แนวโน้มสถานการณ์โลกปี 2018

คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์โลก ที่น่าเป็นห่วงและต้องจับตามองในปี 2018 ดังนี้
ตะวันออกกลาง
ปีนี้ ตะวันออกกลางยังคงเป็นภูมิภาคที่น่าเป็นห่วงที่สุด เพราะยังจะมีความขัดแย้ง ยืดเยื้อ ลุกลามบานปลายหลายเรื่อง
เรื่องที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือ ความขัดแย้งทางทหาร หรือสงคราม ระหว่างอิหร่านกับสหรัฐฯ Trump มีนโยบายต่อต้านอิหร่านอย่างสุดขั้ว ไม่ไว้ใจอิหร่านเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ และพยายามสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของอิหร่านในตะวันออกกลาง
มีปัจจัยหลายประการ ที่จะทำให้ความขัดแย้งระหว่างอิหร่านกับสหรัฐฯ รุนแรงขึ้น ได้แก่ ท่าทีของซาอุดิอาระเบียที่เป็นปฏิปักษ์ต่ออิหร่านอย่างชัดเจน ยุทธศาสตร์ก้าวร้าวสุดขั้วต่ออิหร่านของ Trump การปราบปรามกลุ่ม ISIS ในอิรักและซีเรีย เปิดโอกาสให้สหรัฐฯ และซาอุดิอาระเบีย มุ่งเป้ามาที่อิหร่าน โดยมองว่า อิหร่านได้ขยายอิทธิพลเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในซีเรีย อิรัก เยเมน และเลบานอน
ยุทธศาสตร์ของฝ่ายต่อต้านอิหร่านคือ การปิดล้อมอิหร่าน และบีบให้อิหร่าน ลดการขยายอิทธิพลลง ซึ่งจะเป็นจุดอันตราย ที่จะก่อให้เกิดความขัดแย้งได้ง่าย ช่องทางทางการทูตแคบลงทุกที ในอนาคต จึงล่อแหลมที่จะเกิดการเผชิญหน้าได้ง่าย
จุดอันตรายอีกจุดหนึ่งในตะวันออกกลางคือ สงครามกลางเมืองในซีเรีย ซึ่งยืดเยื้อมาเป็นเวลา 7 ปี แล้ว แม้ว่ากลุ่ม ISIS จะถูกปราบทางตะวันออกของซีเรีย แต่แนวโน้มสงครามจะปะทุขึ้นในส่วนอื่นของซีเรีย
ทางตะวันออกของซีเรีย กองกำลังของรัฐบาล Assad ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากอิหร่านและรัสเซีย และกองกำลัง SDF ของชาวเคิร์ด ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ได้เป็นแนวร่วมกันในการปราบปรามกลุ่ม ISIS ที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า แต่ถ้าไม่มี ISIS ทั้งสองฝ่ายก็จะกลับมาสู้กันใหม่ สงครามกลางเมืองในซีเรียภาคสองกำลังจะเริ่มขึ้น
นอกจากเรื่องอิหร่านและซีเรียแล้ว ยังมีจุดอันตรายอีกหลายจุดในตะวันออกกลาง ได้แก่
– สงครามในอัฟกานิสถาน มีแนวโน้มจะลุกลามมากขึ้นในปีนี้ ทั้งนี้เพราะนักรบตอลิบานมีกองกำลังที่เข้มแข็งมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่กองกำลังของรัฐบาล ก็อ่อนแอลงเรื่อยๆ สหรัฐฯ ในสมัยรัฐบาล Obama คิดว่าจะถอนกำลังออกมา แต่ในที่สุดก็ไม่กล้าถอน ในสมัยรัฐบาลของ Trump ก็ยังไม่รู้ว่าจะเอาอย่างไร
– ปีนี้ มีแนวโน้มว่า ความขัดแย้งระหว่างอิรักกับกองกำลังแบ่งแยกดินแดนชาวเคิร์ด จะรุนแรงมากขึ้น ซึ่งรวมถึงแนวโน้มความรุนแรงที่จะมากขึ้น ระหว่างกองกำลังของรัฐบาลตุรกีกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนชาวเคิร์ดในตุรกีด้วย
– สำหรับความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์ หลังจากที่ Trump ประกาศให้เมืองเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล ทำให้ปีนี้ แนวโน้มความขัดแย้งรุนแรงจะมากขึ้น โดยเฉพาะระหว่างอิสราเอลกับกลุ่ม Hezbollah
– สำหรับปากีสถาน ปีนี้จะประสบปัญหาความขัดแย้งรุนแรงกับกลุ่มหัวรุนแรงหลายกลุ่ม รวมทั้งความเป็นไปได้ที่จะมีความขัดแย้งทางทหารระหว่างปากีสถานกับอินเดีย ที่อาจลุกลามมาจากความขัดแย้งในแคว้นแคชเมียร์
– สำหรับกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะกลุ่ม ISIS และกลุ่ม Al-Qaeda ยังคงจะเดินหน้าก่อการร้าย ก่อวินาศกรรมต่อไปทั่วโลก โดยเป้าหมายหลัก น่าจะเป็นการโจมตีตะวันตก ทำให้หน่วยงานข่าวกรองสหรัฐฯกังวลใจมากว่า กลุ่มก่อการร้ายกำลังมีแผนจะโจมตีสหรัฐฯครั้งใหญ่ในระดับเดียวกับเหตุกาณ์ 11 กันยาฯ ปี 2001
เอเชีย
สำหรับเอเชีย จุดอันตรายที่น่ากังวลมากที่สุด คือ เกาหลีเหนือ
สถานการณ์ปีที่แล้ว ตึงเครียดมาก เพราะเกาหลีเหนือเดินหน้าทดลองอาวุธนิวเคลียร์ และขีปนาวุธพิสัยไกล ที่อาจยิงข้ามทวีปมาถึงแผ่นดินใหญ่สหรัฐฯ ทำให้อเมริกาตื่นตระหนก และขู่ว่าจะใช้กำลังกับเกาหลีเหนือ ซึ่งนำไปสู่วิกฤตการณ์ที่น่าเป็นห่วงเป็นอย่างยิ่ง
ปีนี้ สถานการณ์ยังไม่เปลี่ยนแปลง แม้ว่ากาหลีใต้จะพยายามเปิดฉากเจรจากับเกาหลีเหนือ แต่ท่าทีของ Trump ยังไม่เปลี่ยน ยังไม่ยอมเจรจากับเกาหลีเหนือ และยังคงเดินหน้ากดดันเกาหลีเหนือต่อไป ขณะนี้สหรัฐฯกำลังใช้ยุทธศาสตร์กดดันเกาหลีเหนืออย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็น มาตรการคว่ำบาตรของคณะมนตรีความมั่นคง การกดดันจีน การซ้อมรบขู่เกาหลีเหนือ และการส่งสัญญาณว่า Trump ไม่กลัวการเผชิญหน้าทางทหารกับเกาหลีเหนือ
มาตรการกดดันเหล่านี้ ยิ่งจะทำให้เกาหลีเหนือเดินหน้าเข้มข้นมากขึ้นในการพัฒนาอาวุธนิวเครียร์และขีปนาวุธ จุดอันตรายที่สุดคือ หากช่องทางทางการทูตถูกปิดสนิท สหรัฐฯจะถูกบีบให้ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการใช้กำลังทางทหาร ซึ่งนั่นก็หมายถึง “หายนะ”
สำหรับจุดอันตรายอื่นๆในเอเชีย ได้แก่
– การเผชิญหน้าทางทหารในทะเลจีนใต้ ระหว่างจีนกับประเทศอาเซียน หรือระหว่างจีนกับสหรัฐฯ นอกจากนี้ ความขัดแย้งระหว่างจีนกับญี่ปุ่นในกรณีเกาะเซนกากุ / เตียวหยู อาจนำไปสู่ความขัดแย้งทางทหารระหว่างประเทศทั้งสองได้
– สำหรับวิกฤตโรฮิงญาในพม่า ปีนี้ วิกฤตอาจจะลุกลามบานปลายขึ้นมาอีกได้ หากฝ่ายทหารพม่าใช้กำลังเข้าปราบปรามชาวโรฮิงญาอีก จะก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ผู้อพยพชาวโรฮิงญาครั้งใหญ่ เข้าสู่บังคลาเทศก็เป็นไปได้
ระบบการค้าโลก
ปีนี้ อนาคตของระบบการค้าโลก กำลังเข้าสู่ยุคแห่งความไม่แน่นอน
Trump มีนโยบายต่อต้านโลกาภิวัตน์ และต่อต้านการค้าเสรีอย่างสุดขั้ว แม้ว่าในช่วงปีที่แล้ว Trump อาจจะไม่ได้ทำอะไรเป็นรูปธรรม นอกจากการถอนตัวออกจาก TPP แต่ในปีนี้ ดูแนวโน้มแล้ว Trump น่าจะเดินหน้าผลักดันนโยบายต่อต้านการค้าเสรีอย่างเต็มที่
กำลังเริ่มมีความเคลื่อนไหวในรัฐบาล Trump ในการออกมาตรการลงโทษทางการค้าต่อจีน เริ่มกดดันการเจรจาแก้ไขข้อตกลง NAFTA และเมื่อปลายปีที่แล้ว สุนทรพจน์ของ Trump ในที่ประชุมสุดยอด APEC ที่เวียดนาม Trump ได้ประกาศนโยบายการค้าต่อเอเชีย ที่มีลักษณะต่อต้านการค้าเสรีอย่างสุดโต่ง โดยนโยบายการค้าของ Trump มีลักษณะเป็น “เอกาภาคีนิยม” ภาษาอังกฤษเรียกว่า “Unilateralism” โดยเขาได้ข่มขู่ประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯให้เปิดการค้าการลงทุนให้สหรัฐฯ ถ้าไม่เปิดก็จะต้องถูกลงโทษ ซึ่งหากเขาดำเนินนโยบายดังกล่าวในปีนี้ ก็จะก่อให้เกิดความปั่นป่วนครั้งใหญ่ในระบบการค้าโลก ประเทศคู่ค้าก็คงจะไม่อยู่เฉยๆ คงต้องตอบโต้สหรัฐฯ แน่ ซึ่งก็จะนำไปสู่สงครามการค้าอย่างแน่นอน
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 18 มกราคม 2561