มีนโยบายต่อต้านอิหร่านอย่างสุดโต่ง และในเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว Trump ได้ฉีกข้อตกลงปี 2015 โดยสหรัฐถอนตัวออกจากข้อตกลง และประกาศมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน ทำให้สถานการณ์วิกฤตินิวเคลียร์อิหร่านปะทุขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง Trump ประกาศกร้าวว่า จะใช้ไม้แข็งกับอิหร่าน ด้วยการใช้มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจ และมาตรการทางทหาร
สำหรับในกรณีวิกฤตินิวเคลียร์เกาหลีเหนือ ในช่วงต้นปีที่แล้ว หลังจากที่ Trump ได้ใช้มาตรการแข็งกร้าวกับเกาหลีเหนือ โดยขู่ว่าจะโจมตีเกาหลีเหนือ ทำให้เกาหลีเหนือรีบเดินหน้าทดลองอาวุธนิวเคลียร์ และพัฒนาขีปนาวุธพิสัยไกล และขู่ว่าจะยิงขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์ถล่มเกาะฮาวายของสหรัฐ
ท่าทีดังกล่าวของเกาหลีเหนือทำให้ Trump ต้องยอมถอย และประกาศจะยอมพบปะกับผู้นำเกาหลีเหนือ คือ Kim Jong-un ต่อมาในช่วงเดือนมิถุนายนปี 2018 ก็ได้มีการพบปะครั้งประวัติศาสตร์ระหว่าง Trump กับ Kim ที่สิงคโปร์
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าภายหลังการประชุม เกาหลีเหนือจะยอมยุติการทดลองอาวุธนิวเคลียร์และยุติการพัฒนาขีปนาวุธพิสัยไกล แต่ก็ไม่มีทีท่าว่า จะยอมปลดอาวุธนิวเคลียร์ของตน ดังนั้น วิกฤตินิวเคลียร์เกาหลีเหนือ จะยังคงเป็นประเด็นร้อนและคุกรุ่นต่อไปในปี 2019 นี้
ความขัดแย้งจีน – สหรัฐ
อย่างไรก็ตาม ปีที่แล้ว ถือเป็นปีที่จีนกับสหรัฐขัดแย้งกันรุนแรงที่สุด ตั้งแต่สงครามเย็นสิ้นสุดลง และสถานการณ์โลกเรื่องใหญ่ ๆ ก็เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐแทบทั้งสิ้น
โดยในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา รองประธานาธิบดีสหรัฐ Mike Pence ได้กล่าวสุนทรพจน์ โจมตีจีนรุนแรงที่สุด อย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน นับตั้งแต่สงครามเย็นสิ้นสุดลง
ในด้านการทหาร รัฐบาล Trump กล่าวหาจีนว่า ตั้งเป้าจะเสริมสร้างแสนยานุภาพทางทหาร เพื่อบั่นทอนความได้เปรียบของสหรัฐ และต้องการให้สหรัฐถอนทหารออกจากภูมิภาคเอเชีย
ทางด้านเศรษฐกิจ รัฐบาล Trump ได้โจมตีจีนว่า มีนโยบายการค้าที่ไม่เป็นธรรม มีมาตรการกีดกันทางการค้า บิดเบือนค่าเงินตรา บีบให้มีการถ่ายโอนเทคโนโลยี และขโมยทรัพย์สินทางปัญญา นโยบายเหล่านี้ทำให้อุตสาหกรรมจีนเข้มแข็ง แต่ทำให้สหรัฐอ่อนแอลง นโยบาย Made In China 2025 ก็เป็นแผนของจีนในการเข้าควบคุมเทคโนโลยีขั้นสูงของโลกเกือบทั้งหมด
และเพื่อตอบโต้นโยบายของจีนดังกล่าว ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา สหรัฐจึงได้ใช้มาตรการขึ้นภาษีนำเข้าภาษีจากจีนมูลค่า 250,000 ล้านเหรียญ โดยเน้นการขึ้นภาษีอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีขั้นสูงที่จีนต้องการจะครอบงำ
สงครามการค้าโลก
และสถานการณ์โลกเรื่องที่สำคัญที่สุดในปี 2018 คือ สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ
ความขัดแย้งเริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดย Trump ประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้า เหล็กและอลูมิเนียม ซึ่งกระทบต่อการส่งออกสินค้าจากจีนไปสหรัฐมูลค่า 3,000 ล้านเหรียญ จีนก็ประกาศขึ้นภาษีมูลค่า 3,000 ล้านเหรียญ เพื่อเป็นการตอบโต้
ต่อมาในเดือนกรกฎาคม Trump ประกาศขึ้นภาษีสินค้าจากจีนอีก 50,000 ล้านเหรียญ และในเดือนสิงหาคม สหรัฐก็ได้ขึ้นภาษีสินค้าจากจีนเพิ่มอีก 200,000 ล้านเหรียญ
นโยบายปกป้องทางการค้าของ Trump ซึ่งนำไปสู่สงครามการค้ากับจีน ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของนโยบายการค้าของสหรัฐ ที่ในอดีต 70 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐเป็นตัวตั้งตัวตี ในการจัดตั้งระบบการค้าโลกขึ้นมา ที่เราเรียกกันว่า Bretton Wood Systems แต่นโยบายการค้าของ Trump ต่อต้านการค้าเสรี ซึ่งเป็นการทำลายระบบการค้าเสรีของโลกที่สหรัฐสร้างขึ้นมาอย่างสิ้นเชิง
สงครามการค้าที่เกิดขึ้น ได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจโลก และต่อประเทศต่าง ๆ รวมทั้งประเทศไทยด้วย ปี 2019 อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยจะลดลง สาเหตุสำคัญมาจากผลของสงครามการค้าในครั้งนี้
สงครามการค้าสหรัฐ-จีน นอกจากจะเป็นสงครามการค้าสินค้า และการขึ้นภาษีสินค้าแล้ว ยังเป็นสงครามเทคโนโลยี และสงคราม 4.0 อีกด้วย ในอดีต สหรัฐคือผู้นำทางด้านเทคโนโลยีของโลก ซึ่งทำให้สหรัฐเป็นเจ้าครองโลกมานานนับ 100 ปี แต่ปี 2018 สหรัฐได้วิตกกังวลอย่างมาก ต่อการพัฒนาเทคโนโลยีของจีนที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดด ที่จะมาเป็นคู่แข่งและแซงหน้าสหรัฐได้ในอนาคต ปี 2018 จึงเป็นปีที่มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด ในการแย่งกันเป็นผู้นำเทคโนโลยีโลกระหว่างสหรัฐกับจีน ซึ่งอาจเป็นปัจจัยชี้ขาดว่า ใครจะเป็นเจ้าครองโลก
สหรัฐกล่าวหาจีนว่า จีนบังคับให้บริษัทสหรัฐที่ร่วมลงทุนในจีนต้องถ่ายโอนเทคโนโลยี จีนขโมยทรัพย์สินทางปัญญา ขโมยเทคโนโลยี และพยายามจะซื้อบริษัทเทคโนโลยีของสหรัฐ ดังนั้น สงครามการค้าที่ Trump ไล่บี้จีน ก็เพื่อเป็นการชะลอและหยุดยั้งการพัฒนาเทคโนโลยีของจีน ไม่ให้ขึ้นมาเป็นคู่แข่งของสหรัฐได้
ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ผู้บริหารระดับสูงของ Huawei ได้ถูกรัฐบาลแคนาดาจับกุมตัว เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางความหวาดกลัวของสหรัฐที่กลัวว่า Huawei จะครอบงำเครือข่าย 5G ของโลก และในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา Trump ประกาศห้ามหน่วยงานราชการของสหรัฐใช้โทรศัพท์ Huawei และต่อมาประเทศพันธมิตรก็ออกมาตรการเดียวกัน
Belt and Road Initiative (BRI)
สำหรับสถานการณ์ในภูมิภาคเอเชีย ก็เป็นรูปแบบเดียวกับสถานการณ์โลก คือการแข่งขันกันระหว่างสหรัฐกับจีน ในการขยายอิทธิพลเพื่อครอบงำภูมิภาค
สำหรับจีน ปี 2018 เป็นปีที่จีนผลักดันโครงการอภิมหาโปรเจคของจีน คือ Belt and Road Initiative หรือ BRI ซึ่งจะเป็นเส้นทางสายไหมทั้งทางบกและทางทะเล จีนมีเป้าหมายจะสร้างถนน เส้นทางรถไฟ ท่าเรือ และโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ เชื่อมจีนกับภูมิภาคเอเชียและยุโรปมูลค่า 1-4 ล้านล้านเหรียญ BRI จึงเป็นการลงทุนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลก และจะทำให้จีนเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของโลก หากจีนทำสำเร็จ
อย่างไรก็ตาม ปี 2018 ชี้ให้เห็นอุปสรรคของ BRI และ BRI เริ่มสะดุดครั้งใหญ่ โดยประเทศต่าง ๆ ที่เข้าร่วมโครงการ BRI กับจีน เริ่มหวาดระแวงจีน กลัวว่าจีนจะครอบงำเศรษฐกิจ กลัวว่าจะพึ่งพาจีนมากเกินไป และกลัวว่าจะตกอยู่ในกับดักหนี้ของจีน ซึ่งอาจทำให้สูญเสียอำนาจอธิปไตยทางเศรษฐกิจและกลายเป็นเมืองขึ้นทางเศรษฐกิจของจีนได้
ตัวอย่างประเทศที่ได้รับบทเรียนจาก BRI คือ ศรีลังกา ซึ่งกู้เงินจากจีนมหาศาลเพื่อสร้างท่าเรือ Hambantota แต่เมื่อสร้างเสร็จ ศรีลังกาก็ไม่สามารถใช้หนี้คืนจีนได้ จึงต้องยอมให้จีนเช่าท่าเรือดังกล่าว เป็นเวลา 99 ปี และจีนก็มีแผนจะพัฒนาท่าเรือนี้ให้เป็นฐานทัพเรือใหญ่ของจีน ที่จะสามารถควบคุมมหาสมุทรอินเดียได้
ประเทศในอาเซียนก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน Dr. Mahathir นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ปีที่แล้วได้ประกาศระงับโครงการรถไฟสายตะวันออกมูลค่ากว่า 20,000ล้านเหรียญ ซึ่งเป็นการลงทุนจากจีนทั้งหมด สำหรับกรณีของไทย ก็เจอปัญหาเช่นเดียวกัน คือ โครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-หนองคาย ซึ่งการเจรจาก็ติดขัดยืดเยื้อหลายปี ทำให้จีนไม่พอใจไทยเป็นอย่างมาก
Indo-Pacific
และสถานการณ์ในภูมิภาคที่เกิดขึ้นปีที่แล้ว ที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่ง คือ การที่รัฐบาล Trump ได้ประกาศยุทธศาสตร์ต่อเอเชีย ที่ใช้ชื่อว่ายุทธศาสตร์ Indo-Pacific
ยุทธศาสตร์ Indo-Pacific ของ Trump ให้ความสำคัญต่อยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีนอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ยุทธศาสตร์ Indo-Pacific ของ Trump ได้เน้นยุทธศาสตร์เอกาภาคีนิยม หรือ unilateralism โดย Trump จะไม่ให้ความสำคัญกับเวทีพหุภาคีอีกต่อไป ซึ่งรวมถึง อาเซียน เอเปค และ TPP โดย Trump มองว่าเวทีพหุภาคีทำให้อเมริกาเสียเปรียบ ไม่สามารถไล่บี้ประเทศอื่น ๆ ได้ จึงหันมาดำเนินนโยบายฝ่ายเดียวแทน ในด้านการทหาร Trump ได้เน้นการเสริมสร้างกำลังทางทหาร เพื่อถ่วงดุลจีน ปีที่แล้ว สหรัฐขายอาวุธให้กับพันธมิตรกว่า 10,000 ล้านเหรียญ และในปี 2018 Trump ก็ได้เดินหน้าเต็มที่ในการเผชิญหน้าทางทหารกับจีนในทะเลจีนใต้
สำหรับทางด้านเศรษฐกิจ Trump เน้นการปิดล้อมจีนทางเศรษฐกิจ ด้วยการทำสงครามการค้ากับจีน และ Trump กำลังกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อจะแข่งกับ BRI โดยรัฐบาล Trump ได้โจมตี BRI ว่า เป็นกับดักหนี้และทำให้ประเทศที่เข้าร่วม สูญเสียอำนาจอธิปไตยทางเศรษฐกิจ สหรัฐจะเสนอทางเลือกใหม่ที่ดีกว่า BRI โดยในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา สภาคองเกรสได้ออกกฎหมายใหม่ที่ชื่อว่า BUILD Act โดยจะมีการจัดตั้งองค์กรให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินแก่ประเทศในภูมิภาค จะมีเงินลงทุนขั้นต้น 60,000 ล้านเหรียญ ถือเป็นก้าวแรกของสหรัฐที่จะแข่งกับ BRI ของจีน
สำหรับยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจของ Trump ต่อภูมิภาคอีกเรื่องคือ การเจรจาข้อตกลงทวิภาคีกับประเทศคู่ค้าต่าง ๆ รัฐบาล Trump ได้เจรจาปรับข้อตกลงการค้าเสรีสหรัฐ-เกาหลีไปแล้ว และกำลังจะเจรจาข้อตกลงการค้ากับญี่ปุ่นในปีนี้ ซึ่งในอนาคต ก็เป็นไปได้ว่า สหรัฐจะกดดันประเทศคู่ค้า รวมทั้งไทย ให้เจรจาข้อตกลงการค้าทวิภาคีกับสหรัฐ
(โปรดติดตามอ่านต่อตอนที่ 2 ในคอลัมน์กระบวนทรรศน์ หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 17 มกราคม ซึ่งจะวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์โลกในปี 2019)
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 3 มกราคม 2562