สรุปสถานการณ์โลกปี 2019 และแนวโน้มปี 2020 (ตอนที่ 1)

คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ เป็นตอนต้อนรับปีใหม่ 2020 และอย่างที่ได้ทำมาทุกปี คือ ผมจะสรุปสถานการณ์โลกในช่วงปี 2019 ที่ผ่านมา และจะวิเคราะห์คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์โลกในปี 2020 ดังนี้
วิกฤติอิหร่าน
ปี 2019 มีเรื่องที่เกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองโลก เศรษฐกิจโลก เรื่องใหญ่ ๆอยู่ 6 เรื่องด้วยกัน เรื่องแรก คือ วิกฤติอิหร่าน ที่ลุกลามบานปลาย จนมีแนวโน้มว่า อาจจะเกิดสงครามระหว่างสหรัฐกับอิหร่านขึ้น
Trump มีท่าทีเป็นปฏิปักษ์ต่ออิหร่านเป็นอย่างมาก เชื่อว่า อิหร่านกำลังแอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ และกังวลใจเป็นอย่างมาก ต่อการขยายอิทธิพลของอิหร่านในตะวันออกกลาง และเห็นว่า จะต้องใช้มาตรการไม้แข็งต่ออิหร่าน
Trump ได้ดำเนินมาตรการ maximum pressure ต่ออิหร่าน คว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่ออิหร่านอย่างเข้มข้น แต่อิหร่านก็ไม่ได้มีท่าทีว่า จะยอมอ่อนข้อให้สหรัฐแต่ประการใด แต่กลับมีท่าทีแข็งกร้าวมากขึ้น ในเดือนพฤษภาคม อิหร่านได้หันกลับไปพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ต่อ หลังจากหยุดไปหลายปี
อิหร่านถูกกล่าวหาจากสหรัฐว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับการโจมตีเรือบรรทุกน้ำมัน สนามบิน และโรงกลั่นน้ำมันของซาอุดิอาระเบีย
ในช่วงเดือนกันยายน ก็เกิดวิกฤติหนัก โดยมีเหตุการณ์โจมตีโรงกลั่นน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกของซาอุดิอาระเบีย Trump ประกาศว่า สหรัฐพร้อมจะโจมตีผู้ก่อเหตุ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ กล่าวหาอิหร่านว่า เป็นฝ่ายโจมตีโรงกลั่นน้ำมัน อย่างไรก็ตาม ท่าทีของ Trump ในตอนแรกที่ดูเหมือนกำลังจะโจมตีอิหร่าน แต่ Trump คงจะประเมินแล้วว่า สงครามกับอิหร่านคงจะลุกลามบานปลาย ทำให้ Trump เปลี่ยนท่าทีไปเน้นมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านเพิ่มเติมแทน จึงทำให้วิกฤติคลี่คลายลงไปและไม่เกิดสงคราม
วิกฤติฮ่องกง
ปี 2019 เรื่องใหญ่อีกเรื่อง คือ วิกฤติการณ์ในฮ่องกง โดยได้มีการเดินขบวนประท้วงต่อต้านรัฐบาลฮ่องกงและรัฐบาลปักกิ่งยืดเยื้อหลายเดือน จุดเริ่มต้นมาจากการต่อต้านกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน แต่ต่อมา การชุมนุมประท้วงได้ขยายตัว มีจำนวนผู้เข้าร่วมชุมนุมเพิ่มมากขึ้นถึง 2 ล้านคน และข้อเรียกร้องก็เปลี่ยนไป กลายเป็นการเรียกร้องประชาธิปไตย
ในขณะที่สถานการณ์ลุกลามบานปลายเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ความอดทนอดกลั้นของรัฐบาลจีนก็ลดลงเรื่อยๆ และได้มีการส่งสัญญานว่า รัฐบาลจีนพร้อมที่จะใช้มาตรการรุนแรงในการปราบปรามผู้ประท้วง อย่างไรก็ตาม ผู้ประท้วงก็ไม่ได้หวาดเกรงคำขู่ของรัฐบาลจีนแต่อย่างใด กลับเพิ่มความรุนแรงของการประท้วงมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม ผู้ประท้วงได้เข้าทำลายสำนักงานของรัฐบาลจีน และทำให้ฮ่องกงเป็นอัมพาต ด้วยการเข้ายึดสนามฮ่องกง สถานการณ์เช่นนี้ทำให้รัฐบาลจีนมองว่า คำขู่ไม่ได้ผล และหนทางเดียวเท่านั้นที่จะยุติเหตุการณ์นี้ได้ คือ การใช้กำลังทางการทหารเข้าปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วง ซึ่งจะส่งผลกระทบไปทั่วโลก สถานการณ์ยังคงยืดเยื้อมาจนถึงสิ้นปี 2019 และน่าจะยังคงยืดเยื้อต่อไปในปีนี้
อาเซียน
สถานการณ์โลกเรื่องสำคัญเรื่องที่สาม คือ บทบาทของอาเซียนในเวทีระหว่างประเทศ ปี 2019 ไทยเป็นประธานอาเซียน และไทยก็ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งในการเป็นประธานอาเซียน
เรื่องแรก คือ การผลักดันความร่วมมืออาเซียน 4.0 มาตรการความร่วมมืออาเซียนสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4
อีกเรื่อง คือ การผลักดันโครงการโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงอาเซียน และเชื่อมโยงอาเซียนกับประเทศมหาอำนาจ ไทยมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์เป็นศูนย์กลางของอาเซียน ไทยจึงจะได้ประโยชน์อย่างมาก จากโครงการโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ โดยในการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ในเดือนพฤศจิกายน ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ได้มีการออกแถลงการณ์ร่วมเชื่อมแผนแม่บทการเชื่อมโยงอาเซียน หรือ MPAC กับโครงการ BRI ของจีน มีการจัดทำแถลงการณ์ร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น ส่งเสริมการเชื่อมโยงระหว่าง MPAC กับโครงการโครงสร้างพื้นฐานของญี่ปุ่น และแถลงการณ์การประชุมสุดยอดอาเซียน+3 เชื่อม MPAC กับโครงการโครงสร้างพื้นฐานของจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้
แต่เรื่องที่เป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของอาเซียนปีที่แล้ว เป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของอาเซียน คือ การเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี RCEP หรือ FTA อาเซียน+6 โดย 15 ประเทศ สามารถตกลงกันได้ และพร้อมจะลงนามในข้อตกลง RCEP ในปีนี้ เหลืออินเดียประเทศเดียวที่ยังมีปัญหาติดขัดอยู่ RCEP จะเป็น FTA ที่ใหญ่ที่สุดของโลก โดยจะมี GDP 30% ของโลก และ 30% ของการค้าโลก RCEP จะทำให้อาเซียนเป็นแกนกลาง เป็นศูนย์กลางของระบบเศรษฐกิจในภูมิภาค
อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญของอาเซียนในการที่จะเป็นแกนกลางของภูมิภาค คือ การที่มหาอำนาจไม่เล่นด้วย โดย Trump ไม่ยอมมาประชุมสุดยอดกับอาเซียน และแทนที่จะส่งรองประธานาธิบดีหรือรัฐมนตรีต่างประเทศมาแทน แต่กลับส่งที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติเป็นทูตพิเศษมาแทน ชี้ให้เห็นถึงความตั้งใจของสหรัฐที่จะลดบทบาทและความสำคัญของอาเซียน ในขณะที่จีนก็ขยายอิทธิพลเข้าครอบงำอาเซียนเต็มที่
การขยายอิทธิพลของจีนในอาเซียน
ปี 2019 ถือเป็นปีทองของจีนที่ประสบความสำเร็จในการขยายอิทธิพลเข้าครอบงำภูมิภาคอาเซียน ปัจจุบันจีนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของอาเซียน มีเงินลงทุนมหาศาล สงครามการค้ากับสหรัฐเป็นปัจจัยกระตุ้นให้บริษัทของจีนย้ายฐานการผลิตมายังอาเซียนเป็นจำนวนมาก โครงการ BRI ของจีนก็ประสบความสำเร็จอย่างมากในอาเซียน ด้วยการสร้างถนน ทางรถไฟ ท่าเรือ หลายโครงการทั่วภูมิภาค
สำหรับด้านการทหาร ปี 2019 จีนก็ประสบความสำเร็จอย่างมาก ในการขยายอิทธิพลทางทหารในอาเซียน และประสบความสำเร็จในการลดความขัดแย้งกับอาเซียนในปัญหาทะเลจีนใต้
ท่าเรือหลายแห่งที่จีนสร้างภายใต้โครงการ BRI กำลังจะถูกปรับเปลี่ยนเป็นฐานทัพเรือ กรณีที่ชัดเจน คือ ท่าเรือน้ำลึกที่เมือง Sihanoukville ทางตอนใต้ของกัมพูชา จีนมีแผนจะพัฒนาให้เป็นฐานทัพเรือใหญ่ของจีนในอาเซียน และท่าเรือ Hambantota ในศรีลังกา จีนก็กำลังจะปรับมาเป็นฐานทัพเรือใหญ่ที่สามารถครอบงำมหาสมุทรอินเดียได้
นอกจากนี้ จีนได้ขยายอิทธิพลทางด้านเศรษฐกิจดิจิทัลในอาเซียน ภายใต้โครงการ Digital Silk Road หัวหอกสำคัญในการขยายอิทธิพล คือ บริษัทยักษ์ใหญ่ของจีน ได้แก่ Huawei ZTE Alibaba และ Tencent
โดยเฉพาะ Huawei ได้เดินหน้าพัฒนาเครือข่าย 5G ในอาเซียน แต่ Trump ก็พยายามสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีนในด้านนี้ ด้วยการไล่บี้ Huawei และบีบให้ประเทศอาเซียนเลือกข้างว่า จะใช้ 5G ของ Huawei หรือ 5G ของตะวันตก
สงครามเย็นภาค 2
ปี 2019 สถานการณ์โลกเรื่องที่สำคัญที่สุด คือ การที่โลกเข้าสู่สงครามเย็นภาค 2 และนำไปสู่สงครามการค้า
ปี 2019 เกิดความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงระหว่างสหรัฐกับจีน Trump มองจีนว่า เป็นศัตรูหมายเลข 1 และพยายามสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีนในทุกๆด้าน เพื่อไม่ให้จีนมาแย่งการเป็นจ้าวครองโลกของสหรัฐ Trump ได้ดำเนินยุทธศาสตร์ปิดล้อมจีนทั้งทางด้านการทหาร เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี การปิดล้อมจีนทางเศรษฐกิจนำไปสู่สงครามการค้าโลก และสงครามเทคโนโลยี
ปี 2019 โลกได้แบ่งออกเป็น 2 ขั้วอย่างชัดเจน ประเทศต่างๆ ถูกแบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 คือ ประเทศที่เป็นพวกจีนหรือรัสเซีย กลุ่มที่ 2 ประเทศที่เป็นพวกสหรัฐ และกลุ่มที่ 3 คือ ประเทศที่พ9 ยายามวางตัวเป็นกลางไม่เลือกข้าง
ประเทศในอาเซียนก็มีการแบ่งพวกกันอย่างชัดเจน พวกจีน คือ กัมพูชา ลาว พม่า ส่วนพวกสหรัฐ คือ สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม ส่วนประเทศที่พยายามวางตัวเป็นกลาง คือ ไทย การแบ่งพวกออกเป็น 3 กลุ่มดังกล่าว เกิดขึ้นทั่วทุกภูมิภาคทั่วโลก ในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ พวกจีน คือ เกาหลีเหนือ พวกสหรัฐ คือ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ในเอเชียใต้ พวกจีน คือ ปากีสถาน ศรีลังกา บังกลาเทศ และเนปาล ส่วนพวกสหรัฐ คือ อินเดีย
สงครามการค้าโลก
สำหรับสถานการณ์โลกเรื่องที่สำคัญที่สุดในปี 2019 คือ สงครามการค้าโลกระหว่างสหรัฐกับจีน ที่ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจของประเทศต่างๆเป็นอย่างมาก สงครามการค้าลุกลามบานปลายออกไป จากสงครามภาษีในตอนแรก ได้ขยายวงออกไปเป็นสงครามเทคโนโลยี สงครามค่าเงิน สงครามการลงทุน และสงครามแร่หายาก
สงครามการค้าเริ่มจากการที่ Trump ประกาศขึ้นภาษีสินค้าจีนมูลค่า 250,000 ล้านเหรียญ ซึ่งจีนก็ตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีสินค้าสหรัฐเช่นเดียวกัน ต่อมาในเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว Trump ได้ประกาศขึ้นสินค้าจีนอีก 300,000 ล้านเหรียญ ซึ่งทำให้สินค้าจีนที่จะส่งออกไปสหรัฐ 500,00 ล้านเหรียญถูกขึ้นภาษีทั้งหมด
ต่อมา สงครามการค้าได้ลุกลามเป็นสงครามเทคโนโลยี Trump ประกาศแบน Huawei และห้ามบริษัทสหรัฐค้าขายกับ Huawei โดย Trump หวังว่า การเล่นงาน Huawei จะเป็นการสกัดกั้นการผงาดขึ้นมาเป็นผู้นำเทคโนโลยีโลกของจีน ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญของการทำสงครามการค้ากับจีน
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมา วิกฤติสงครามการค้าได้ผ่อนคลายลงในระดับหนึ่ง เมื่อ Trump ประกาศว่า การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ใกล้จะได้ข้อยุติ โดยสหรัฐตกลงจะระงับการขึ้นภาษีสินค้าจีนมูลค่า 160,000 ล้านเหรียญ ในขณะที่จีนตกลงจะซื้อสินค้าเกษตรจากสหรัฐเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ในระยะยาว สงครามการค้าคงจะไม่จบลงได้ง่ายๆ การเจรจาในครั้งนี้น่าจะเป็นการเจรจาสัญญาสงบศึกชั่วคราวเท่านั้น เพราะเป้าหมายใหญ่ของ Trump ในการทำสงครามการค้ากับจีน ไม่ใช้แค่ให้จีนซื้อสินค้าจากอเมริกาเพิ่มขึ้น แต่ Trump ต้องการสกัดไม่ให้จีนแซงสหรัฐในการเป็นจ้าวครองโลก โดยเฉพาะการสกัดการผงาดขึ้นมาของจีนในการเป็นผู้นำเทคโนโลยีโลก
(โปรดติดตามอ่านต่อตอนที่ 2 ในคอลัมน์กระบวนทรรศน์ หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 16 มกราคม 2020)
ที่มา: คอลัมน์กระบวนทรรศน์ หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 9 มกราคม 2563
ที่มารูปภาพ: https://www.pinterest.com/pin/697987642224552065/