Master Plan on Indo-Pacific Connectivity: แผนแม่บทการเชื่อมโยงอินโด-แปซิฟิก

อาเซียนมีแผนแม่บทการเชื่อมโยงอาเซียน (Master Plan on ASEAN Connectivity : MPAC) อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน มีโครงการโครงสร้างพื้นฐานของประเทศมหาอำนาจต่าง ๆ อาทิ Belt and Road Initiative หรือ BRI ของจีน คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะเสนอให้มีการจัดทำแผนแม่บทการเชื่อมโยงอินโด-แปซิฟิก โดยมีรายละเอียดดังนี้
MPAC
แผนแม่บทการเชื่อมโยงอาเซียน Master Plan on ASEAN Connectivity ชื่อย่อว่า MPAC เป็นแผนเชื่อมโยงประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ด้วยการสร้าง ถนน ทางรถไฟ ท่าเรือ และโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เพื่อเชื่อมอาเซียนเข้าด้วยกัน โดยไทยเป็นผู้ริเริ่มผลักดัน MPAC 2010 และได้ขยายต่อยอดมาเป็น MPAC 2025 ในปัจจุบัน
สำหรับโครงการเชื่อมการคมนาคมขนส่งทางบกนั้น มีโครงการสร้างเครือข่ายทางหลวงอาเซียน และโครงการสร้างทางรถไฟสายคุนหมิง-สิงคโปร์ สำหรับการเชื่อมการคมนาคมขนส่งทางทะเลนั้น มีการกำหนดท่าเรือ 47 แห่ง เพื่อสร้างเป็นเครือข่ายการขนส่งทางทะเลของอาเซียน
สำหรับโครงการเร่งด่วนของ MPAC 2025 คือ การสร้างเครือข่ายทางหลวงอาเซียนให้เสร็จ โดยขยายทางหลวงอาเซียนไปเชื่อมกับจีนและอินเดีย สร้างทางรถไฟสายคุนหมิง-สิงคโปร์ให้เสร็จ สร้างถนนและทางรถไฟ ในเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันตก-ตะวันออก เชื่อมพม่า ไทย ลาว และเวียดนาม และระเบียงเศรษฐกิจใต้ ที่จะสร้างถนนและทางรถไฟ จากท่าเรือเมืองทวาย เข้ากาญจนบุรี ไปถึงกรุงพนมเปญ และนครโฮจิมินห์ซิตี้
BRI
อย่างไรก็ตาม ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2013 จีนได้พัฒนาโครงการโครงสร้างพื้นฐาน ที่มีชื่อว่า Belt and Road Initiative หรือ BRI ที่จะสร้างถนน ทางรถไฟ และท่าเรือเชื่อมจีนกับประเทศต่าง ๆ ทั่วภูมิภาคยูเรเชีย โดยจะเป็นโครงการลงทุนมหาศาลที่จะมีเม็ดเงินสูงถึง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ
สำหรับในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีนเน้นสร้างทางรถไฟคุนหมิง-สิงคโปร์ โดยจะมี 3 สาย สายที่ 1 คุนหมิง-เวียดนาม-ไทย-กัมพูชา-สิงคโปร์ สายที่ 2 คุนหมิง-พม่า-ไทย-สิงคโปร์ และสายที่ 3 คุนหมิง-ลาว-ไทย- สิงคโปร์
อย่างไรก็ตาม ประเทศที่เข้าร่วมโครงการ BRI กำลังประสบปัญหามากมาย อาทิ ข้อเรียกร้องของจีน กับดักหนี้ และการครอบงำทางเศรษฐกิจของจีน ดร.มหาธีร์ นายกรัฐมนตรีมาเลเชีย ได้ยกเลิกโครงการทางรถไฟสายตะวันออกที่จีนลงทุนสร้าง 20,000 ล้านเหรียญ ในขณะที่ไทยก็ประสบปัญหาในการเจรจารถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-หนองคายกับจีน ประเทศเล็ก ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ประสบปัญหาการทูตกับดับหนี้ หรือ debt trap diplomacy โดยเฉพาะ ลาว พม่า บังกลาเทศ ศรีลังกา และปากีสถาน
ญี่ปุ่น
ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ในอดีต เคยลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานมากที่สุดในภูมิภาค แต่ตอนนี้ถูกจีนแซงไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นพยายามกลับมาแข่งกับจีนอีกครั้ง โดยให้ความสนใจกับโครงการโครงสร้างพื้นฐานของอาเซียนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะโครงการระเบียงเศรษฐกิจตะวันตก-ตะวันออก และโครงการโครงสร้างพื้นฐานหลายโครงการในประเทศไทย ญี่ปุ่นได้ประกาศโครงการโครงสร้างพื้นฐานของตนที่มีชื่อว่า Partnership for High Quality Infrastructure โดยเน้นสร้างโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมอ่าวเบงกอลกับทะเลจีนใต้ และเชื่อมมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิก
อินเดีย
สำหรับอินเดียก็มีนโยบาย Act East Policy ที่เน้นการเชื่อมโยงระหว่างอาเซียนกับอินเดีย เพื่อแข่งกับอิทธิพลของจีน โดยได้มีการพัฒนาโครงการระเบียงเศรษฐกิจ แม่โขง-อินเดีย และระเบียงเศรษฐกิจ อินเดีย-พม่า-ไทย โดยจะเริ่มจากการสร้างถนนจากอินเดียผ่านพม่ามาไทย
สหรัฐ
สหรัฐเป็นประเทศมหาอำนาจอับดับหนึ่งของโลก แต่ก็ขยับตัวช้ามาก ในเรื่องโครงการโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาค แต่ด้วยการรุกคืบของโครงการ BRI ของจีน ทำให้สหรัฐอยู่เฉยอีกไม่ได้ รัฐบาล Trump ปีที่แล้วจึงได้ประกาศนโยบายโครงการโครงสร้างพื้นฐานเพื่อแข่งกับจีน โดยการประกาศยุทธศาสตร์ใหญ่ที่เรียกว่า Indo-Pacific เพื่อแข่งกับอิทธิพลของจีนในมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย ปีที่แล้ว สภาคองเกรสได้ออกกฎหมายใหม่ที่ชื่อว่า BUILD Act โดยจะมีการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ชื่อ International Development Finance Corporation ซึ่งจะมีเม็ดเงิน 60,000 ล้านเหรียญ สำหรับลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน ในภูมิภาค Indo-Pacific
นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายประเทศ ที่พยายามจะมีบทบาทมากขึ้น ในโครงการโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาค อาทิ เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย รัสเซีย และสหภาพยุโรป
MPIC
จากการวิเคราะห์ดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่า มีโครงการโครงสร้างพื้นฐานอยู่หลายโครงการ จึงมีความจำเป็นที่ต้องบูรณาการโครงการเหล่านี้ เพื่อให้เกิดการเกื้อกูลกัน และให้เกิดพลังร่วมกัน หรือ synergy หลีกเลี่ยงการทับซ้อนกับและการแข่งขันกัน รวมทั้งความจำเป็นที่จะต้องบูรณาการโครงการเหล่านี้ เพื่อถ่วงดุล BRI ไม่ให้ครอบงำโครงการโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคทั้งหมด
ผมจึงขอเสนอให้มีการจัดทำแผนแม่บทเชื่อมโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เหล่านี้ ด้วยการจัดทำแผนแม่บทการเชื่อมโยงอินโด-แปซิฟิก หรือ Master Plan on Indo-Pacific Connectivity เรียกย่อว่า MPIC โดย MPIC ควรจะมีองค์ประกอบที่สำคัญ ดังนี้
• MPIC ควรจะเป็นการขยายต่อยอดออกไปจาก MPAC โดย MPAC ควรจะเป็นแกนกลางของ MPIC (ดังรูป) เหตุผลสำคัญที่อาเซียนควรเป็นแกนกลางของแผนแม่บทโครงการโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคคือ
– ในแง่ภูมิศาสตร์ อาเซียนมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อยู่ตรงกลางระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย อาเซียนจึงเป็นศูนย์กลาง เป็นแกนกลางของอินโด-แปซิฟิก
– ในแง่ทางการทูต อาเซียนเป็นเวทีทางการทูตที่สำคัญที่สุดในภูมิภาค และเป็นสถาบันระหว่างประเทศที่สำคัญที่สุดในภูมิภาค สมควรที่จะเป็นตัวตั้งตัวตีและเป็นแกนกลางในการจัดทำแผนหรือสร้างความร่วมมือดังกล่าว
– ในแง่ภูมิรัฐศาสตร์ อาเซียนเป็นตัวแสดงในภูมิภาคที่เป็นกลาง ท่ามกลางความขัดแย้งระว่างมหาอำนาจ โดยเฉพาะระหว่างสหรัฐกับจีน อาเซียนจึงเป็นตัวแสดงที่ ทุกฝ่ายยอมรับได้ ที่จะให้เป็นแกนกลางในการจัดทำแผนแม่บทดังกล่าว
– ความร่วมมือในโครงการโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาค เป็นความร่วมมือในระดับพหุ ภาคีที่ต้องอาศัยกลไกพหุภาคี ซึ่งอาเซียนก็เป็นเวทีพหุภาคีที่สำคัญที่สุดในภูมิภาค
– แผนแม่บทการเชื่อมโยงอินโด-แปซิฟิกของอาเซียน จะมีลักษณะ inclusive คือ จะมีประเทศทุกประเทศเข้าร่วม โดยไม่กีดกันประเทศใดประเทศหนึ่ง
– อาเซียนมีข้อได้เปรียบในแง่ที่อาเซียนมีโครงการโครงสร้างพื้นฐานอยู่พร้อมแล้วภายใต้ MPAC ที่จะเป็นพื้นฐานต่อยอดออกไปเป็น MPIC
• จะต้องมียุทธศาสตร์การเชื่อมโยงระว่าง MPAC กับ BRI ทั้งด้านการเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งทางบก และทางทะเล โดยควรจะมีการจัดการเจรจาระหว่างอาเซียนกับจีนในเรื่อง BRI โดยเน้นการเจรจาที่มีลักษณะ win-win และมีดุลยภาพระหว่างผลประโยชน์ที่จะได้รับ กับการหลีกเลี่ยงการครอบงำทางเศรษฐกิจของจีน และหลีกเลี่ยง debt trap diplomacy และเจรจาจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน อาเซียน-จีน หรือ กองทุน BRI-ASEAN Fund
• จะต้องมีการจัดทำยุทธศาสตร์เชื่อม MPAC กับโครงการโครงสร้างพื้นฐานของมหาอำนาจอื่น ๆ โดยเฉพาะกับญี่ปุ่น อินเดีย สหรัฐ ออสเตรเลียและเกาหลีใต้
• MPIC จะต้องครอบคลุมแผนการเชื่อมโยง ทั้งด้านการคมนาคมขนส่ง ด้าน digital connectivity ด้านพลังงาน และด้านโลจิสติกส์
• สุดท้ายคือ แผนการระดมทุนของ MPIC ซึ่งก็อาจจะมีการจัดตั้ง MPIC Fund หรือ Indo-Pacific Infrastructure Fund และระดมเงินทุนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชน องค์การระหว่างประเทศ สถาบันการเงินระหว่างประเทศ อาทิ ธนาคารโลก IMF ADB และ AIIB เป็นต้น
กล่าวโดยสรุป แผนแม่บทการเชื่อมโยงอินโด-แปซิฟิก หรือ MPIC จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ในฐานะประธานอาเซียนในปีนี้ ที่จะตอกย้ำความสำคัญของไทย ในการเป็น hub หรือ การเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงอาเซียน และการเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกด้วย
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ คอลัมน์กระบวนทัศน์ ฉบับวันที่ 28 มีนาคม 2562
ที่มารูปภาพ : https://www.pressreader.com/malaysia/new-straits-times/20181011/281831464689878