ไทยกับการเป็นประธานอาเซียนปี 2019 (ตอนที่ 4)

ผมได้เขียนเกี่ยวกับบทบาทของไทย ในการเป็นประธานอาเซียนในปี 2019 ไปแล้ว 3 ตอน คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ ผมจะเขียนเรื่องนี้ต่อ ซึ่งจะเป็นตอนที่ 4 โดยจะเน้นเรื่องสำคัญ ๆ ที่ไทยควรจะผลักดันในปีหน้า ดังนี้
Intra – ASEAN
1. ASEAN 4.0
ไทยขณะนี้มียุทธศาสตร์ระยะยาวชัดเจน คือ การมุ่งสู่การเป็น Thailand 4.0 เพื่อพร้อมรองรับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 โดยจะมีการยกระดับเศรษฐกิจไทยในทุกสาขา อาทิ ภาคเกษตร ที่ในอดีต ทำเกษตรแบบดั้งเดิม ก็จะพัฒนาไปเป็น smart farming ธุรกิจ SME ที่เคยทำธุรกิจแบบดั้งเดิม ก็จะพัฒนาไปเป็น smart SME จะมี การผลิตแรงงานที่มีทักษะสูง พัฒนาอุตสาหกรรมให้มีนวัตกรรมสูง พัฒนาเศรษฐกิจแบบดั้งเดิม ให้เป็น เศรษฐกิจดิจิทัล input ที่จะทำให้บรรลุ Thailand 4.0 คือ องค์ความรู้ นวัตกรรม และวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี
สำหรับอาเซียน ขณะนี้ก็กำลังตื่นตัวมาก ในการเตรียมพร้อมต่อยุค 4.0 ดังนั้น ความร่วมมือทางเศรษฐกิจของอาเซียนในอนาคต กำลังจะมุ่งไปในทิศทางนี้
ไทยจึงควรใช้โอกาสในการเป็นประธานอาเซียนในปีหน้า ผลักดันแนวคิดเรื่องอาเชียน 4.0 โดยเน้นความร่วมมือในด้านต่างๆ ที่ไทยกำลังทำอยู่คู่ขนานกันไป เป้าหมายระยะยาวของไทย คือ จะผงาดขึ้นมาเป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรมของอาเซียน (ASEAN innovation hub) และเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลของอาเซียน (ASEAN digital hub)
ปีหน้า ไทยจึงควรริเริ่มให้มีการประชุมหารือเพื่อจัดทำเอกสารอาเซียน 4.0 โดยอาจจะเป็นเอกสารในรูปแบบของ vision statement หรือ เป็นเอกสารพิมพ์เขียว หรือ blueprint ของอาเซียนในเรื่องนี้
2. ASEAN Connectivity
เรื่องใหญ่เรื่องที่ 2 ที่ไทยควรผลักดันระหว่างประเทศอาเซียน 10 ประเทศ คือ เรื่องการเชื่อมโยงอาเซียน ทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะ การสร้างถนน ทางรถไฟ เชื่อมประเทศอาเซียน
ในอดีต ไทยเป็นผู้ริเริ่มจัดทำแผนแม่บทการเชื่อมโยงอาเซียน (Master Plan on ASEAN Connectivity : MPAC) ตั้งแต่ปี 2010 และตอนนี้ได้มีแผนแม่บทฉบับใหม่ที่เรียกว่า MPAC 2025 ไทยมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์เป็นศูนย์กลางของอาเซียน ไทยจึงจะได้ประโยชน์อย่างมาก จากการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานของอาเซียน จะเห็นได้ว่า ไทยให้ความสำคัญอย่างมากต่อเรื่องนี้ และเป็นไฮไลท์ของการประชุมต่างๆ เกือบทุกเวที ไม่ว่าจะเป็นเวทีอาเซียน การประชุม CLMVT และ การประชุม ACMECS
ดังนั้น ปีหน้า ไทยควรริเริ่มให้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการของ MPAC 2025 โดยโครงการที่ไทยควรให้ความสำคัญมากที่สุด คือ โครงการระเบียงเศรษฐกิจตะวันตก – ตะวันออก (East – West Economic Corridor) ที่เป็นโครงการสร้างถนนและทางรถไฟเชื่อมพม่า ไทย ลาว และเวียดนาม และโครงการระเบียงเศรษฐกิจใต้ (Southern Economic Corridor) ซึ่งเป็นโครงการสร้าง ถนน ทางรถไฟ เริ่มจากเมืองทวายในพม่า เข้าไทยที่กาญจนบุรี ผ่านกรุงเทพไปยังภาคตะวันออก เข้าสู่กัมพูชาผ่านกรุงพนมเปญ และโฮจิมินห์ซิตี้ เส้นทางนี้ ในอนาคต จะมีความสำคัญมาก เพราะจะพาดผ่านระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก หรือ EEC ของไทยด้วย
3. People – Centered Organization
เรื่องสำคัญเรื่องที่ 3 ที่ไทยในฐานะประธานอาเซียนควรผลักดัน คือ การทำให้อาเซียนเป็นองค์กรที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ที่ผ่านมา เมื่อ 9 ปีที่แล้ว ตอนที่ไทยเป็นประธานอาเซียนในปี 2009 ไทยก็เคยผลักดันสโลแกนเรื่องนี้มาแล้ว แต่เกือบ 10 ปี ผ่านไป ก็ยังไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม
ดังนั้น ในปีหน้า ไทยควรเสนอริเริ่มการจัดทำเอกสารอาเซียนในเรื่องนี้ ในลักษณะเป็นแผนปฏิบัติการหรือพิมพ์เขียว ที่ระบุมาตรการต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรม
ตัวอย่างของมาตรการ ที่จะส่งเสริมให้อาเซียนเป็นองค์กรของประชาชน คือ
- จะต้องมีการจัดตั้งกลไกภาคประชาชนขึ้นมาในอาเซียน
- ส่งเสริมความร่วมมือของภาคประชาสังคมอาเซียน ที่เรียกว่า Track 3 อย่างจริงจัง
- เพิ่มบทบาทและสถานะขององค์กรภาคประชาสังคม ให้มีสถานะเช่นเดียวกับองค์กรภาคประชาสังคมในสหประชาชาติ และในสหภาพยุโรป NGO ที่มีสถานะ consultative status ใน UN มีบทบาทที่จะเสนอข้อมูล และเสนอเรื่องให้ UN พิจารณาได้ และในบางครั้ง ก็สามารถที่จะเข้าร่วมประชุม UN ได้
4. การตอบสนองต่อมาตรการกีดกันทางการค้า และสงครามการค้า
เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันกำลังปั่นป่วนอย่างหนัก โดยเฉพาะนโยบายของโลกตะวันตก กำลังมีแนวโน้มนโยบายกีดกันทางการค้าหนักขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะนโยบายของรัฐบาล Trump ที่มีนโยบายชัดเจนในการต่อต้านโลกาภิวัตน์ ต่อต้านการค้าเสรี ต่อต้านบูรณการทางเศรษฐกิจ และมีมาตรการกีดกันทางการค้าอย่างหนัก ซึ่งขณะนี้ ได้ลุกลามบานปลาย จนกลายเป็นสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ และหากยืดเยื้อ จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกเป็นอย่างมาก อาเซียนและไทยก็คงจะหนีไม่พ้น ที่จะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสงครามการค้าในครั้งนี้
ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่อาเซียนและไทยควรจะต้องมีการประชุมหารือกัน เพื่อที่จะแสวงหาความร่วมมือ ในการต่อต้านแนวโน้มมาตรการกีดกันทางการค้าโลก และแสวงหาลู่ทางความร่วมมือเพื่อลดผลกระทบจากสงครามการค้าโลก
ไทยจึงควรใช้โอกาสการเป็นประธานอาเซียนปีหน้า ผลักดันในเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยริเริ่มให้มีการจัดทำเอกสารความร่วมมืออาเซียน ซึ่งอาจจะเป็นรูปแบบของ ปฏิญญา หรือ แผนปฏิบัติการ โดยมาตรการสำคัญๆ ที่ควรจะอยู่ในเอกสารดังกล่าว คือ
- ผลักดันให้การมีการเจรจาเปิดเสรีในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างจริงจัง ซึ่งมีอยู่ 5 ด้าน คือ การเปิดเสรีการค้าสินค้า การค้าภาคบริการ การลงทุน การเคลื่อนย้ายเงินทุน และการเคลื่อย้ายแรงงาน อาเซียนต้องรีบเดินหน้าสู่การเป็นตลาดร่วมอย่างสมบูรณ์แบบ ทั้งนี้เพื่อที่จะส่งเสริมและกระตุ้นให้มีการค้าขายระหว่างประเทศอาเซียนด้วยกันมากขึ้น จากในปัจจุบันประมาณ 25 % ให้เพิ่มเป็น 30 – 40 % ในอนาคต เพื่อที่จะลดการพึ่งพิงตลาดสหรัฐ และตลาดจีน ที่น่าจะมีปัญหาในอนาคต นอกจากนี้ ก็จะส่งเสริมให้มีการลงทุนระหว่างประเทศอาเซียนด้วยกันมากขึ้น จาก 25 % ในปัจจุบัน ให้เพิ่มขึ้นเป็น 30 – 40 % ในอนาคต เพื่อลดการพึ่งพิงเงินลงทุนจากสหรัฐและจีน
- อีกมาตรการที่สำคัญที่จะรองรับผลกระทบจากสงครามการค้าจีน – สหรัฐ คือ การที่ไทยและอาเซียนจะต้องรีบผลักดันให้บรรลุข้อตกลงเขตการค้าเสรี RCEP ให้ได้ภายในปีหน้า RCEP หรือ FTA อาเซียน + 6 หากจัดตั้งสำเร็จ จะกลายเป็น FTA ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งจะช่วยไทยและอาเซียนได้มาก ในการลดผลกระทบจากแนวโน้มการกีดกันทางการค้าโลก และสงครามการค้าโลก
(โปรดติดตามอ่านต่อตอนที่ 5 ในคอลัมน์กระบวนทรรศน์ หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 8 พฤศจิกายน 2561)
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 25 ตุลาคม 2561
ที่มารูปภาพ : http://thainews.prd.go.th/website_th/news/news_detail/WNOHT6109060010003