Grexit : ผลกระทบต่อโลก ผลกระทบต่อไทย

คำว่า Grexit เป็นคำใหม่ที่เพึ่งเกิดขึ้นโดยเป็นการเอาคำ 2 คำมารวมกัน คือคำว่า Greece และคำว่า exit มารวมกันเรียกว่า Grexit ซึ่งมีความหมายว่า การออกจาก Eurozone ของกรีซ คอลัมน์กระบวนทรรศน์
ในวันนี้ จะวิเคราะห์ถึงภูมิหลังของวิกฤตหนี้กรีซ และผลกระทบของ Grexit ต่อโลกและต่อไทย ดังนี้
วิกฤตหนี้กรีซ
วิกฤตหนี้ของยุโรปโดยเฉพาะประเทศที่ใช้เงินยูโร 17 ประเทศที่เราเรียกว่า Eurozone นั้น ตอนแรก ประเทศที่ประสบภาวะหนี้สินได้แก่ กรีซ ไอร์แลนด์และโปรตุเกส แต่ต่อมาได้ลุกลามเข้าสู่อิตาลี และสเปน อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ล่าสุด ปัญหาหนี้ของกรีซกำลังเข้าขั้นวิกฤต โดยกรีซอาจจะผิดนัดชำระหนี้ ตกอยู่ในสภาวะล้มละลาย และจะต้องถูกขับออกจาก Eurozone
กรีซมีปัญหาทางการเงินมานาน รัฐบาลกรีซใช้จ่ายเงินอย่างมหาศาล ทำให้เกิดการขาดดุลงบประมาณ จนทำให้รัฐบาลมีหนี้สินถึง 180 % ของ GDP รัฐบาลไม่มีเงินพอที่จะชำระหนี้ได้
ที่ผ่านมา EU และ IMF ได้เข้ามาช่วยกอบกู้วิกฤตหนี้ของกรีซอย่างเต็มที่ โดยการปล่อยเงินกู้ให้กับกรีซแต่มีเงื่อนไขให้รัฐบาลออกมาตรการรัดเข็มขัด โดยเฉพาะการปรับลดการใช้จ่ายของภาครัฐ การขึ้นภาษี การปฎิรูประบบราชการ และตลาดแรงงาน แต่ชาวกรีกส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว โดยการทำประชามติเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ชาวกรีกกว่า 60 % ไม่เห็นด้วยกับมาตรการของ EU และ IMF ดังนั้นหาก EU และ IMF ไม่ปล่อยเงินกู้ก้อนใหม่ให้กับกรีซ กรีซก็คงจะผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งในที่สุด กรีซก็จะถูกขับออกจาก Eurozone
ผลกระทบ
- ผลกระทบต่อ Eurozone
การที่กรีซจะต้องออกจาก Eurozone หรือที่เรียกว่า Grexit นั้น จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจยุโรปและเศรษฐกิจโลก โดยวิกฤตหนี้ของกรีซจะส่งผลกระทบต่อธนาคารในยุโรป ที่เป็นเจ้าหนี้กรีซอยู่ 3 แสนล้านยูโร โดยเฉพาะธนาคารของฝรั่งเศสและเยอรมนี
นอกจากนี้ โอกาสการแพร่ระบาดของวิกฤตหนี้กรีซไปสู่ประเทศอื่นๆ ก็ยังมีอยู่ โดยหากกรีซล้มละลาย ตลาดการเงินอาจจะตื่นตระหนกว่า โปรตุเกสและไอร์แลนด์ก็อาจจะล้มละลายไปด้วย และอาจจะส่งผลกระทบเป็น domino effect ต่ออิตาลีและสเปนด้วย ซึ่งจะนำไปสู่วิกฤตธนาคารครั้งใหญ่ของยุโรป จะกระทบต่อ Eurozone ทั้งระบบ และอาจนำไปสู่วิกฤตการเงินโลกครั้งใหม่
- ผลกระทบต่อ EU
ถ้าแม้ว่ากรีซน่าจะยังคงเป็นสมาชิก EU ต่อไป แม้ว่าจะออกจาก Eurozone ไปแล้ว แต่ก็คงจะทำให้เกิดการระส่ำระสายไปทั่วยุโรป การออกจาก Eurozone ของกรีซ ถือได้ว่าเป็น
ความล้มเหลวครั้งใหญ่ที่สุดของบูรณาการทางเศรษฐกิจของยุโรป โดย EU จะแตกออกเป็น 2 ส่วน ส่วนที่อยู่ใน Eurozone และส่วนที่อยู่นอก Eurozone การแตกแยกใน EU ในครั้งนี้ อาจมีนัยสำคัญต่อวิวัฒนาการของ EU ในอนาคต ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ว่า ในอนาคต อังกฤษอาจจะออกจาก EU ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อบูรณาการของ EU ในอนาคต
การออกจาก Eurozone ของกรีซ จะทำให้ความฝันของยุโรป ที่จะเป็นหนึ่งเดียว ที่จะมีทั้งความมั่นคงและมั่งคั่ง ความฝันดังกล่าวกำลังจะแตกสลายลง Grexit อาจเป็นก้าวแรกที่จะทำให้ประเทศอื่นออกจาก Eurozone ตามกรีซไปด้วย
- ผลกระทบทางภูมิรัฐศาสตร์
วิกฤตหนี้กรีซ จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อภูมิรัฐศาสตร์และการเมืองระหว่างประเทศในยุโรปด้วย ทั้งนี้เพราะ ขณะนี้ตะวันตกกับรัสเซียกำลังขัดแย้งกันอย่างหนัก รัสเซียมองวิกฤตหนี้กรีซว่า จะเป็นโอกาสของรัสเซียที่จะขยายอิทธิพลเข้าครอบงำคาบสมุทรบอลข่าน หากกรีซถูกบีบให้ต้องพึ่งพาทางเศรษฐกิจจากรัสเซียมากขึ้น การเป็นสมาชิกนาโต้ของกรีซก็จะสั่นคลอนไปด้วย
Grexit จะส่งสัญญาณถึงการถดถอยของอิทธิพลตะวันตกในคาบสมุทรบอลข่าน และแนวโน้มการขยายอิทธิพลของรัสเซีย คาบสมุทรบอลข่านซึ่งมีหลายประเทศรวมถึงกรีซด้วย เป็นเขตที่หลายประเทศยังไม่ได้เป็นสมาชิก EU และมีแนวโน้มว่า ประเทศเหล่านี้จะกระชับความสัมพันธ์กับรัสเซียมากขึ้นในอนาคต
- ผลกระทบต่อไทย
สำหรับการวิเคราะห์ผลกระทบของ Grexit ต่อไทยนั้น ขณะนี้ ยังมีความไม่ชัดเจน คือหากวิกฤตไม่ลุกลามบานปลาย ก็จะไม่กระทบต่อไทยมากนัก แต่หากเป็นไปในทางตรงกันข้ามว่า วิกฤตลุกลามบานปลาย นำไปสู่วิกฤตการเงินโลกครั้งใหญ่ ก็จะส่งผลกระทบต่อไทยอย่างรุนแรง
หากมีการยกเลิกหนี้ให้กับกรีซ 50 % หรือที่เรียกว่ามาตรการ haircut และหาก EU และ IMF สามารถผลักดันมาตรการต่างๆออกมาได้สำเร็จ ก็จะช่วยให้วิกฤตไม่บานปลาย
การส่งออกของไทยไป Eurozone มีมูลค่าประมาณ 10 % ของการส่งออกซึ่งไม่มากนัก ที่ผ่านมา ผู้ส่งออกไทยได้พยายามหาตลาดใหม่ๆโดยเฉพาะตลาดเอเชีย ทำให้พึ่งพาการส่งออกไปยุโรปน้อยลง สำหรับในด้านการลงทุน ไทยน่าจะไม่กระเทือนมากนัก ทั้งนี้เพราะ นักลงทุนรายใหญ่ของไทยไม่ใช่ยุโรป แต่เป็นประเทศในเอเชีย อาทิ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี และอาเซียน
อย่างไรก็ตาม หากวิกฤตลุกลามบานปลาย ก็จะส่งผลกระทบต่อไทยอย่างรุนแรง โดยเฉพาะการส่งออกของไทยไปยุโรปจะหดตัว และในด้านการลงทุน หากเกิด worst-case scenario นักลงทุนจากยุโรปก็คงจะลดการลงทุนในไทยลง รวมทั้งในตลาดหุ้นและตลาดการเงินด้วย การไหลเวียนของเงินทุนจากยุโรปมาไทยก็คงจะลดลงเป็นอย่างมาก
กล่าวโดยสรุป ผลกระทบของวิกฤตหนี้กรีซในครั้งนี้ ทั้งต่อโลก ต่อยุโรปและต่อไทย มีอยู่มากมายหลายประการ แต่ยังไม่มีความแน่นอนว่า จะกระทบมากน้อยแค่ไหน เราคงจะต้องติดตามเฝ้าดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิดว่า ในที่สุดแล้ว จะเป็น best-case scenario หรือ worst-case scenario กันแน่