Logo
  • หน้าหลัก
  • ประวัติ
  • ผลงานวิชาการ
  • ผลงานอื่นๆ
    • หนังสือ
    • Powerpoint
    • สัมภาษณ์รายการต่างๆ
    • บทความอื่นๆ
  • Blog
  • Gallery ภาพส่วนตัว
  • ติดต่อ
Copyright, 2015 : drprapat.com - All rights reserved.
February 7, 2012
รศ.ดร.ประภัสสร์ เทพชาตรี
บทความ
0

แนวโน้มสงคราม ปี 2012

PreviousNext

คอลัมน์โลกปริทรรศน์
8 มกราคม 2555

คอลัมน์โลกปริทรรศน์ตอนนี้ ผมจะวิเคราะห์ คาดการณ์ แนวโน้มสงครามในปี 2012 ซึ่งจะแบ่งออกเป็นภูมิภาคต่างๆ ดังนี้

ตะวันออกกลาง

สำหรับภูมิภาคที่มีแนวโน้มจะมีความขัดแย้งและสงคราม คือ ตะวันออกกลาง ซึ่งจะมีจุดอันตรายหลายจุด ดังนี้

ประเทศที่จะต้องจับตามองเป็นพิเศษในปีนี้ คือ อิหร่าน โดยปีที่แล้ว อิหร่านขัดแย้งกับสหรัฐฯและตะวันตกมากขึ้นเรื่อยๆ และการที่ IAEA ประกาศว่า อิหร่านกำลังแอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ก็ยิ่งจะทำให้อิหร่านกลายเป็นจุดวิกฤตของความขัดแย้งในปีนี้ โดยเฉพาะเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ ได้มีเสียงเรียกร้องดังขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ที่จะให้ใช้กำลังทางทหารโจมตีโรงงานนิวเคลียร์ของอิหร่าน 

นอกจากนี้ จุดอันตรายอีกจุด คือ ความขัดแย้งระหว่างอิหร่านกับอิสราเอล โดยอิสราเอลมีความวิตกกังวลเป็นอย่างมากต่อการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่าน ในขณะที่อิหร่านก็เกลียดชังอิสราเอลเป็นอย่างมาก และมองว่าอิสราเอลคือศัตรูหมายเลข 1 ของอิหร่าน ปัจจัยที่อาจจะทำให้อิสราเอลตัดสินใจโจมตีโรงงานพลังงานนิวเคลียร์ของอิหร่าน ปัจจัยแรก คือ รายงานของ IAEA และปัจจัยที่ 2 คือ การเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯปลายปีนี้ จะทำให้รัฐบาล Obama จำเป็นต้องมีนโยบายแข็งกร้าวต่ออิหร่านมากขึ้น เพื่อเป็นการเรียกคะแนนเสียง ซึ่งจะเข้าทางอิสราเอล ที่ตั้งท่าจะโจมตีอิหร่านมาหลายครั้งแล้ว

สำหรับในโลกอาหรับ ปีที่แล้ว มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ด้วยการลุกฮือขึ้นโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการ ซึ่งเราเรียกเหตุการณ์นี้ว่า Arab Spring แต่ประสบการณ์ในประวัติศาสตร์ได้ชี้ให้เห็นว่า ภายหลังการโค่นเผด็จการได้สำเร็จ ก็มักจะเกิดความขัดแย้งและแย่งชิงอำนาจกัน บางครั้งอาจนำไปสู่สงครามกลางเมือง ที่น่าเป็นห่วงมีหลายประเทศ คือ ตูนิเซีย อียิปต์ ลิเบีย และซีเรีย โดยในกรณีของลิเบีย ฝ่ายต่อต้าน Gaddafi เป็นการรวมตัวกันของหลายกลุ่ม ซึ่งมีแนวโน้มว่า ลิเบียในยุคหลัง Gaddafi อาจประสบความวุ่นวาย และไร้เสถียรภาพ

สำหรับในกรณีของซีเรีย ก็เป็นอีกประเทศที่น่าจับตามอง เพราะรัฐบาล Assad กำลังอยู่ในภาวะล่อแหลมที่จะล่มสลาย อย่างไรก็ตาม ซีเรียในยุคหลัง Assad อาจเกิดความวุ่นวาย เพราะมีทั้งความขัดแย้งระหว่างหลายกลุ่ม รวมทั้งอาจจะมีการแทรกแซงจากประเทศภายนอกด้วย นอกจากนั้น ปัญหาของซีเรียอาจจะลุกลามบานปลายเข้าสู่เลบานอน และกลุ่มก่อการร้าย Hezbollah ในเลบานอน ก็อาจก่อความวุ่นวายมากขึ้น

อีกประเทศในตะวันออกกลางที่อาจลุกเป็นไฟ คือ เยเมน แม้ว่า เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ประธานาธิบดี Ali Saleh จะได้ยอมทำข้อตกลงลงจากอำนาจ และจะให้มีการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์นี้ แต่ปัญหาท้าทายเยเมนในอนาคตยังมีอีกมาก โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างกลุ่มสนับสนุน Saleh กับฝ่ายต่อต้าน ซึ่งอาจนำไปสู่ความรุนแรงและสงครามกลางเมืองได้

เอเชีย

สำหรับทวีปเอเชีย มีจุดอันตรายหลายจุด ทั้งที่เป็นสงครามอยู่แล้ว และที่อาจจะเกิดสงครามในอนาคต โดยที่เอเชียเป็นทวีปที่ใหญ่มาก ผมจึงขอแบ่งเป็น เอเชียใต้ เอเชียตะวันออก และเอเชียกลาง

สำหรับเอเชียใต้ จุดอันตราย 2 จุด คือ สงครามในอัฟกานิสถานและปากีสถาน

สำหรับในอัฟกานิสถาน สงครามได้ยืดเยื้อมาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว แต่ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงได้อย่างไร โดยเฉพาะด้วยชัยชนะของสหรัฐฯและกองกำลังนาโต้ ในทางตรงกันข้าม สงครามกลับลุกลามบานปลายหนักขึ้นเรื่อยๆ นักรบ Taliban ยึดครองพื้นที่ได้มากขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาล Hamid Karzai ซึ่งเป็นความหวังของสหรัฐฯ ประสบความล้มเหลวในการบริหารประเทศ รัฐบาล Karzai ถือว่าอ่อนแอมาก และมีปัญหาในเรื่องคอรัปชั่น ทำให้ขาดความชอบธรรมในการปกครอง ประชาชนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นชาว Pashtun จึงหันกลับไปสนับสนุนกลุ่ม Taliban ซึ่งเป็นชาว Pashtun เหมือนกัน นักรบ Taliban ซึ่งมีฐานที่มั่นอยู่ในเมือง Quetta จึงมีความหวังว่า ในที่สุด จะประสบชัยชนะ และรอวันที่สหรัฐฯจะถอนทหารออกไป โดย Obama ได้ประกาศไว้แล้วว่า จะถอนทหารออกไปภายในปี 2014

สำหรับในปากีสถาน ก็ล่อแหลมที่จะเกิดสงครามและความขัดแย้งหนักขึ้น รัฐบาลปากีสถานต้องต่อสู้กับนักรบTaliban เชื้อสาย Pashtun รวมทั้งกลุ่มก่อการร้ายหลายกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่ม al-Qaeda และกลุ่ม Lashkar-Tayyeba ซึ่งอยู่เบื้องหลังการก่อวินาศกรรมที่เมืองมุมไบ ในปี 2008 ดังนั้น ความขัดแย้งที่จะเกี่ยวเชื่อมโยงกันก็คือ หากกลุ่มก่อการร้ายเหล่านี้ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากชาว Pashtun ในปากีสถาน ก่อวินาศกรรมในอินเดีย ก็อาจเป็นชนวนทำให้เกิดความขัดแย้งทางทหารระหว่างอินเดียกับปากีสถานได้

สำหรับในภูมิภาคเอเชียตะวันออก เรื่องที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ คือ สถานการณ์ในเกาหลีเหนือ ซึ่งหลังจากการเสียชีวิตของ Kim Jong-Il ในช่วงเดือนธันวาคม ปีที่แล้ว Kim Jong-Un ได้สืบอำนาจต่อ แต่โดยที่ Jong-Un มีอายุเพียง 27 ปี ขาดประสบการณ์และบารมี จึงทำให้สถานการณ์ล่อแหลมมาก ที่จะเกิดความวุ่นวายทางการเมืองขึ้นในเกาหลีเหนือ อาจนำไปสู่การล่มสลายของรัฐบาล และอาจเกิดสงครามเกาหลีครั้งใหม่ได้ ถ้าหากเกิด scenario นี้ขึ้นจริง ก็อาจดึงให้มหาอำนาจ คือ จีนและสหรัฐฯ เข้าแทรกแซงในคาบสมุทรเกาหลี ซึ่งอาจนำไปสู่ความขัดแย้งทางทหารระหว่างจีนกับสหรัฐฯได้

สำหรับในเอเชียกลาง ก็เป็นจุดอันตรายอีกจุดหนึ่ง ของสงครามและความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ หลายประเทศในเอเชียกลาง กำลังประสบกับวิกฤตอย่างหนัก โครงสร้างพื้นฐานกำลังใกล้ล่มสลาย ระบบการเมืองมีการคอรัปชั่นกันอย่างหนัก ภาครัฐอ่อนแอมาก โดยประเทศทาจิกิสถาน ขณะนี้ กำลังประสบกับภัยคุกคามด้านความมั่นคงอย่างหนัก ทั้งจากกลุ่มก่อการร้ายภายในประเทศและจากภายนอก นอกจากนี้ ทาจิกิสถาน ยังมีความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้าน คือ อุซเบกิสถาน โดยเฉพาะความขัดแย้งด้านพรมแดน และทางทรัพยากรน้ำ ซึ่งอาจนำไปสู่สงครามได้ ส่วนอีกประเทศ คือ คีร์กีซสถาน ก็มีความขัดแย้งทางชาติพันธ์อย่างรุนแรง และประเทศก็สุ่มเสี่ยงอย่างมากที่จะเกิดสงครามกลางเมืองในอนาคต

อัฟริกา

สำหรับทวีปอัฟริกา ก็ไม่น้อยหน้าภูมิภาคอื่น ในแง่ของสงครามและความขัดแย้ง โดยหลายประเทศในอัฟริกา ก็ลุกเป็นไฟด้วยสงครามกลางเมือง และสงครามชาติพันธ์ โดยขณะนี้ที่น่าเป็นห่วงก็มีหลายประเทศ โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างซูดานกับซูดานใต้ (ชื่อเก่า คือ ดาร์ฟูร์) ไนจีเรีย ก็กำลังคุกรุ่นด้วยความขัดแย้งทางศาสนาและชาติพันธ์ บูรุนดี และคองโก สงครามกลางเมืองก็ทำท่าจะลุกลามบานปลาย

แต่ที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ คือ ความขัดแย้งระหว่างเคนยากับโซมาเลีย เมื่อปีที่แล้ว เคนยาได้ส่งกองกำลังทหารบุกเข้าไปทางตอนใต้ของโซมาเลีย เพื่อจะทำสงครามบดขยี้กลุ่มก่อการร้ายมุสลิมหัวรุนแรง ที่มีชื่อว่า al-Shabaab กลุ่มก่อการร้ายกลุ่มนี้มีอิทธิพลอย่างมาก โดยได้ควบคุมดินแดนทางตอนใต้ของโซมาเลียเกือบทั้งหมด ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มว่า ความขัดแย้งระหว่างกองกำลังทหารของเคนยากับ al-Shabaab อาจลุกลามบานปลายรุนแรงมากขึ้น โดยหลังจากที่เคนยาได้ส่งกองกำลังทหารโจมตี al-Shabaab ในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว al-Shabaab ก็ได้ประกาศอย่างแข็งกร้าวว่า จะปฏิบัติการโจมตีตอบโต้กองกำลังทหารของเคนยา โดยมีความเป็นไปได้ว่า ในอนาคต al-Shabaab จะปฏิบัติการก่อวินาศกรรมในเคนยา รวมถึงเมืองหลวงของเคนยา คือ ไนโรบี ด้วย

ตะวันออกกลางอัฟริกาเอเชียแนวโน้มสงคราม ปี 2012
Share this

The Author รศ.ดร.ประภัสสร์ เทพชาตรี

More Posts Like This One

IMG_4872

แนวโน้มสถานการณ์โลกปี 2018

January 18, 2018
0 Comments General

Leave A Comment Cancel reply

82 − 76 =

 
รศ.ดร.ประภัสสร์ เทพชาตรี ศ.ดร.ประภัสสร์ เทพชาตรี ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้บรรยายพิเศษในสถาบันต่างๆ อาทิ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สถาบันพระปกเกล้า มีงานเขียน งานวิจัย ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และมีคอลัมน์ประจำ "กระบวนทรรศน์" ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์และคอลัมน์ประจำ "โลกทรรศน์" ในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
  • หนังสือ "ยุทศาสตร์สหรัฐฯต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้"

  • หนังสือ "ประชาคมเอเชียตะวันออก"

  • หนังสือ "ประชาคมอาเซียน"

  • หนังสือ "สถานการณ์โลกปี 2553 และแนวโน้มปี 2554"

  • ปกนโยบายต่างประเทศ-USA-แก้-2557-07-28-at-3.05.01-PM

1/4

Calendar

January 2021
M T W T F S S
« Apr    
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031

Blog

drprapat-header-3

LINKS

คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ศึกษานโยบายระหว่างประเทศ (CIPS) ศูนย์ศึกษานโยบายระหว่างประเทศ (CIPS)

Tags

AEC al-Qaeda APEC ARF ASEAN Clinton Donald Trump EAS EU eurozone FTA G-20 ISIS Obama the rise of China TPP UN UNSC WTO การก่อการร้าย การต่างประเทศของไทย การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ ความขัดแย้ง ความขัดแย้งทะเลจีนใต้ ความมั่นคง จีน ตะวันออกกลาง ประชาคมอาเซียน ประเทศมหาอำนาจ พม่า ยุทธศาสตร์สหรัฐฯ รัสเซีย วิกฤต Eurozone สงคราม สงครามการค้า สหรัฐ สหรัฐอเมริกา สหรัฐฯ อัฟกานิสถาน อาเซียน อิหร่าน เกาหลีเหนือ เศรษฐกิจ เอเชีย ไทย