Logo
  • หน้าหลัก
  • ประวัติ
  • ผลงานวิชาการ
  • ผลงานอื่นๆ
    • หนังสือ
    • Powerpoint
    • สัมภาษณ์รายการต่างๆ
    • บทความอื่นๆ
  • Blog
  • Gallery ภาพส่วนตัว
  • ติดต่อ
Copyright, 2015 : drprapat.com - All rights reserved.
September 9, 2016
drprapat
บทความ
0

ISIS ปี 2016

PreviousNext
terrorism-guy-640x480

คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์สถานการณ์ล่าสุด เกี่ยวกับขบวนการก่อการร้าย ISIS ในปี 2016 นี้ ดังนี้

ISIS ถือเป็นกลุ่มก่อการร้ายที่มีอิทธิพลมากที่สุดอยู่ในขณะนี้ และได้ครอบครองอาณาบริเวณกว้างขวาง ครอบคลุมทางตะวันตกของอิรัก ทางตะวันออกของซีเรีย และบางส่วนของลิเบีย ดินแดนที่ถูกยึดครอง ISIS ได้ตั้งเป็น รัฐอิสลาม หรือ Caliphate  ISIS ขยายอิทธิพลอย่างมากในปี 2014 และได้ดึงดูดนักรบจากประเทศต่างๆ มาเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ กลุ่มก่อการร้ายในประเทศต่างๆ ได้ประกาศร่วมอุดมการณ์กับ ISIS และสวามิภักดิ์ต่อ ISIS ก็ได้ก่อวินาศกรรมทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ในปี 2016 สหรัฐฯ ได้ปฏิบัติการทางทหารโจมตี ISIS อย่างหนัก จึงทำให้ ISIS สูญเสียดินแดนที่ครอบครองในอิรักและซีเรีย แต่เมืองใหญ่ๆ ยังอยู่ภายใต้การครอบครองของ ISIS โดยเฉพาะเมือง Mosul และ Raqqa

ที่มาของ ISIS

          จุดกำเนิดของ ISIS เกิดขึ้นภายหลังการบุกยึดครองอิรักของสหรัฐฯ ในปี 2003 โดย นาย Zarqawi ได้เป็นผู้นำจัดตั้ง al-Qaeda in Iraq ขึ้น อย่างไรก็ตาม หลังจากนาย Zarqawi ถูกสังหารในปี 2006 ก็ได้มีการเปลี่ยนชื่อ al-Qaeda in Iraq มาเป็น Islamic State of Iraq and al-Sham ตัวย่อ คือ ISIS โดยผู้นำ ISIS ปัจจุบัน คือ นาย Baghdadi

ISIS ได้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นผลมาจากมุสลิมนิกายซุนนีเป็นจำนวนมากในอิรักและซีเรียหันมาร่วมมือกับ ISIS

โดยในอิรัก ชาวซุนนีซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อยถูกกีดกันและสูญเสียอำนาจทางการเมือง หลังจากรัฐบาล Saddam ถูกโค่นลง ปัจจุบัน อิรักถูกปกครองโดยมุสลิมนิกายชีอะห์ ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่  ISIS ได้ยึดครองพื้นที่ในอิรักได้เกือบครึ่งค่อนประเทศ รวมถึงเมือง Mosul ซึ่งเป็นเมืองใหญ่เป็นอันดับ 2 ของอิรัก ก็ถูกยึดได้ในเดือนมิถุนายน 2014

สำหรับในซีเรีย สงครามกลางเมืองได้ลุกลามบานปลาย จากการลุกฮือขึ้นเพื่อต่อต้านรัฐบาล Assad ตั้งแต่ปี 2011 ซึ่งเป็นความขัดแย้งระหว่างซุนนีกับชีอะห์ รัฐบาล Assad เป็นชีอะห์ เป็นชนกลุ่มน้อย แต่คนส่วนใหญ่เป็นซุนนี  ISIS จึงได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วในซีเรีย และประสบความสำเร็จในสงครามยึดครองพื้นที่ในซีเรียเป็นอย่างมาก จึงดึงดูดซุนนีหัวรุนแรงเข้ามาร่วมขบวนการกับ ISIS เป็นจำนวนมาก  ISIS ได้ยึดครองพื้นที่ทางเหนือและตะวันออกของซีเรีย เมือง Raqqa ทางตอนเหนือของซีเรีย ก็ถูกขนานนามว่า เป็นเมืองหลวงของ ISIS

สำหรับรายได้ของ ISIS ส่วนใหญ่มาจากการขายน้ำมันจากบ่อน้ำมันในอิรักและซีเรีย โดยประมาณแล้ว มีรายได้ 1-3 ล้านเหรียญต่อวัน

แนวโน้ม

สำหรับแนวโน้มของการเติบโตของ ISIS นั้น จะขยายวงกว้างไปทั่วโลก โดยกลุ่มก่อการร้ายในประเทศต่างๆ ประกาศสนับสนุนและสวามิภักดิ์ต่อ ISIS อาทิ กลุ่มก่อการร้ายหัวรุนแรงในอัฟกานิสถาน บังคลาเทศ อียิปต์ อินโดนีเซีย ไนจีเรีย ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ ซาอุดีอาระเบีย และเยเมน เป็นต้น ในปี 2015 ISIS ได้ยึดดินแดนในลิเบียเพิ่มขึ้น

ขณะนี้มีนักรบต่างชาติเข้าร่วมกับกองกำลัง ISIS กว่า 13,000 คน ในจำนวนนี้ กว่า 3,400 คน มาจากประเทศตะวันตก มีการประเมินกันว่า กองกำลัง ISIS น่าจะมีมากกว่า 100,000 คน

ที่น่าเป็นกังวล คือ การที่ ISIS เรียกร้องให้กลุ่มผู้สนับสนุนทั่วโลกก่อวินาศกรรมทั่วโลก โดยเฉพาะในยุโรปและสหรัฐฯ ล่าสุดได้มีการก่อวินาศกรรมที่รัฐฟลอริด้า ในเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา

สหรัฐฯ

รัฐบาลโอบามา ได้มีนโยบายจะปราบปราม ISIS ให้สิ้นซาก โดยได้มีการรวบรวมพันธมิตรกว่า 60 ประเทศ เพื่อเอาชนะ ISIS อย่างไรก็ตาม พันธมิตรที่เป็นประเทศอาหรับ และคนส่วนใหญ่เป็นชาวซุนนี ก็ไม่ได้ให้การสนับสนุนสหรัฐฯ อย่างจริงจัง ปฏิบัติการทางทหารจนถึงเดือนกรกฎาคม มีการโจมตีทางอากาศกว่า 14,000 ครั้ง ต่อเป้าหมาย ISIS ในอิรักและซีเรีย แต่เกือบ 80% เป็นปฏิบัติการโดยกองกำลังสหรัฐฯ

ในอิรัก สหรัฐฯ ได้ใช้กองกำลังทหารกว่า 3,000 คน ช่วยเหลือกองกำลังทหารของอิรัก และติดอาวุธให้กับกองกำลังชาวเคิร์ท เพื่อจะยึดดินแดนคืนจาก ISIS ซึ่งในช่วงปีที่ผ่านมา ก็ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง โดยในเดือนธันวาคม 2015 ได้ยึดเมือง Ramadi กลับมาได้ และในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ก็ยึดเมือง Fallujah กลับมาได้ ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา กองกำลังอิรักก็พยายามจะยึดเมือง Mosul กลับคืนมา

สำหรับในซีเรีย สหรัฐฯ มีโครงการตั้งแต่ 2015 ที่จะติดอาวุธให้กับฝ่ายต่อต้านรัฐบาลซีเรีย ให้หันกลับมาต่อสู้กับ ISIS แต่ก็ไม่ได้ผล ในที่สุด ก็ต้องยกเลิกแผนการดังกล่าว และสงครามกลางเมืองก็ยังดำเนินต่อ ซึ่งจะเป็นการช่วยให้ ISIS เพิ่มบทบาทมากยิ่งขึ้นในอนาคต

อาเซียน

สำหรับในอาเซียน กลุ่มก่อการร้ายร่วมอุดมการณ์ ISIS ได้ก่อวินาศกรรมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยในเดือนมกราคม มีการก่อวินาศกรรมที่กรุงจาการ์ต้า ต่อมาในเดือนกรกฎาคม มีการโจมตีในกรุงกัวลาลัมเปอร์  นอกจากนี้ ในเดือนกรกฎาคม ก็ยังมีการก่อวินาศกรรมในภัตตาคาร ในกรุงธากา บังคลาเทศ มีผู้เสียชีวิตกว่า 20 คน

แนวโน้มการก่อวินาศกรรมจากกลุ่มก่อการร้ายนิยม ISIS ในอาเซียน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากหลายปัจจัย

ประการแรก จากตัวอย่างของการก่อวินาศกรรมในกรุงกัวลาลัมเปอร์ เป็นลักษณะของการกระทำโดยคนๆ เดียว ในภาษาอังกฤษ เรียกว่า lone wolf  ผู้นำ ISIS ได้เรียกร้องให้คนกลุ่มนี้ออกมาปฏิบัติการก่อวินาศกรรมเพิ่มขึ้น

ประการที่สอง มีคนจากอาเซียนกว่า 300 คน ที่ไปร่วมกับกองกำลัง ISIS ซึ่งเรียกหน่วยกองกำลังที่มาจากประเทศอาเซียนว่า Katibah Nusantara และคนกลุ่มนี้ในอนาคต จะกลับมายังประเทศบ้านเกิด ส่วนใหญ่จะกลับไปที่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งคนกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะมาขยายจัดตั้งสาขาของ ISIS ขึ้นในอาเซียน

ซึ่งมีแนวโน้มว่า จะมีการก่อวินาศกรรมเพิ่มมากขึ้นจากคนกลุ่มนี้ ในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ตำรวจอินโดนีเซียได้จับกุมกลุ่มหัวรุนแรง 6 คน โดยคนกลุ่มนี้ กำลังมีแผนจะยิงจรวด โจมตีสิงคโปร์ โดยจะยิงจากเกาะ Batam ซึ่งเป็นเกาะของอินโดนีเซีย แต่อยู่ใกล้สิงคโปร์มาก ผู้นำของกลุ่ม Gigih Rahmat Dewa ร่วมกับ Bahrun Naim ก็เป็นผู้นำนักรบอินโดนีเซีย ในกองกำลัง ISIS ในซีเรีย

นอกจากนี้ ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา สิงคโปร์ได้จับกุมชาย 2 คน ที่กำลังจะเดินทางไปร่วมกับกองกำลัง ISIS ในซีเรีย

ประการที่สาม ISIS เองก็มีแผนที่จะขยายปฏิบัติการเข้ามาในอาเซียน โดยร่วมกับกลุ่มก่อการร้ายท้องถิ่น ซึ่งข้อมูลนี้ ได้รับการเปิดเผยจาก Justin Siberell เจ้าหน้าที่ระดับสูง ดูแลเรื่องการต่อต้านการก่อการร้าย ในกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลประเทศอาเซียนก็ได้มีมาตรการในเชิงรุกมากขึ้น ในการจัดการกับภัยคุกคามจาก ISIS มาตั้งแต่กลางปี 2014 โดยได้มีการยกระดับความร่วมมือและแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวกรองระหว่างกัน โดยเฉพาะระหว่างรัฐบาลอินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์

แต่สำหรับรัฐบาลฟิลิปปินส์ ดูจะล้มเหลวในการจัดการกับปัญหานี้ การเจรจาสันติภาพกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดน Moro ก็สะดุดหยุดลงมาตั้งแต่ต้นปี 2015 หลังจากนั้น สถานการณ์ในเกาะมินดาเนาก็ดูจะเลวร้ายลง โดยในขณะนี้ มีกลุ่มก่อการร้ายอย่างน้อย 6 กลุ่ม ที่ประกาศสนับสนุนและสวามิภักดิ์ต่อ ISIS ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ISIS ก็พยายามที่จะร่วมกลุ่มก่อการร้ายทั้ง 6 กลุ่ม ให้กลายเป็นกลุ่มเดียว โดยอยู่ภายใต้การนำของ ISIS

กล่าวโดยสรุป จากการที่ผมได้สรุปวิเคราะห์สถานการณ์ดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่า ภัยคุกคามจาก ISIS กำลังเพิ่มมากขึ้นทุกที ทั้งในระดับโลก และในระดับภูมิภาคอาเซียน ประเทศไทยแม้ว่าจะไม่มีหลักฐานชัดเจนว่า มีความสัมพันธ์ระหว่าง ISIS กับกลุ่มก่อการร้ายภาคใต้ แต่เราก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ และควรจะต้องยกระดับมาตรการต่างๆ ให้มากขึ้นต่อไปในอนาคต

ISIS
Share this

The Author drprapat

ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

More Posts Like This One

terrorism-guy-640x480

ISIS ในอาเซียน

May 10, 2016
World_Flag_Map_2015

สรุปสถานการณ์โลกปี 2015 (ตอนที่ 2)

January 14, 2016
isis

ยุทธศาสตร์สหรัฐ ต่อ isis

December 16, 2015
0 Comments General

Leave A Comment Cancel reply

14 − = 13

 
รศ.ดร.ประภัสสร์ เทพชาตรี ศ.ดร.ประภัสสร์ เทพชาตรี ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้บรรยายพิเศษในสถาบันต่างๆ อาทิ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สถาบันพระปกเกล้า มีงานเขียน งานวิจัย ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และมีคอลัมน์ประจำ "กระบวนทรรศน์" ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์และคอลัมน์ประจำ "โลกทรรศน์" ในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
  • หนังสือ "ยุทศาสตร์สหรัฐฯต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้"

  • หนังสือ "ประชาคมเอเชียตะวันออก"

  • หนังสือ "ประชาคมอาเซียน"

  • หนังสือ "สถานการณ์โลกปี 2553 และแนวโน้มปี 2554"

  • ปกนโยบายต่างประเทศ-USA-แก้-2557-07-28-at-3.05.01-PM

1/4

Calendar

January 2021
M T W T F S S
« Apr    
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031

Blog

drprapat-header-3

LINKS

คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ศึกษานโยบายระหว่างประเทศ (CIPS) ศูนย์ศึกษานโยบายระหว่างประเทศ (CIPS)

Tags

AEC al-Qaeda APEC ARF ASEAN Clinton Donald Trump EAS EU eurozone FTA G-20 ISIS Obama the rise of China TPP UN UNSC WTO การก่อการร้าย การต่างประเทศของไทย การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ ความขัดแย้ง ความขัดแย้งทะเลจีนใต้ ความมั่นคง จีน ตะวันออกกลาง ประชาคมอาเซียน ประเทศมหาอำนาจ พม่า ยุทธศาสตร์สหรัฐฯ รัสเซีย วิกฤต Eurozone สงคราม สงครามการค้า สหรัฐ สหรัฐอเมริกา สหรัฐฯ อัฟกานิสถาน อาเซียน อิหร่าน เกาหลีเหนือ เศรษฐกิจ เอเชีย ไทย