One Belt One Road (OBOR) : Grand Strategy ของจีน

Grand Strategy ของจีนในขณะนี้คือยุทธศาสตร์ One Belt One Road (OBOR) ซึ่งจะเป็นเส้นทางสายไหมทั้งทางบกและทางทะเล แต่ทางบกจะมี 3 เส้นทาง เส้นทางที่ 1 เชื่อม จีน เอเชียกลาง รัสเซีย และยุโรป เส้นทางที่ 2 เชื่อม จีน อ่าวเปอร์เชีย และทะเลเมดิเตอเรเนียน ผ่านทางเอเชียกลางและตะวันออกกลาง และเส้นทางที่ 3 เชื่อมจีน กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ ส่วนเส้นทางสายไหม ทางทะเลนั้น จะเชื่อมจีนกับยุโรป ทางทะเลผ่านทางทะเลจีนใต้ และมหาสมุทรอินเดีย
คอลัมน์กระบวนทรรศในวันนี้ จะวิเคราะห์ที่มาที่ไปของ OBOR กลไก อุปสรรค และผลกระทบต่ออาเซียนและต่อไทย ดังนี้
เหตุผล
เหตุผลหรือวัตถุประสงค์ของจีนในการผลักดันยุทธศาสตร์ OBOR
เหตุผลประการที่ 1 คือเรื่องของการที่จีนผงาดขึ้นมา The rise of China ทำให้จีนต้องการขยายอิทธิพล และปฏิสัมพันธ์กับประเทศต่างๆทั่วโลก จีนมองเรื่อง infrastructure เส้นทางคมนาคมเชื่อมจีนกับทั้งโลก ว่าสำคัญมาก
เหตุผลประการที่ 2 คือในแง่ภูมิรัฐศาสตร์ การผงาดขึ้นมาของจีนเป็นภัยคุกคาม ทำให้การครองความเป็นเจ้าของสหรัฐสั่นคลอน ทำให้สหรัฐกังวลมากว่า จีนจะครอบงำภูมิภาค ดังนั้น อเมริการวมทั้งประเทศต่างๆ ในภูมิภาค เช่น ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย ก็กังวลต่อการผงาดขึ้นมาของจีน ทำให้ประเทศเหล่านี้เป็นพันธมิตรกับอเมริกา ในการสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีน และปิดล้อมจีน
จีนเชื่อว่าสหรัฐฯกำลังปิดล้อมจีน ยุทธศาสตร์ของจีนคือ จะต้องไม่ให้สหรัฐปิดล้อมจีนสำเร็จ OBORจะช่วยได้มาก ในการตีฝ่าวงล้อมการปิดล้อมจีนของสหรัฐออกมา เพราะถ้าสหรัฐปิดล้อมจีนทางด้านตะวันออก จีนก็จะมุ่งตะวันตก มุ่งใต้ เข้าสู่อาเซียน เข้าสู่เอเชียกลาง และตะวันออกกลาง เข้าสู่ยุโรป โดยเฉพาะทางใต้และตะวันตก อเมริกาน่าจะปิดล้อมลำบาก น่าจะ contain จีนลำบาก
กลไก
จีนจะมีกลไกผลักดันให้ OBOR ให้ประสบผลสำเร็จอย่างไร
จีนมีแผนเยอะมาก ทั้งเรื่องการตั้ง AIIB หรือ Asian Infrastructure Investment Bank ขึ้นมา เพื่อจะช่วยเป็นกลไกด้านการเงิน สนับสนุนการสร้างเส้นทางต่างๆ
นอกจากนี้ จีนผลักดัน OBOR ผ่านทางกลไกพหุภาคี จีนเป็นตัวตั้งตัวตี เป็นหัวเรือใหญ่ ในการจัดตั้งSCO หรือ Shanghai Cooperation Organization สร้างความสัมพันธ์กับประเทศเอเชียกลาง และรัสเซีย มีกลุ่ม BRICS ที่เชื่อมกับอินเดียและรัสเซีย และจีนยังผลักดัน OBOR ผ่านทางอาเซียนด้วย
สำหรับช่องทางทวิภาคี จีนก็เดินสายเต็มไปหมด กระชับความสัมพันธ์กับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียกลาง และตะวันออกกลาง
อุปสรรค
ทีนี้ก็มาถึงคำถามว่า OBOR จะประสบความสำเร็จหรือไม่
ผมคิดว่าไม่ใช่เรื่องง่าย OBOR เป็น grand strategy ที่จีนไม่เคยทำมาก่อน จีนไม่เคยคิดทำอะไรที่ใหญ่ขนาดนี้มาก่อน เป็น strategy ที่ยิ่งใหญ่อลังการมาก แต่ก็ยากมาก ที่จะทำให้ประสบความสำเร็จตามที่จีนตั้งเป้าไว้
อุปสรรคใหญ่คือ ประเทศต่างๆ ในภูมิภาค ส่วนใหญ่แบ่งรับแบ่งสู้กับจีนทั้งนั้น คือไม่ได้เต็ม 100 กับจีน ถึงแม้ในทางการทูต จะพูดภาษาสวยหรูกับจีน ต้องการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับจีน ต้องการมีปฏิสัมพันธ์กับจีน สนับสนุนโครงการต่างๆเหล่านี้ แต่ลึกๆ แล้ว ประเทศต่างๆ เหล่านี้ยังหวาดระแวงจีน จีนเองก็ทำตัวคลุมเครือ ทำให้ประเทศต่างๆ ไม่ไว้ใจจีน ซึ่งเมื่อไปเทียบกับประเทศมหาอำนาจอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐ ประเทศอื่นๆ จะสบายใจกว่า เมื่อคบกับญี่ปุ่น คบกับสหรัฐ มากกว่าคบกับจีน โดยเฉพาะความวางใจ อย่างสหรัฐ ก็คิดว่าสหรัฐไม่มีอะไร เป็นเจ้าครองโลกมา 40-50 ปี คุ้นกับอเมริกาในการครองโลก ญี่ปุ่นเองที่ผ่านมาก็ดูไม่มีอะไร แต่กับจีน ไม่รู้ว่าจีนคิดอะไร และในอีก 10-20 ปีข้างหน้า เมื่อจีนกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกแล้ว จีนจะต้องการอะไร จีนอยากจะครอบงำภูมิภาคหรือไม่ จีนอยากจะเป็น hegemon หรือไม่ จีนอยากจะ ครอบงำภูมิภาคหรือไม่ ไม่มีใครสามารถฟันธงได้ แม้ว่าจีนจะพูดมาตลอด 10 -20 ปี ว่า จีนจะผงาดขึ้นมาอย่างสันติ rise peacefully แต่ก็ไม่มีคนเชื่อ
นี่คือปัญหาใหญ่ของจีน บวกกับพฤติกรรมของจีนที่ผ่านมา จีนมีพฤติกรรมที่ก้าวร้าวมากขึ้น ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและทางด้านการทหาร ยิ่งทำให้ประเทศต่างๆ กลัวจีนขึ้นไปใหญ่
จีนเริ่มมีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น เติ้งเสี่ยวผิงเคยพูดว่า ในช่วงที่เรายังไม่มีพลัง เราก็ low profile ไว้ก่อน ทำตัวเงียบๆ ไว้ก่อน อย่าไปมีเรื่องกับใคร รอวันที่เมื่อเราใหญ่ขึ้นมา แล้วเราค่อยเรียกร้องสิทธิของเรา ดังนั้น ที่ผ่านมา จีนก็พยายามที่จะ low profile แต่มาถึงวันนี้ ผมมองว่า ผู้นำจีนเริ่มคิดแล้วว่า วันที่เติ้งเสี่ยวผิงบอกไว้นั้น มาถึงแล้ว วันที่จีนใหญ่ขึ้นมาแล้วจีนจะต้องทุบโต๊ะ ประกาศออกมาว่า “นี่มันของข้า” ใครอย่ามายุ่ง จีนถูกย่ำยีถูกลบหลู่มานาน ถึงเวลาแล้ว ที่จีนจะต้องลุกขึ้นมากอบกู้ศักดิ์ศรีของจีน นี่เป็นความคิดของจีน และคนจีนก็คิดอย่างนี้เยอะมาก
ในกรณีทะเลจีนใต้ จีนเริ่มทุบโต๊ะและบอกว่า ตรงนี้เป็นของจีน จีนจะทำอะไรก็ได้ จีนจะถมทะเลทำเกาะก็เป็นสิทธิของจีน เป็นอำนาจอธิปไตยของจีน ที่ผ่านมา จีนยอมมาโดยตลอด แต่ตอนนี้จีนจะไม่ยอมแล้ว แต่สิ่งที่จีนทำ ก็ยิ่งทำให้ประเทศเพื่อนบ้านกลัวจีนกันไปใหญ่ และนี่คืออุปสรรคสำคัญยิ่งต่อยุทธศาสตร์ OBOR ของจีน
ภาพลักษณ์ของจีนในระยะหลังๆ เป็น native image มากกว่า positive image
ผมขอเสริมว่า ไม่ใช่มีแต่เรื่องทะเลจีนใต้ เรื่องความมั่นคง ที่จีนมีภาพลักษณ์ในเชิงลบ แต่ในเรื่องเศรษฐกิจ จีนก็มีภาพลักษณ์ในเชิงลบมากขึ้นด้วย จีนรุกหนักทางด้านเศรษฐกิจ ในกรณีของพม่า ลาว กัมพูชา ประเทศเหล่านี้พึ่งพาจีน 100% ทั้งการค้า การลงทุน ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ ทุกอย่าง จีนช่วยหมด ประเทศเหล่านี้จึงไม่มีอำนาจต่อรองกับจีนเลย เวลาเจรจากับจีน ก็ต้องยอมจีนทุกอย่าง จีนคงจะเคยชินกับการที่ประเทศเล็กๆ เหล่านี้ยอมจีนทุกอย่าง จีนจะขออะไรต้องได้หมด ประเทศเหล่านี้เริ่มรู้สึกแล้วว่า การพึ่งพาจีนมากเกินไป อาจจะไม่เป็นผลดี จีน aggressive มากขึ้นเรื่อยๆ เรื่องการเจรจาสร้างทางรถไฟระหว่างไทยกับจีนก็มีปัญหา ผมเดาว่า จีนคงจะคิดว่าไทยเหมือนพม่า ลาว กัมพูชา จะบีบเราทุกอย่าง จะเอาทุกอย่าง แต่ไทยคงคิดว่าเราไม่ไหว ขอแบบนี้เราให้ไม่ได้ ก็เลยกลายเป็นการเจรจาติดขัด นี่เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า ประเทศต่างๆเริ่มกลัวว่า ถ้าไปอะไรกับจีนมากเกินไป จีนจะครอบงำทางเศรษฐกิจ ผมคิดว่าไทยก็กลัวเหมือนกัน
นอกจากนี้ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จีนจะตัดเส้นทางเข้าไปในเอเชียกลาง เข้าไปในเอเชียใต้ จากจีนผ่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปเอเชียใต้ ต้องผ่านอินเดีย ซึ่งอินเดียคงไม่เอาแน่กับจีน ตอนนี้อินเดียหวาดระแวงมากเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ Maritime Silk Road ของจีน ผ่านจากทะเลจีนใต้มามหาสมุทรอินเดีย แต่อินเดียมองว่ามหาสมุทรอินเดียเป็นของเขา อินเดียต้องเป็นพี่ใหญ่ต้องคุมมหาสมุทรอินเดีย แต่ Maritime Silk Road เป็นเกมส์ของจีนที่จะเข้ามามีอิทธิพลในมหาสมุทรอินเดีย เพื่อคุมเส้นทางการคมนาคมขนส่งทางทะเล ซึ่งจะไปขัดแย้งกับอินเดียอย่างหนัก
อาเซียน
จีนต้องการอะไรจากอาเซียนและไทย
อาเซียนเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ใหญ่ OBOR เป็นเส้นหนึ่งที่จีนต้องการจะเชื่อมจีนตอนใต้กับอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เส้นทางการคมนาคมขนส่งจากคุนหมิงไปสิงคโปร์ หรือหนานหนิงไปสิงคโปร์ ที่จีนสนใจจริงๆ คือ North – South Economic เชื่อมจีนตอนใต้กับอาเซียน
จีนตั้งเป้าไว้แล้วว่า จะใช้คุนหมิงกับหนานหนิงเป็นประตูสู่อาเซียน เส้นทางรถยนต์ก็มีแล้ว จากคุนหมิงผ่านไทยเข้ามาทางแม่สายลงไปถึงสิงคโปร์ ที่ขาดอยู่คือเส้นทางรถไฟ ในตอนแรกมีแผนเส้นทางรถไฟ 2 สาย จากคุนหมิงเข้าเวียดนามลงมาถึงโฮจิมินห์ซิตี้ เข้ากัมพูชาผ่านพนมเปญเข้าไทยและลงไปถึงสิงคโปร์ นี่คือเส้นแรกที่คิดไว้ว่าจะทำ
ส่วนเส้นที่สองคือ เส้นจากคุนหมิงเข้าทางพม่า ผ่านมาทางด่านเจดีย์สามองค์เข้ากาญจนบุรีลงสิงคโปร์
แต่ 2 เส้นนี้ติดขัดหมดเพราะ ขาดตรงเส้นเวียดนามกับกัมพูชา และระหว่างกัมพูชากับไทยก็ขาด ส่วนเส้นพม่า ก็ยังไม่ได้เริ่มสร้างเส้นทางรถไฟจากจีนเข้าพม่า แล้วก็มาขาดตรงเส้นพม่ากับไทยตรงด่านเจดีย์สามองค์
ล่าสุด จีนมองว่าสองเส้นนี้มันอ้อม เขาต้องการเส้นที่ตรงสั้นที่สุดจากคุนหมิงมาสิงคโปร์ ซึ่งเส้นที่ตรงที่สุด คือจากคุนหมิง-เวียงจันทน์ เวียงจันทน์-กรุงเทพฯ ก็เลยเกิดเส้นที่ 3 ขึ้น โดยมีแผนการสร้างทางรถไฟความเร็วสูง รางคู่ จากคุนหมิงมาเวียงจันทน์ ข้ามมาหนองคาย กรุงเทพ มาบตาพุด สิงคโปร์
ไทย
เป็นจังหวะพอดีที่ไทยซึ่ง มีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อยู่ตรงกลางอาเซียน อาเซียนมี 10 ประเทศ แต่มี 7 ประเทศที่เชื่อมกันทางบกได้ คือ พม่า ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ โดยมีไทยเป็นศูนย์กลาง ไทยคือสี่แยกอาเซียน เพราะทุกเส้นทางต้องผ่านไทยหมด ไม่ว่าจะเป็น East-West North-South Economic Corridor
ไทยได้เปรียบมหาศาลจากการมีที่ตั้งอยู่ตรงกลางอาเซียน โดยเฉพาะการเป็นศูนย์กลาง เป็น hub ทางด้านโลจิสติกส์ การคมนาคมขนส่ง และอื่นๆ ที่จะตามมาอีกมากมาย เมื่อเราเป็นศูนย์กลางทางภูมิศาสตร์ ก็เหมือนกับเราเป็นทำเลทอง ไทยจะกลายเป็น hub ทางด้านโลจิสติกส์ เป็น hub ทางด้านการท่องเที่ยว เป็น hub ทางด้านการค้า
พอดีจีนพยายามจะสร้างทางรถไฟเส้นที่ 3 ขึ้นมา ไทยต้องการอยู่แล้ว ก็เลยไปเจรจากับจีนเรื่องการสร้างทางรถไฟรางคู่ความเร็วสูง จากหนองคายมากรุงเทพ อันนี้ในแง่ของไทย
ส่วนในแง่ของจีน ก็ทำนองเดียวกัน จีนเห็นว่า ไม่ว่าจะลากเส้นไหน ต้องผ่านไทยทั้งหมด ไทยคือหัวใจในการเชื่อมคุนหมิงกับสิงคโปร์
อาเซียนมี Master Plan on ASEAN Connectivity อยู่แล้ว ซึ่งไทยเป็นคนริเริ่มผลักดัน เพราะเรารู้ว่า Master Plan on ASEAN Connectivity จะทำให้ไทยได้ประโยชน์ จากการที่เรามี Master Plan on ASEAN Connectivity และจีนมี OBOR เลยเป็น 2 อันมาบรรจบกัน อาเซียนต้องการ ASEAN Connectivity จีนต้องการ China-ASEAN Connectivity
อย่างไรก็ตาม ก็มีอุปสรรคต่อ OBOR ของจีนในอาเซียน คือมหาอำนาจอื่นๆ เห็น OBOR แล้วก็กลัว ไม่สบายใจที่เห็นจีนจะมาสร้างอะไรเต็มไปหมด จะมาครอบงำอาเซียน ฉะนั้น ยุทธศาสตร์ของสหรัฐ ชัดเจนว่า ต้องการเข้ามาแข่งกับจีนในอาเซียน สหรัฐจึงเข้ามาจีบอาเซียนเต็มที่ เพียงแต่อเมริกาอาจจะไม่มีแรงพอ ไม่มีเงินพอที่จะมาลงทุนในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน อเมริกาจะเน้นทางด้านการทหาร
แต่อเมริกาก็มีพันธมิตรสำคัญที่จะมาแข่งกับจีนในเรื่องนี้คือ ญี่ปุ่น ซึ่งญี่ปุ่น แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า ต้องการเข้ามาแข่งกับจีนในเรื่องนี้ ไทยก็ต้องการให้ญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนอยู่แล้ว จึงเจรจากับญี่ปุ่นไปแล้ว ให้ญี่ปุ่นมาลงทุนสร้างถนน สร้างทางรถไฟ ใน East-West Economic Corridor อีกเส้นหนึ่งที่ญี่ปุ่นสนใจมากคือ เส้นทวาย หรือ Southern Economic Corridor โดยจะเข้าไปพัฒนาทวาย ให้เป็นท่าเรือน้ำลึก นิคมอุตสาหกรรม สร้างถนน สร้างทางรถไฟ จากทวายเข้ากาญจนบุรี กรุงเทพ มาบตาพุด และจะสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-เชียงใหม่อีกด้วย นี่แสดงให้เห็นว่า สิ่งที่จีนจะต้องประสบคือ การที่มหาอำนาจอื่นๆ จะเข้ามาแข่งกับจีนในเรื่องนี้ และจะไม่ยอมให้จีนผูกขาดการสร้างความเชื่อมโยงกับอาเซียนอย่างแน่นอน
สำหรับไทยแล้วในระยะยาว จะมีปัญหาการครอบงำทางเศรษฐกิจของจีน จะเป็น long term issue จะกลายเป็น dilemma แม้ว่าตอนนี้ trend เราจะเอียงเข้าหาจีนมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะ ประเทศคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทยคือจีน นักท่องเที่ยวมากที่สุดคือจีน ต่อไปการลงทุนอันดับหนึ่งจะมาจากจีน dilemma คือเราต้องการผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากจีน แต่ในขณะเดียวกัน เราก็กลัวว่า จีนจะครอบงำเศรษฐกิจเรา ซึ่งไทยต้องหาจุดสมดุล ดุลยภาพ โดยขณะที่เราปฏิสัมพันธ์กับจีน แต่เราก็ต้องถ่วงดุลจีน โดยดึงเอา ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลี ออสเตรเลีย สหรัฐ รัสเซีย และอาเซียนมาถ่วงดุลจีน
กล่าวโดยสรุป ในแง่หนึ่ง OBOR ก็เป็นประโยชน์ต่อไทยเรา เราจะต้องร่วมมือกับจีนเต็มที่ เพราะจีนจะทำให้ไทยกลายเป็น hub ของประชาคมอาเซียน แต่ในขณะเดียวกัน OBOR ก็เป็นดาบสองคม เพราะจีนอาจจะเข้ามาครอบงำเศรษฐกิจของไทยมากเกินไป ในที่สุดแล้ว ไทยต้องระมัดระวัง ต้องแบ่งรับแบ่งสู้ ต้องไม่ไปพึ่งจีนประเทศเดียว และจะต้องถ่วงดุลจีนด้วยการปฎิสัมพันธ์กับมหาอำนาจอื่นๆรวมทั้งอาเซียนด้วย