Logo
  • หน้าหลัก
  • ประวัติ
  • ผลงานวิชาการ
  • ผลงานอื่นๆ
    • หนังสือ
    • Powerpoint
    • สัมภาษณ์รายการต่างๆ
    • บทความอื่นๆ
  • Blog
  • Gallery ภาพส่วนตัว
  • ติดต่อ
Copyright, 2015 : drprapat.com - All rights reserved.
February 5, 2018
drprapat
บทความ
0

4 ปีนโยบายต่างประเทศไทยในยุค คสช.

PreviousNext
36.1

คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะประเมินนโยบายต่างประเทศของไทยในยุค คสช. ในช่วงเกือบ 4 ปีที่ผ่านมา ดังนี้

ภาพรวม 4 ปี นโยบายต่างประเทศไทย

ในช่วงปีแรก นโยบายต่างประเทศไทย เน้นการประชาสัมพันธ์ สร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาล คสช. จึงไม่ได้มีนโยบายต่างประเทศในเชิงรุก

ต่อมาในปีที่ 2 รัฐบาลเริ่มมีนโยบายต่างประเทศในเชิงรุกมากขึ้น แต่น้ำหนักยังคงเป็นนโยบายปฏิรูปภายในประเทศ เรื่องการต่างประเทศเป็นเรื่องรอง เป็นนโยบายต่างประเทศที่เรียกว่า inward – looking ได้เริ่มมีการกระชับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม เรื่องใหญ่ของนโยบายต่างประเทศ กลายเป็นความสัมพันธ์ไทยกับมหาอำนาจ สหรัฐในสมัยรัฐบาล Obama ได้กดดันรัฐบาลทหารอย่างหนัก ในเรื่องกระบวนการประชาธิปไตย แต่รัฐบาล คสช. ก็ได้ตอบโต้กระแสกดดันจากสหรัฐด้วยการอิงเข้าหาจีน ในช่วงนี้ ความสัมพันธ์ไทยกับจีนสนิทสนมกันมาก แต่การเอียงเข้าหาจีนเช่นนี้ ถือเป็นการที่ไทยหลุดออกจากกรอบนโยบายต่างประเทศของไทยในอดีต ที่เน้นการเดินสายกลาง เน้นการทูต “สนลู่ลม” หรือ bending with the wind การเอียงเข้าหาจีนมากเกินไป ทำให้ไม่เกิดความสมดุลระหว่างไทยกับมหาอำนาจ

แต่นอกจากความเคลื่อนไหวทางการทูตของไทยต่อมหาอำนาจดังกล่าวข้างต้นแล้ว ในประเด็นด้านอื่นๆ ก็ไม่มีอะไรโดดเด่น ในช่วงปีที่ 2 ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน หรือบทบาทของไทยในเวทีภูมิภาค โดยเฉพาะเวทีอาเซียน

สำหรับนโยบายต่างประเทศไทย ในปีที่ 3 และปีที่ 4 ของยุครัฐบาล คสช. คือ ในปี 2016 – 2017 ได้เริ่มเห็นชัดขึ้นว่า รัฐบาลเริ่มตั้งหลักได้ และมีเสถียรภาพทางการเมืองมากขึ้น ทำให้รัฐบาลมีนโยบายต่างประเทศในเชิงรุกมากขึ้น

ในช่วง 2 ปีหลังนี้ ไทยเริ่มมีนโยบายในเชิงรุกต่อประเทศเพื่อนบ้าน และมียุทธศาสตร์ต่ออาเซียนที่ชัดเจนมากขึ้น ยุทธศาสตร์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ อาทิ ยุทธศาสตร์การทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางของประชาคมอาเซียน ยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 ยุทธศาสตร์การพัฒนาเขตเศษฐกิจพิเศษ และยุทธศาสตร์ต่อกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งย่อมาจาก Cambodia Laos Myanmar Vietnam ซึ่งตัวย่อของ 4 ประเทศนี้คือ CLMV ในช่วงนี้ไทยเริ่มมีแนวคิดยุทธศาสตร์ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆว่า ไทยต้องการเป็นศูนย์กลาง หรือเป็น hub ของอาเซียนตอนบน หรือเป็นศูนย์กลางของ CLMV และได้มีการริเริ่มจัดการประชุมในกรอบใหม่ที่เรียกว่า CLMVT ซึ่งเป็นการประชุมระหว่าง 5 ประเทศของอาเซียนตอนบน โดยมีไทยเพิ่มเข้ามาคือตัว T

นอกจากนี้ รัฐบาลยังเดินหน้าเต็มที่ในโครงการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เชื่อมประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะที่เชื่อมกับประเทศเพื่อนบ้านผ่านการสร้างถนนและทางรถไฟ และการคมนาคมขนส่ง อื่นๆ ทั้งทางบก ทางอากาศ และทางน้ำ

สำหรับความสัมพันธ์ไทยกับมหาอำนาจในช่วงปี 2016 – 2017 นั้น ไทยยังคงเดินหน้ากระชับความสัมพันธ์กับจีนอย่างเต็มที่ ทั้งในด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว รวมทั้งเรื่องความร่วมมือในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งในช่วงนี้จีนได้ประกาศยุทธศาสตร์ใหม่ คือ ยุทธศาสตร์ OBOR หรือ ยุทธศาสตร์ One Belt One Road ที่จีนต้องการที่จะสร้างโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมจีนกับทั้งโลก โดยหากจีนทำสำเร็จ จะทำให้จีนกลายเป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจโลก จีนตั้งเป้าจะลงทุนในโครงการ OBOR สูงถึง 1- 4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งถือเป็นโครงการลงทุนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลก

ไทยก็จับตาดูยุทธศาสตร์ของจีนและหวังว่า จะได้ประโยชน์จากโครงการ OBOR ของจีน จึงได้รีบเจรจาโครงการสร้างทางรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ – หนองคาย เพื่อจะเชื่อมกับเส้นทางรถไฟความเร็วสูง เวียงจันทน์ – คุนหมิง โดยไทยหวังว่า เส้นทางรถไฟดังกล่าว จะทำให้ไทยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ OBOR จะทำให้ไทยเป็นประตู่สู่อาเซียนของจีน และจะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางของการคมนาคมขนส่งของภูมิภาค

อย่างไรก็ตาม ไทยก็ได้รับบทเรียนครั้งใหญ่ จากการใกล้ชิดกับจีนมากเกินไป ในระหว่างการเจรจารถไฟความเร็วสูง จีนได้บีบไทยอย่างหนัก ได้เรียกร้องข้อเรียกร้องต่างๆมากมาย จีนอาจจะคิดว่า ไทยไปไหนไม่รอด ไม่มีทางเลือกที่จะต้องพึ่งพาจีน จึงบีบไทยอย่างหนัก อย่างที่จีนเคยบีบประเทศเล็กๆที่จีนเคยช่วยเหลือมาแล้วก่อนไทย ได้แก่ ลาว กัมพูชา พม่า ดังนั้น ไทยจึงคงเห็นตัวอย่างมาแล้ว จากกรณีของประเทศเพื่อนบ้านที่ได้สูญเสียอำนาจอธิปไตยด้านเศษฐกิจให้กับจีน จึงทำให้การเจรจากับจีนเป็นไปอย่างล่าช้า เพราะต่างฝ่ายต่างไม่ยอม จีนคงไม่พอใจไทยเป็นอย่างมาก ที่การเจรจาล่าช้า และไทยไม่ยอมทำตามข้อเรียกร้องของจีน จนในที่สุด ก็ถึงขั้นที่จีนใช้ไม้แข็งต่อไทย ลงโทษไทยด้วยการไม่เชิญผู้นำไทยไปร่วมการประชุม OBOR summit ที่กรุงปักกิ่ง ในเดือน พฤษภาคม ปีที่แล้ว

จากบทเรียนดังกล่าวที่ไทยได้รับจากจีน ทำให้ไทยคงจะต้องปรับยุทธศาสตร์กับมหาอำนาจใหม่ โดยไทยได้พยายามที่จะลดการพึ่งพาจีนลง และหันไปหามหาอำนาจอื่นๆ เพื่อมาถ่วงดุลจีน

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ไทยได้เริ่มขยับเข้าหาญี่ปุ่นอย่างจริงจัง โดยพยายามดึงญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานแข่งกับจีน ซึ่งโครงการสำคัญที่ญี่ปุ่นกับไทยกำลังเจรจากันอยู่ ได้แก่ โครงการระเบียงเศษฐกิจตะวันตก – ตะวันออก เชื่อม พม่า ไทย ลาว เวียดนาม โครงการระเบียงเศรษฐกิจใต้ เชื่อมทวาย ไทย กัมพูชา และเวียดนาม โครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ – เชียงใหม่ และโครงการระเบียงเศษฐกิจตะวันออก หรือ EEC

อีกมหาอำนาจที่สำคัญอย่างยิ่ง ที่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ไทยได้พยายามปรับความสัมพันธ์อย่างเต็มที่ คือสหรัฐ ในช่วงปี 2016 เป็นช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีใหม่ สหรัฐก็ยังไม่มีนโยบายอะไรออกมา ความสัมพันธ์ไทย – สหรัฐ ยังคงซบเซา

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ Trump ชนะการเลือกตั้ง และได้เป็นประธานาธิปดีมาตั้งแต่ปี 2017 Trump ก็ได้ปรับนโยบายของสหรัฐต่อภูมิภาคเอเชียใหม่ เห็นชัดว่า Trump จะไม่เน้นเรื่องประชาธิปไตย แต่จะเน้นเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ และผลประโยชน์ด้านเศษฐกิจเป็นหลัก ในช่วงกลางปีที่แล้ว Trump ได้โทรศัพท์มาหา พลเอก ประยุทธ์ และได้เชิญผู้นำไทยไปเยือนทำเนียบขาว และต่อมาในช่วงปลายปีที่แล้ว พลเอกประยุทธ์ ได้เดินทางไปเยือนทำเนียบขาว ทำให้ความสัมพันธ์ไทย – สหรัฐ กระชับแน่นแฟ้นขึ้นมาก นับเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสอง และถือเป็นไพ่ใบสำคัญของไทยในการถ่วงดุลจีน

ประเมิน 4 ปี นโยบายต่างประเทศไทย

กล่าวโดยสรุป ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา อาจจะประเมินในภาพรวมได้ว่า ในช่วง 2 ปีแรก การทูตไทยไม่มีอะไรโดดเด่น แต่ในช่วง 2 ปีหลัง นโยบายต่างประเทศไทย มีลักษณะในเชิงรุกมากขึ้น ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังถือว่า ยังไปไม่ถึงจุดสูงสุดที่ควรจะเป็น

เพราะโดยภาพรวม จะเห็นได้ชัดว่า แม้ว่านโยบายต่างประเทศไทยจะ active มากขึ้น แต่ความสัมพันธ์โดยรวม กับประเทศเพื่อนบ้าน ยังไม่มีอะไรโดดเด่น บทบาทของไทยในอาเซียนก็ยังไม่มีอะไรโดดเด่น นโยบายต่างประเทศไทยยังคงมีลักษณะเป็น inward – looking อย่างชัดเจน

สำหรับความสัมพันธ์ไทยกับมหาอำนาจในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ก็ล้มลุกคลุกคลานมาโดยตลอด ในตอนแรก ความสัมพันธ์ไทย – สหรัฐตกต่ำ ไทยก็เข้าหาจีน แต่ในตอนหลัง กลับมีปัญหากับจีน ไทยก็พยายามหันมาหาสหรัฐกับญี่ปุ่น ทำให้การทูตของไทยมีลักษณะ “แกว่ง” ไม่นิ่งและไม่สมดุล ซึ่งเป็นการหลุดจากกรอบการทูตไทยในอดีต

ข้อเสนอนโยบายต่างประเทศไทยในอนาคต

จากการประเมิน 4 ปี นโยบายต่างประเทศไทยที่ผ่านมา ผมขอเสนอทิศทางนโยบายต่างประเทศไทยในอนาคตว่า ควรจะเน้น 4 เรื่องด้วยกัน

เรื่องที่ 1 คือ การทูตไทยในยุคไทยแลนด์ 4.0 ไทยควรใช้การทูตให้เป็นประโยชน์ในการทำให้ไทยเดินหน้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยเฉพาะการดึงประเทศมหาอำนาจ มาลงทุนในโครงการ 4.0 ของไทย

เรื่องที่ 2 คือ การทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียน ซึ่งจะต้องมีการทูตในเชิงรุก ต่อประเทศเพื่อนบ้าน สำหรับบทบาทของไทยในอาเซียน ก็ดูแผ่วลงไปมาก ไทยจะมีบทบาทโดดเด่นในอาเซียนในทุกๆ 10 ปี ก็คือ ตอนที่ไทยเป็นประธานอาเซียน ผมไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น เราควรจะ active ในอาเซียนทุกปี ขณะนี้กลายเป็นว่า ไทยกำลังรอที่จะ active ในปี 2019 คือปีที่ไทยกำลังจะเป็นประธานอาเซียน เรื่องใหญ่ที่ไทยควรผลักดันโดยด่วน ก่อนหน้าที่ประเทศอื่นจะตัดหน้าเรา คือเรื่องอาเซียน 4.0

สำหรับเรื่องที่ 3 คือ ยุทธศาสตร์การถ่วงดุลอำนาจมหาอำนาจ ในช่วงทีผ่านมา ไทยยังทำได้ไม่ดี ไทยจะต้องรีบหาสูตรการถ่วงดุลอำนาจที่ลงตัว ที่ทำให้เกิดดุลยภาพแห่งอำนาจอย่างแท้จริง

สำหรับเรื่องสุดท้าย ที่จะเป็นนโยบายต่างประเทศของไทยในระยะยาว คือ การที่ไทยจะต้องรีบจัดทำยุทธศาสตร์ 20 ปี การต่างประเทศของไทย โดยยุทธศาสตร์ดังกล่าว จะสอดรับกับยุทธศาสตร์อื่นๆ อาทิ ยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 การจะทำให้ไทยเป็นประเทศร่ำรวยภายใน 20 ปี และยุทธศาสตร์การจะทำให้ไทยเป็นประเทศมหาอำนาจระดับกลางหรือ middle power ในอีก 20 ปีข้างหน้าด้วย

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561

 

 

นโยบายต่างประเทศไทย
Share this

The Author drprapat

ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

More Posts Like This One

ASEAN-ARF-SINGAPORE

ไทยกับการเป็นประธานอาเซียน ปี 2019 (ตอนที่ 1)

June 24, 2018
0 Comments General

Leave A Comment Cancel reply

75 + = 84

 
รศ.ดร.ประภัสสร์ เทพชาตรี ศ.ดร.ประภัสสร์ เทพชาตรี ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้บรรยายพิเศษในสถาบันต่างๆ อาทิ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สถาบันพระปกเกล้า มีงานเขียน งานวิจัย ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และมีคอลัมน์ประจำ "กระบวนทรรศน์" ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์และคอลัมน์ประจำ "โลกทรรศน์" ในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
  • หนังสือ "ยุทศาสตร์สหรัฐฯต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้"

  • หนังสือ "ประชาคมเอเชียตะวันออก"

  • หนังสือ "ประชาคมอาเซียน"

  • หนังสือ "สถานการณ์โลกปี 2553 และแนวโน้มปี 2554"

  • ปกนโยบายต่างประเทศ-USA-แก้-2557-07-28-at-3.05.01-PM

1/4

Calendar

April 2021
M T W T F S S
« Apr    
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930  

Blog

drprapat-header-3

LINKS

คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ศึกษานโยบายระหว่างประเทศ (CIPS) ศูนย์ศึกษานโยบายระหว่างประเทศ (CIPS)

Tags

AEC al-Qaeda APEC ARF ASEAN Clinton Donald Trump EAS EU eurozone FTA G-20 ISIS Obama the rise of China TPP UN UNSC WTO การก่อการร้าย การต่างประเทศของไทย การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ ความขัดแย้ง ความขัดแย้งทะเลจีนใต้ ความมั่นคง จีน ตะวันออกกลาง ประชาคมอาเซียน ประเทศมหาอำนาจ พม่า ยุทธศาสตร์สหรัฐฯ รัสเซีย วิกฤต Eurozone สงคราม สงครามการค้า สหรัฐ สหรัฐอเมริกา สหรัฐฯ อัฟกานิสถาน อาเซียน อิหร่าน เกาหลีเหนือ เศรษฐกิจ เอเชีย ไทย