Logo
  • หน้าหลัก
  • ประวัติ
  • ผลงานวิชาการ
  • ผลงานอื่นๆ
    • หนังสือ
    • Powerpoint
    • สัมภาษณ์รายการต่างๆ
    • บทความอื่นๆ
  • Blog
  • Gallery ภาพส่วนตัว
  • ติดต่อ
Copyright, 2015 : drprapat.com - All rights reserved.
May 16, 2019
drprapat
บทความ
0

ISIS ปี 2019

PreviousNext
90

      เหตุการณ์การก่อการร้ายที่กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกาในวัน Easter คือ วันที่ 21 เมษายน ที่ผ่านมา ถือเป็นการก่อการร้ายโดยกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง เครือข่าย ISIS ที่รุนแรงที่สุดในเอเชีย โดยมีผู้เสียชีวิตมากเกือบ 400 คน คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะมาวิเคราะห์ บทบาทของ ISIS ในการก่อวินาศกรรมในครั้งนี้ ดังนี้
      ภูมิหลังของ ISIS
     
จุดกำเนิดของ ISIS เกิดขึ้นหลังจากการบุกยึดครองอิรักของสหรัฐ ในปี 2003 โดยในตอนแรก ได้มีการจัดตั้งสาขาของ Al-Qaida ชื่อ Al-Qaida in Iraq แต่ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น Islamic State of Iraq and Syria ชื่อย่อ ISIS และ ISIS ได้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นผลมาจากมุสลิมนิกายซุนนีเป็นจำนวนมากในอิรัก และซีเรีย และประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก หันมาร่วมมือกับ ISIS
      ISIS เป็นกลุ่มก่อการร้ายที่มีอิทธิพลมากที่สุดในปัจจุบัน ได้เคยครอบครองอาณาบริเวณกว้างขวาง เคยจัดตั้งรัฐอิสลาม หรือ Caliphate ที่ครอบคลุมตะวันตกของอิรัก ตะวันออกของซีเรีย และบางส่วนของลิเบีย กลุ่มก่อการร้ายมุสลิมหัวรุนแรง ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ได้ประกาศเข้าร่วมกับ ISIS และสวามิภักดิ์ ต่อ ISIS ได้ก่อวินาศกรรมทั่วโลก แต่ในช่วงที่ผ่านมา สหรัฐได้ปฏิบัติการโจมตี ISIS อย่างหนัก ทำให้ ISIS สูญเสียดินแดนที่เคยครอบครองในอิรักและซีเรีย
      ในช่วงสงครามยึดครองอิรักและซีเรียของ ISIS ได้มีนักรบต่างชาติเข้าร่วมกับกองกำลัง ISIS กว่า 40,000 คน และกองกำลัง ISIS ทั้งหมดน่าจะมีมากกว่า 100,000 คน
      ศรีลังกา
     
Trump ได้ประกาศว่าได้บดขยี้ ISIS อย่างราบคาบแล้ว แต่เหตุการณ์ก่อวินาศกรรมครั้งใหญ่ ที่กรุงโคลัมโบ ศรีลังกา ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ISIS ยังไม่ตาย แต่กำลังฟื้นและกำลังกลับมามีบทบาทในรูปแบบใหม่ ที่จะมีลักษณะของการต่อสู้ที่ไม่ใช่สงคราม แต่จะเป็นการลงใต้ดิน และเป็นการก่อการร้ายในแบบที่ al-Qaida เคยทำมาโดยตลอด
      เหตุการณ์การก่อวินาศกรรม ในวัน Easter ที่กรุงโคลัมโบ เป็นการก่อวินาศกรรมด้วยระเบิดฆ่าตัวตาย ในโบสถ์คริสต์ 3 แห่ง และในโรงแรมที่ชาวตะวันตกพักอาศัยอยู่หลายแห่ง ทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 400 คน รัฐบาลศรีลังกาได้ประกาศว่า การก่อวินาศกรรมครั้งนี้เป็นการตอบโต้การฆ่าหมู่ชาวมุสลิมในมัสยิด ในเมือง Christchurch ประเทศนิวซีแลนด์ ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
      ผู้ก่อการร้ายระเบิดฆ่าตัวตายเป็นสมาชิกขององค์กรก่อการร้ายในศรีลังกา ที่แทบจะไม่มีคนรู้จัก ชื่อว่า National Thowheeth Jama’ath (NTJ) และองค์กร Jammiyathul Mikkathu lbrahim โดยองค์กรหลักคือ NTJ โดย NTJ เป็นกลุ่มก่อการร้ายมุสลิมหัวรุนแรงที่เพิ่งจะมีบทบาทตั้งแต่ปีที่แล้ว ที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อตอบโต้กระแสต่อต้านมุสลิมในศรีลังกา โดยเฉพาะจากกลุ่มชาวศรีลังกาที่เป็นชาวสิงหล นับถือศาสนาพุทธ ในปี 2016 นาย Abdul Razik ได้ถูกทางการศรีลังกาจับกุมตัวในข้อหา ปลุกปั่นการต่อต้านชาวพุทธในศรีลังกา ปีที่แล้ว NTJ ก็ได้ปฏิบัติการทำลายพุทธสถานต่าง ๆ ทางตอนกลางของศรีลังกา
      ภายหลังเหตุการณ์การก่อวินาศกรรม ISIS ได้ออกมาประกาศผ่านทางเว็บไซต์ของ ISIS ว่า เป็นผู้ก่อวินาศกรรมดังกล่าว โดยลำพังแล้ว กลุ่มก่อการร้าย NTJ ซึ่งมีสมรรถภาพจำกัด คงจะไม่สามารถก่อวินาศกรรมครั้งใหญ่นี้ได้ นอกจากจะได้รับการสนับสนุนและฝึกจาก ISIS โดย ISIS ได้อ้างว่า ได้ฝึกผู้ก่อการร้ายชาวศรีลังกาสมาชิก NTJ ที่ก่อระเบิดฆ่าตัวตายในครั้งนี้
      ความเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มก่อการร้ายชาวมุสลิมในศรีลังกากับ ISIS เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2015 โดยได้มีชาวมุสลิมศรีลังกาหัวรุนแรงหลายคน เดินทางไปร่วมกับนักรบ ISIS ในอิรักและซีเรีย อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่ ISIS ได้ถูกปราบปรามอย่างราบคาบในซีเรียและอิรัก และรัฐอิสลามได้ล่มสลายไป นักรบต่างชาติจากประเทศต่าง ๆ ซึ่งเคยมีมากกว่า 40,000 คน มาจากประเทศต่าง ๆ กว่า 80 ประเทศ ก็ได้เดินทางกลับประเทศตน รวมทั้งนักรบจากศรีลังกาด้วย ซึ่งนักรบเหล่านี้มีความเชี่ยวชาญในการทำระเบิดและก่อวินาศกรรมแบบที่เกิดขึ้นในวัน Easter ที่กรุงโคลัมโบ
      บทวิเคราะห์
      จากการก่อวินาศกรรมครั้งใหม่ของ ISIS ในครั้งนี้ นำไปสู่ข้อสังเกตที่สำคัญ ดังนี้
      • สำหรับที่มาของการเกิดขึ้นของกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงในศรีลังกานั้น ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่า ศรีลังกาจะมีกลุ่มก่อการร้ายมุสลิมหัวรุนแรง ที่จะสามารถก่อวินาศกรรมได้อย่างรุนแรงมากในครั้งนี้ เพราะศรีลังกาเคยมีประวัติสงครามกลางเมืองระหว่างชาวพุทธสิงหลกับชาวฮินดูทมิฬ โดยในศรีลังกาชาวพุทธสิงหลเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศกว่า 70 % นอกนั้น เป็นชาวฮินดู 12 % มุสลิม 10% และคริสต์ 6%
      เมื่อได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 1948 รัฐบาลศรีลังกาได้พยายามสร้างอัตลักษณ์เป็นประเทศของชาวพุทธสิงหล ก่อให้เกิดกระแสชาตินิยมของชาวพุทธสิงหล นำไปสู่ความขัดแย้งกับชาวฮินดูทมิฬ และเกิดสงครามกลางเมืองอย่างยาวนาน มีผู้คนล้มตายไปกว่า 100,000 คน แต่สงครามการเมืองก็มายุติลงได้ในปี 2009 แต่กลุ่มชาตินิยมพวกสิงหลยังคงต้องการแสวงหาศัตรูใหม่แทนชาวฮินดูทมิฬ ชาวมุสลิมศรีลังกาก็ได้กลายเป็นศัตรูใหม่ของชาวพุทธสิงหล ตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา ได้เกิดความรุนแรงต่อต้านชาวมุสลิมมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งมีผลทำให้ชาวมุสลิมจำนวนมากได้เริ่มเปิดรับแนวคิดหัวรุนแรงและเข้าร่วมขบวนการก่อการร้ายหัวรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ นำไปสู่การจัดตั้งกลุ่ม NTJ และเครือข่าย ISIS ในปัจจุบัน
      • การก่อวินาศกรรมในครั้งนี้ ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า กลุ่มก่อการร้าย ISIS และเครือข่าย ISIS ทั่วโลก ยังไม่ได้ถูกกำจัดอย่างสิ้นซาก อย่างที่รัฐบาล Trump ได้คุยโอ้อวด แต่กลับกลายเป็นนักรบ ISIS ที่มีกว่า 100,000 คน ในซีเรียและอิรักได้กระจัดกระจายไปทั่วโลกกว่า 80 ประเทศ และ ISIS ก็ได้เปลี่ยนยุทธศาสตร์ใหม่ จากการทำสงครามเพื่อยึดครองดินแดนเพื่อก่อตั้งรัฐอิสลาม มาเป็นการก่อการร้ายใต้ดิน ตามแบบมาตรฐานของยุทธศาสตร์การก่อการร้าย ซึ่งเป็นวิธีการบั่นทอนอำนาจของฝ่ายศัตรูลงไปเรื่อย ๆ
      • การก่อการร้ายในครั้งนี้ ชี้ให้เห็นเป้าหมายของกลุ่มก่อการร้าย ที่เปลี่ยนจากการโจมตีสถานที่สาธารณะทั่วไป หรือหน่วยงานรัฐบาล มาเป็นการโจมตีสถานที่ทางศาสนา โดยเฉพาะ โบสถ์ มัสยิด และวัด จำนวนคนที่เสียชีวิตจากการโจมตีในมัสยิด โบสถ์ และสถานที่ทางศาสนา เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
      ยุทธศาตร์ของ ISIS ตั้งแต่ช่วงก่อตั้งองค์กรใหม่ ๆ ได้เน้นการสังหารชาวชีอะห์ในอิรัก ที่เป็นศัตรูกับมุสลิมซุนนีที่เป็นสมาชิกของ ISIS ดังนั้น ISIS จึงเน้นเป้าการโจมตีไปที่ศาสนามาตั้งแต่แรก และ ISIS ก็ได้เน้นการโจมตีเป้าหมายที่หลากหลายทุกรูปแบบ ทุกสถานที่ โดยเฉพาะการโจมตีที่เน้นในเรื่องศาสนาเป็นหลัก
      ตัวอย่างเช่น ISIS สาขาอียิปต์ ได้ก่อระเบิดฆ่าตัวตายต่อชาวคริสต์นิกาย Coptic ในอียิปต์ ISIS ได้มีการก่อวินาศกรรมในโบสถ์คริสต์ในอินโดนีเซียและในฟิลิปปินส์ ในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา
      ISIS และ al-Qaida แม้ว่าจะมีเป้าหมายตรงกันก็คือ การจัดตั้งรัฐอิสลาม แต่ทั้งสององค์กรก็ต่างกันในวิธีการบรรลุเป้าหมาย al-Qaida เน้นยุทธศาสตร์การโจมตีเป้าหมายของศัตรูในระดับโลก คือ สหรัฐและตะวันตก แต่ ISIS เน้นโจมตีเป้าหมายทุกรูปแบบ โดยเฉพาะเป้าหมายทางศาสนา ที่อยู่ใกล้ตัว
      • การปะทะกันทางอารยธรรม: แนวโน้มการก่อการร้ายในครั้งนี้ ชี้ให้เห็นแนวโน้มการปะทะกันทางอารยธรรมที่ชัดเจนขึ้น คือ ความขัดแย้งหลักของโลกกำลังจะเป็นความขัดแย้งทางศาสนา ในช่วงที่ผ่านมา เหตุการณ์การก่อการร้ายส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับการโจมตีโดยมีเหตุผลทางศาสนาเป็นหลัก อาทิ การฆ่าหมู่ชาวมุสลิมในมัสยิด 2 แห่งในนิวซีแลนด์ในเดือนมีนาคม การต่อต้านและการฆ่าหมู่ชาวยิวในฝรั่งเศสและ โบสถ์หรือสุเหร่าของชาวยิวในเมือง Pittsburg ในสหรัฐฯ การมุ่งเป้าโจมตีและสังหารชาวคริสต์โดยกลุ่ม ISIS ในหลายประเทศ ทั้งในอียิปต์ ซีเรียและอิรัก รวมทั้งความขัดแย้งระหว่างชาวพุทธสิงหลกับชาวมุสลิมในศรีลังกา และชาวพุทธในพม่ากับชาวโรฮิงญาด้วย

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ คอลัมน์กระบวนทรรศน์ วันที่ 9 พฤษภาคม 2562
ที่มารูปภาพ : https://www.weeklystandard.com/the-editors/trump-says-isis-is-defeated-hes-wrong

ISISศรีลังกา
Share this

The Author drprapat

ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

More Posts Like This One

terrorism-guy-640x480

ISIS ปี 2016

September 9, 2016
42-79239413

ISIS : ผลกระทบต่อโลก ผลกระทบต่อไทย

November 27, 2015
terrorism-guy-640x480

ISIS ในอาเซียน

May 10, 2016
0 Comments General

Leave A Comment Cancel reply

+ 45 = 47

 
รศ.ดร.ประภัสสร์ เทพชาตรี ศ.ดร.ประภัสสร์ เทพชาตรี ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้บรรยายพิเศษในสถาบันต่างๆ อาทิ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สถาบันพระปกเกล้า มีงานเขียน งานวิจัย ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และมีคอลัมน์ประจำ "กระบวนทรรศน์" ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์และคอลัมน์ประจำ "โลกทรรศน์" ในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
  • หนังสือ "ยุทศาสตร์สหรัฐฯต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้"

  • หนังสือ "ประชาคมเอเชียตะวันออก"

  • หนังสือ "ประชาคมอาเซียน"

  • หนังสือ "สถานการณ์โลกปี 2553 และแนวโน้มปี 2554"

  • ปกนโยบายต่างประเทศ-USA-แก้-2557-07-28-at-3.05.01-PM

1/4

Calendar

December 2019
M T W T F S S
« Nov    
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031  

Blog

drprapat-header-3

LINKS

คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ศึกษานโยบายระหว่างประเทศ (CIPS) ศูนย์ศึกษานโยบายระหว่างประเทศ (CIPS)

Tags

AEC al-Qaeda APEC ARF ASEAN Clinton Donald Trump EAS EU eurozone FTA G-20 IMF ISIS Obama the rise of China TPP UN UNSC WTO การก่อการร้าย การต่างประเทศของไทย การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ ความขัดแย้ง ความขัดแย้งทะเลจีนใต้ ความมั่นคง จีน ตะวันออกกลาง ประชาคมอาเซียน ประเทศมหาอำนาจ พม่า ยุทธศาสตร์สหรัฐฯ รัสเซีย วิกฤต Eurozone สงคราม สงครามการค้า สหรัฐอเมริกา สหรัฐฯ อัฟกานิสถาน อาเซียน อิหร่าน เกาหลีเหนือ เศรษฐกิจ เอเชีย ไทย